ซอกซอนตะลอนไป (18 ตุลาคม 2563)
เทศกาลนวราตรี(ตอน1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
วันเสาร์ที่ 17 ตุลาคม 2563 (เมื่อวานนี้) เป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวฮินดูที่อาศัยอยู่ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย เพราะเป็นวันเริ่มต้นของ เทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเทศกาลหนึ่ง เรียกว่า เทศกาล นวราตรี แปลเป็นไทยว่า เทศกาล 9 ราตรี
ตามปฎิทินจันทรคติของฮินดูบอกว่า วันที่ 17 ตุลาคม 2563 เป็นวันพระจันทร์ดับ ต่อเนื่องเข้าสู่วันขึ้น 1 ค่ำ ซึ่งชาวฮินดูจะเรียกว่า วันพระจันทร์เกิดใหม่ หรือ NEW MOON DAY ถือเป็นวันมงคลที่เทศกาลสำคัญๆหลายๆเทศกาลจะเริ่มตันในวันนี้
รวมทั้ง เทศกาล นวราตรี
ตามคัมภีร์ปุราณะของฮินดูระบุว่า เทศกาล นวราตรีจะมีขึ้นปีละ 2 ครั้ง หรือ อาจจะมากถึง 4 ครั้งก็ได้ ใน 4 ฤดู อันประกอบด้วย
ชาราดา นวราตรี(SHARADA NAVARATRI) ชาราดา แปลว่า ฤดูใบไม่ร่วง(AUTUMN) จะอยู่ในเดือนอัศวิน ตามปฎิทินจันทรคติของฮินดู(LUNAR MONTH OF ASHVIN) (หลังฤดูมรสุม และ อยู่ในเดือนกันยายน หรือ ตุลาคม)
วสันตะ นวราตรี(VASANTA NAVARATRI) ตั้งชื่อตาม ฤดูวสันต์(VASANTA) ที่แปลว่า ฤดูใบไม้ผลิ(SPRING) จะเกิดขึ้นในเดือน ชัยตรา(CHAITRA) ตามปฎิทินจันทรคติของฮินดู ประมาณเดือนมีนาคม ถึง เมษายน
มักฮา นวราตรี(MAGHA NAVARATRI) เฉลิมฉลองกันในเดือน มักฮา(MAGHA) หรือ เดือน มกราคม ถึง กุมภาพันธ์ หรือ ปลายฤดูหนาว ถือว่าเป็นวันแรกของฤดูใบไม้ผลิอย่างเป็นทางการของศาสนาฮินดู
อัชชาดา นวราตรี(ASHADA NAVARATRI) เฉลิมฉลองกันในเดือน อัชชาดา(ASHADHA) หรือ เดือนมิถุนายน คร่อม เดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของฤดูมรสุม(MONSOON SEASON)
จะเห็นว่า นวราตรีทั้งสี่ จะเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตแบบเกษตรกรรมของชาวอินเดียโบราณ ที่ต้องฝากความอุดมสมบูรณ์ของชีวิตของปีนั้นๆกับผลผลิตทางการเกษตร
ในบรรดา 4 นวราตรีนี้ นวราตรีที่ได้รับนิยมเฉลิมฉลองกันก็คือ ชาราดา นวราตี กับ วสันตะ นวราตรี
แต่ในปัจจุบัน ที่นิยมเฉลิมฉลองกันมากที่สุดเพียงเทศกาลเดียวก็คือ เทศกาล ชาราดา นวราตรี ในเดือนกันยายน หรือ ตุลาคม นี้
ชาราดา นวราตรี จะฉลองกันในช่วงหลังฤดูมรสุม โดยกำหนดให้มีขึ้นในช่วงข้างขึ้นเริ่มตั้งแต่ขึ้นหนึ่งค่ำของเดือน อัศวิน (ตามชื่อของปฎิทินจันทรคติของฮินดู)เป็นต้นไป
สำหรับปีพ.ศ. 2563 นี้ เทศกาลนวราตรี จะเริ่มต้นในช่วงวันที่ 17 ตุลาคม ไปจนถึงวันที่ 26 ตุลาคม เป็นวันสุดท้าย
ชาวฮินดู ทั่วโลกจะเฉลิมฉลองเทศกาลดังกล่าวเป็นเวลา 10 วัน 9 คืน เป็นเทศกาลที่เฉลิมฉลองเพื่อบูชาต่อพระแม่ทุรคา หรือ บางครั้งก็มีคนเรียกว่า พระแม่กาลี แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้างในพระแม่ทั้งสององค์
เทศกาลนวราตรี จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะในสงครามที่ พระแม่ทุรคา สามารถปราบปรามเหล่าพวกอสูร หรือ มารร้าย และ ความชั่วร้ายลงได้ และ นำเอาธรรมะ และ แสงสว่าง กลับคืนสู่โลก
ตำนานหนึ่งบอกว่า พระแม่ทุรคา ก็คือ อวตารหนึ่งของ พระแม่ปาร์วาตี มเหสีของพระศิวะ และเชื่อกันว่า พระแม่ปาร์วาตี เป็นน้องสาวของพระวิษณุ และ เป็นน้องสาวของ เทพีแห่งแม่น้ำคงคา
พระแม่ปาร์วาตี ยังได้รับการเคารพว่าเป็นเทพีแห่งสงคราม คราใดที่จะต้องลงมาสยบความชั่วร้ายในโลกมนุษย์ พระแม่ปาร์วาตีก็จะอวตารเป็น พระแม่ทุรคา มาทำหน้าที่ที่โหดร้ายนี้
พระแม่ทุรคา จะประทับบนหลังสิงโต หรือ ไม่ก็เสือ มีแขนหลายแขน แต่ละแขนก็จะถืออาวุธที่แตกต่างกัน พระนามของพระแม่แปลว่า ไม่มีใครสามารถพิชิตได้
ตำนานเกี่ยวกับเทพเจ้าของฮินดูระบุว่า เทพเจ้าแต่ละองค์จะมีพระนามมากมายหลากหลาย อาทิเช่น พระนามของพระศิวะ ที่มีอย่างน้อยที่สุด 108 พระนาม เป็นต้น และ พระแม่ทุรคา ก็เช่นกัน
พระแม่ทุรคา มีพระนามมากมายถึง 108 พระนาม (หรืออาจจะมากกว่านั้น) แต่พระนามที่ได้รับการเลือกสรร และนำมาเรียกขานอยู่เสมอจะมีเพียง 9 พระนาม เรียกว่า นวทุรคา ซึ่งแต่ละพระนามจะมีความหมายที่แตกต่างกัน อันสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของชาวฮินดูที่เคารพกราบไหว้พระแม่ว่า มีความรู้สึกอย่างไรต่อพระแม่
และเป็นเหตุผล และ ที่มาของเทศกาล นวราตรีด้วย
สัปดาห์หน้า จะมาว่ากันต่อครับ
สวัสดี