คดีฟ้องหย่าสะเทือนบัลลังก์พรรคคองเกรส(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (4 ตุลาคม 2563)

คดีฟ้องหย่าสะเทือนบัลลังก์พรรคคองเกรส(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               คดีความฟ้องร้องระหว่าง ชาห์ บาโน กับ ข่าน ผู้สามีดำเนินต่อไปในศาลท้องถิ่นของรัฐมัธย ประเทศ  ซึ่งต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม ปีค.ศ. 1980  ศาลก็ได้ตัดสินให้ข่าน ต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูเธอเป็นเงิน 179.20 รูปี ต่อเดือน

               ข่านไม่ยอมรับคำตัดสิน   จึงฏีกาต่อศาลฏีกาท้องถิ่น (HIGH COURT)  ด้วยการอ้างการหย่าร้างแบบอิสลามเหมือนเดิมว่าหลังจากที่เขาทำ ทาลัค 3ครั้งแล้ว  เขาจะไม่ต้องรับผิดชอบอดีตภรรยาของเขาอีกต่อไป

               และย้ำว่า  เขาได้แต่งงานใหม่เป็นครั้งที่สอง ซึ่งได้รับอนุญาตตามกฎหมายอิสลามแล้ว


(คดีความหย่าร้างของ ชาห์ บาโน ที่กลายเป็นข่าวใหญ่ของอินเดีย – ภาพจากกูเกิ้ล)

               ต่อมาวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 1981   ผู้พิพากษาองค์คณะ 2 คน ประกอบด้วยผู้พิพากษาที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ 1 คน และ  ผู้พิพากษาที่ถือถือศาสนาฮินดูอีก 1 คน ขึ้นนั่งบัลลังก์และมีความเห็นว่า  กฎหมายมาตรา 125 วิธีพิจารณาความคดีอาญา  มีขอบเขตบังคับต่อประชาชนอินเดียทุกคน  และไม่เว้นชาวมุสลิม


(ชาห์ บาโน ซึ่งกลายเป็นที่รู้จักของชาวอินเดียทั้งประเทศในเวลาต่อมา – ภาพจากกูเกิ้ล)

               ซึ่งหมายความว่า  ข่าน ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายนี้ และ จะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดู 179.20 รูปีต่อเดือน

               ข่านไม่ยอมรับ  จึงนำเรื่องร้องต่อศาล เพื่อให้นำคดีของเขาเข้าพิจารณาด้วยผู้พิพากษาที่มีองค์คณะใหญ่กว่า  2 คน

               ถึงจุดนี้  เรื่องทำท่าว่าจะกลายเป็นไฟคุกรุ่นรอวันระเบิด  เพราะองค์กรทางศาสนาอิสลาม อย่างน้อย 2 องค์กร คือ  ALL INDIA MUSLIM PERSONAL LAW BOARD  กับ  JAMIAL ULEMA E HIND เริ่มเข้ามาแทรกแซงทางการพิจารณาคดีนี้

               แรงผลักดันดังกล่าว  ทำให้คดีความนี้ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาคดีขององค์คณะใหญ่ 5 ผู้พิพากษา   ซึ่งคงจะเน้นให้ผู้พิพากษาพิจารณาว่า   มีความขัดแย้งกันหรือไม่   ระหว่าง มาตรา 125 (THE SECTION 125) วิธีพิจารณาความอาญา  กับกฎหมายส่วนบุคคลของมุสลิม (THE MUSLIM PERSONAL LAW)  ในประเด็นที่ สามีชาวมุสลิมจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูแก่ภรรยาที่เขาได้หย่าร้างไปแล้ว  โดยที่เธอไม่สามารถจะดูแลตัวเองได้

               และเป็นการจ่ายค่าเลี้ยงดูตลอดไป  ไม่มีที่สิ้นสุด  ยกเว้นแต่  ฝ่ายหญิงจะแต่งงานใหม่อีกครั้งเท่านั้น

               ก่อนอื่น  ต้องทราบความแตกต่างของประเพณี และ กฎหมายการหย่าร้างของชายหญิงในอินเดียเสียก่อน   เพราะอินเดียเป็นประเทศที่มีคนส่วนใหญ่ของประเทศประมาณเกือบ 80 เปอร์เซนต์ เป็นชาวฮินดู  และมีประมาณ 14 เปอร์เซนต์เป็นชาวมุสลิม

               เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศที่บังคับใช้ด้วยกฎหมายสากล  เช่น กฎหมายในยุโรป  อเมริกา  หรือ แม้แต่ประเทศไทย


(ชาห์  บาโน กับลูกชาย – ภาพจากกูเกิ้ล)

               แต่ก็มีระเบียบประเพณีทางศาสนาหลายอย่างของชาวมุสลิม  ที่แตกต่างไปจากประเพณีของชาวฮินดู  เช่นเรื่องที่เป็นปัญหาในกรณีหย่าร้างของ ชาห์ บาโน และ  ข่าน

               กฎหมายศาสนาอิสลามระบุเกี่ยวกับเรื่องการฟ้องหย่าเอาไว้หลายเรื่อง  เช่น  การกล่าวคำว่า ฉันขอหย่าเธอ 3 ครั้ง ที่เรียกว่า  ทาลัค 3ครั้ง  และ  กฎในเรื่อง  อิดดาห์ (IDDAH)

               ประเด็น อิดดาห์ นี่เอง  ที่เป็นความขัดแย้งในการหย่าร้างของชายหญิงสองคนนี้

               อิดดาห์ ในความหมายของศาสนาอิลสามแปลว่า  ช่วงเวลาที่ต้องรอ  หมายถึงช่วงเวลาจำนวนหนึ่งที่ผู้หญิงที่สามีของเธอเสียชีวิต  หรือ  สามีหย่าร้าง จะต้องถูกจับตา  หรือ  พิจารณาเป็นพิเศษ  เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจใดๆในขั้นตอนต่อไป

               ช่วงเวลาที่ต้องรอ  จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละท้องถิ่นจะกำหนดขึ้น  ในกรณีสามีเสียชีวิต  ช่วงเวลาที่ “ต้องรอ” จะอยู่ที่ 4 เดือนตามปฎิทินจันทรคติ กับอีก 10 วัน    แต่โดยปกติ  ช่วงเวลาที่จะต้องรอจะอยู่ที่ประมาณ 3 เดือนเท่านั้น

               ทำไมจึงต้อง 3 เดือน


(คดีฟ้องหย่า ชาห์ บาโน ความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตของ ราจีฟ คานธี  ผิดพลาดอย่างไร – ภาพจากกูเกิ้ล)

               ในช่วงเวลา 3 เดือนหลังการตายของสามี หรือ การหย่าร้าง  หากภรรยาหม้ายเกิดตั้งท้องขึ้นมาในช่วง 3 เดือนนี้  สังคมก็จะได้รู้ว่า  ลูกที่อยู่ในท้องของเธอเป็นลูกของสามีเก่า  ว่ากันว่า  ที่ต้องกำหนดเวลา 3 เดือน เพื่อจัดการการไว้ทุกข์ และ ช่วงเวลาที่ฝ่ายหญิงจะสามารถแต่งงานใหม่ได้  เพื่อไม่ให้เธอถูกครหานินทา 

               หมายความว่า   ในช่วงเวลา 3 เดือนของการรอนี้  สามีจะต้องรับผิดชอบภรรยาที่เขาหย่าร้าง  และต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูเธอ

               แต่ทันทีที่เข้าสู่เดือนที่ 4  สามีของเธอก็จะหมดภาระผูกพันนี้ไปในทันที

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .