ยวซอกซอนตะลอนไป (15 พฤศจิกายน 2563)
เทศกาลดิวาลี(ตอน 1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ตามประเพณีนิยมของชาวฮินดูระบุว่า หลังจาก “เทศกาลนวราตรี” จบลงไปแล้ว 20 วัน ก็จะถึงเทศกาลที่สำคัญมากที่สุดอีกเทศกาลหนึ่งของชาวฮินดู เรียกว่า “เทศกาลดิวาลี”
เทศกาล ดิวาลี จะเฉลิมฉลองกันนาน 5 วัน โดนจะเริ่มต้นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ตามปฎิทินสากล แต่วันที่ถือว่า สำคัญที่สุดก็คือ วันที่ 3 หรือ วันตรงกลางของเทศกาล ซึ่งจะตรงกับวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563
ตามปฎิทินปัญจางของฮินดูระบุว่า เทศกาลนวราตรี ที่เพิ่งจะพ้นไปจะเริ่มต้นจากวันพระจันทร์ดับ หรือ วันพระจันทร์เกิดใหม่ หรือ แรม 15 ค่ำ เช่นเดียวกันกับเทศกาลดิวาลี ที่วันสำคัญที่สุดจะตกอยู่ที่วันแรม 15 เช่นกัน
นับจากวันจันทร์ดับของนวราตรี ไปอีก 15 วัน ก็จะเป็นวันจันทร์เพ็ญ หรือ ขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันลอยกระทงของไทย ซึ่งปีนี้จะตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม 2563
เมื่อนับจากวันลอยกระทงไปอีก 15 วัน ก็จะเป็นวันจันทร์ดับ ซึ่งก็คือวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 คือวันนี้ จะตรงกับ “วันดิวาลี” หรือ วันตรงกลางของ “เทศกาลดิวารี”
จะเห็นว่า แนวคิดของศาสนาฮินดูจะผูกวันสำคัญของเทศกาลไว้กับวันพระจันทร์ดับ ในขณะที่แนวคิดของศาสนาพุทธในไทย จะผูกวันสำคัญกับวันจันทร์เพ็ญ
ภาพพจน์ของเทศกาลนวราตรี อาจจะค่อนข้างโหดสักหน่อย เพราะมีเรื่องราวของการประหัตประหารอยู่เบื้องหลัง แม้ว่าจะเป็นการประหัตประหารอสูร หรือ การสังหารความชั่ว ทำลายความมืด ก็ตาม
แต่เทศกาล ดิวาลี จะตรงกันข้าม กล่าวคือเป็นเทศกาลแห่งความสุข การพบปะสังสรรกับเพื่อนฝูง การรวมตัวกันของสมาชิกในครอบครัว ความรัก ความสมัครสมาน ความชื่นชมยินดี และ ของหวาน
เทศกาลนี้จะเน้นที่การบูชาพระแม่ลักษมี และ พระแม่มหากาลี เป็นหลัก
นอกจากนี้ ยังเป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองในโอกาสที่ พระราม นางสีดาพระมเหสี พระลักษณ์ และ หนุมาน เดินทางกลับเข้าเมืองอโยธยา หลังจากที่ต้องเนรเทศตัวเองออกจากเมืองไปเป็นเวลานาน 14 ปี เป็นการกลับเข้าเมืองอโยธยาหลังจากสามารถเอาชนะทศกัณฐ์ได้
ขณะเดียวกัน เทศกาลนวราตรี ก็เป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองชัยชนะของพระรามที่มีต่อทศกัณฐ์ด้วยเช่นกัน
บางบันทึกยังบอกว่า ดิวาลี เป็นการเฉลิมฉลองของ พี่น้องตระกูลปาณฑพ ในมหากาพย์ มหาภารตะ ที่เดินทางกลับเข้าเมืองหลังจากที่ต้องถูกเนรเทศออกไปเป็นเวลา 12 ปี
แต่ไม่ว่าจะเฉลิมฉลองเรื่องอะไรก็ตาม ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ชุ่มชื่นหัวใจทั้งนั้น
เทศกาลดิวาลี จะเฉลิมฉลองติดต่อกัน 5 วัน แต่ละวันมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป และ มีนัยยะในการบูชาที่แตกต่างกันด้วย ทั้ง 5 วันนี้ จะเป็นเสมือนโยงใย หรือ เครือข่าย การเฉลิมฉลองที่ต่อเนื่องกัน
ทั้ง 5 วันของเทศกาล ดิวาลี ประกอบด้วย วันดานเทอราส(DHANTERAS) เป็นวันแรก , นะระกะ จตุรดาสี(NARAKA CHATURDASI) เป็นวันที่ 2 ส่วนวันที่ 3 จะเป็นวันที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นหัวใจของดิวาลี เรียกว่า วันดิวาลี หรือ วันลักษมี บูชา(LAKSHMI PUJA) , วันที่ 4 เรียกว่า ดิวาลี พัดวา (DIWALI PADWA) และ วันที่ 5 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย เรียกว่า ไบ ดุจ(BHAI DOOJ)
วันตรงกลาง หรือ วันลักษมี บูชา จะตรงกับวันแรม 15 ค่ำพอดี ดังนั้น วันดานเทอราส ก็จะเป็นวันแรม 13 ค่ำ และ วัน ดิวาลี พัดวา ก็จะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ
ดิวาลี เป็นเทศกาลที่เก่าแก่มาก มีบันทึกที่กล่าวถึงชื่อ “เทศกาลดิวาลี” ไว้ในคัมภีร์พัดมา ปุราณะ(PADMA PURANA) และ คัมภีร์ สกานดา ปุราณะ(SKANDA PURANA) คัมภีร์ทั้งสองเขียนขึ้นในช่วงประมาณ ปีค.ศ. 500
นั่นก็หมายความว่า มีการเฉลิมฉลอง เทศกาลดิวาลี มานานอย่างน้อย 1500 ปีแล้ว
ในวันที่พระราม เดินทางเข้าเมืองอโยธยา ชาวเมืองที่รอต้อนรับจะจุดตะเกียงดวงเล็กๆทำด้วยดินเผาที่เรียกว่า ดิยา ประดับประดาไปตามทางเดินที่พระรามจะเดินเข้ามา
ต่อมา จึงเรียกวันนี้ว่า ดีพปะวารี (DEEPAWALI) ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า แถวของตะเกียง ต่อมาภายหลัง คำนี้เพี้ยนไปกลายเป็นคำว่า ดิวาลี(DIWALI)
จนกลายเป็นเทศกาลแห่งตะเกียงไฟ จนทุกวันนี้
สัปดาห์หน้า ผมจะเล่าถึงรายละเอียดของการเฉลิมฉลองของแต่ละวันครับ