ซอกซอนตะลอนไป (1 พฤศจิกายน 2563)
เทศกาลนวราตรี(ตอน3)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ในบรรดา 9 อวตาร ของพระแม่ปาร์วาตี หรือ เรียกว่า พระแม่ทุรคา ก็ได้นั้น มีบทบาทที่แตกต่างกัน แต่ปางที่สำคัญที่สุดของพระแม่ทุรคา ก็คือ อวตารที่ 6 ที่เรียกว่า กัตตายานี(KATYAYANI)
ตำนานของเรื่องนี้เริ่มมาจาก มีอสูรตนหนึ่งได้บำเพ็ญเพียรตบะเพื่อถวายแด่พระศิวะเป็นเวลานานมาก จนพระศิวะ เห็นใจในความตั้งใจของอสูรตนนี้ จึงให้พรว่า จะไม่มีผู้ชายคนใดในโลกสามารถสังหารได้เลย
จากนั้นก็เป็นเรื่อง เมื่ออสูรตนนี้ เกิดฮึกเหิมออกอาละวาด ทำสงครามกับบรรดาเหล่าเทพเจ้าทั้งหลาย แม้กระทั่งกองทัพของเทพเจ้าที่มีพระอินทร์เป็นผู้นำก็ยังต้องพ่ายแพ้ให้แก่ตน ทำให้เกิดความบาดหมางกันขนานใหญ่ระหว่าง เทพกับอสูร
ที่ร้ายก็คือ ไม่มีเทพ(เพศชาย) องค์ใดสามารถปราบ หรือ สยบ อสูรร้ายตนนี้ได้เลย เนื่องจากพรของพระศิวะคุ้มครองเอาไว้
เรื่องไปถึงหูพระศิวะ พระองค์จึงต้องลงมาแก้ปัญหานี้
เพื่อปราบอสูรตนนี้ พระศิวะจำต้องส่งอวตารของพระแม่ปาร์วาตี มเหสี ในรูปของพระแม่ทุรคา(DURGA) ในปางของ กัตยายานี (KATYAYANI)ลงมาปราบ เหมือนเป็นการแก้ทางที่พระศิวะเคยให้พรไว้ว่า จะไม่มีเพศชายคนใดสังหารได้เลย
ตำนานบอกว่า พระแม่ กัตยายานี ถูกสร้างขึ้นมาจากพลังงานแห่งความโกรธของเทพเจ้าทั้งหลายมารวมกัน มีสามตา 18 แขน (บางตำราบอกว่า 8 แขน) มีแสงสว่างเปล่งประกายออกมาจากตัวราวกับพระอาทิตย์นับพันดวง ประทับบนหลังสิงโต
แค่นั้นยังไม่พอ บรรดาเทพเจ้าต่างก็รุมกันมาอวยพร หรือ ให้กำลังใจแก่พระแม่ กัตยายานี พระศิวะประทานตรีศูลให้ , พระวิษณุ ประทานจักรให้ , เทพวรุณ(VARUNA)ประทานสังข์ให้ , เทพอัคนี ประทานลูกธนูให้ , เทพวายุประทานคันศรให้ , สุริยเทพ ประทานซองใส่ลูกธนูให้ , พระอินทร์ ประทานสายฟ้าให้ , ท้าวกุเวร ประทานตะบองให้ , พระพรหม ประทานหม้อน้ำและลูกประคำให้ , เทพกาลา ประทาน ดาบและโลห์ให้ และ เทพวิศวกรรม ประทานขวานออกศึก และอาวุธอื่นๆ
ประมาณคลังแสงเคลื่อนที่เลยทีเดียว
แต่กระนั้น อสูรตนนี้มีก็เต็มไปด้วยเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว ซ้ำยังสามารถแปลงกายเป็นอะไรก็ได้ตามปรารถนา ทำให้ พระแม่กัตยายานี ต้องต่อสู้ด้วยความยากลำบากยิ่ง
สุดท้าย เมื่ออสูรแปลงร่างเป็นควายแล้วพุ่งเข้ามาทำร้าย พระแม่กัตยายานี แต่พระแม่ไหวทัน และจัดการสังหารอสูรร้ายตนนี้เสีย
อสูรร้ายในร่างของควาย มีชื่อเรียกว่า มหิชาสุรา (MAHISHASURA) ซึ่งเป็นคำผสมของคำว่า มหิชา(MAHISHA) หรือ มหิงสา ที่แปลว่า ควาย กับ คำว่า อสุรา(ASURA) ที่แปลว่า อสูร
รวมความได้ว่า อสูรควาย(BUFFALO DEMON)
ด้วยเหตุนี้ พระแม่ กัตยายานี จึงได้รับการขนานนามว่า มหิชาอสุรามาร์ดินี (MAHISHASURAMARDINI) แปลว่า ผู้สังหารอสูรควาย
การเฉลิมฉลองเทศกาล นวราตรีนอกจากจะเป็นการบูชาพระแม่ทุรคา เป็นหลักแล้ว ปัจจุบัน ยังได้เพิ่มการบูชาเทพเจ้าองค์อื่นๆเข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็น พระแม่ลักษมี , พระแม่ สรัสวาตี , พระพิฆเณศวร , คาติเกยะ และ พระราม
ด้วยเหตุที่อินเดียมีพื้นที่กว้างใหญ่มาก การเฉลิมฉลองเทศกาลนวราตรี ก็อาจจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ กล่าวคือ ส่วนใหญ่จะเฉลิมฉลองกันเป็นเวลา 10 วัน 9 คืน ตั้งแต่วันที่ 17 ไปจนถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2563 แต่พื้นที่ทางเหนือเช่น รัฐเบงกอลตะวันตก รัฐโอดิสสา รัฐพิหาร รัฐอัสสัม และ ประเทศเนปาล จะเฉลิมฉลองกัน เพียง 4 วัน 3 คืน ตั้งแต่วันที่ 23 ถึง 26 ตุลาคมเท่านั้น
และเรียกชื่อเทศกาลนี้ว่า เทศกาล ทุรคา บูชา แทนที่จะเรียกว่า นวราตรี
ว่ากันว่า สาเหตุที่บางรัฐทางเหนือเฉลิมฉลองด้วยวันที่น้อยกว่า เพราะลงทุนลงแรงในการตระเตรียมการฉลองอย่างหรูหรา อลังการ สุดๆ ซึ่งต้องใช้เงินทองจำนวนมาก ทำให้ต้องลดวันจัดงานลงมาให้สั้นลง
สนใจเดินทางเจาะลึกอินเดียหลังจากหมดโควิด 19 แล้ว เชิญติดต่อได้ครับ
สัปดาห์หน้า ผมจะเล่าเรื่องเทศกาล นวราตรี ในส่วนของประเพณีของชาวบ้านกันครับ