คดีฟ้องหย่าสะเทือนบัลลังก์พรรคคองเกรส(ตอน1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (27 กันยายน 2563)

คดีฟ้องหย่าสะเทือนบัลลังก์พรรคคองเกรส(ตอน1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               คดีชาห์ บาโน เป็นคดีความฟ้องร้องเพื่อเรียกค่าเลี้ยงดูของ สุภาพสตรีชาวมุสลิม นาม ชาห์ บาโบ ต่อสามีของเธอ โมฮัมหมัด อาห์เมด ข่าน นักกฎหมายที่มีชื่อเสียงของเมืองอินดอร์(INDORE)  ในรัฐมัธย ประเทศ(MADHYA PRADESH)

               เมืองอินดอร์ เป็นเมืองที่ถือว่ามีความเจริญพอสมควร  มีมหาวิทยาลัยของเมือง  ดังนั้น  อินดอร์จึงไม่ใช่บ้านป่าไกลปืนเที่ยง


(เมืองอินดอร์ ที่มีลูกศรชี้ – ภาพจาก กูเกิ้ล)

               แม้จะเป็นเพียงคดีฟ้องหย่าของสามีภรรยาธรรมดาๆสองคน   แต่ก็สร้างความสั่นสะเทือนต่อบัลลังก์ทางการเมืองของพรรคการเมืองใหญ่ในยุคนั้น คือ พรรค เนชั่นนัล คองเกรส ของ ตระกูล คานธี ได้อย่างไม่น่าเชื่อ  


(นางอินทิรา คานธี ผู้นำพรรค เนชันนัล คองเกรส ที่ทำให้พรรคคองเกรสแข็งแกร่งอย่างมาก)

               เรื่องเริ่มจาก ชาห์ บาโน แต่งงานกับสามีของเธอ  ชีวิตสมรสคงจะไปได้ด้วยดีจนทำให้ทั้งสองมีทายาทร่วมกัน  5 คน

               เวลาผ่านไป 43 ปี  ข่าน สามีของเธอก็แต่งงานกับสาวน้อยอีกคนหนึ่งที่สาวกว่าเธอมาก  ในฐานะภรรยาคนที่สองอย่างถูกต้องตามกฎหมายชาเรีย(SHARIA) หรือ กฎหมายศาสนาของชาวมุสลิม


(ชาห์ บาโน ไม่แน่ใจว่า  ภาพนี้ถ่ายตอนเธออายุเท่าไหร่ – ภาพจากกูเกิ้ล)

               ทั้งสามคนอาศัยอยู่ด้วยกัน

               ก่อนอื่น  ต้องเรียนว่า   ตามกฎหมายศาสนาของอิสลาม  อนุญาตให้ฝ่ายสามีสามารถมีภรรยาได้มากถึง 4 คนในเวลาเดียวกันได้  แต่จะต้องเลี้ยงดูภรรยาทั้งสี่คนให้เท่าเทียมกัน

               ซึ่งคำว่า “เท่าเทียมกัน” นี่เอง  ที่สร้างปัญหาในการตีความ แม้จนในปัจจุบันนี้ในหมู่ชาวมุสลิมด้วยกัน  

               จนกระทั่งวันหนึ่ง  ข่านขอหย่าจาก ชาห์ บาโน ซึ่งขณะนั้นเธออายุ 62 ปี  และให้เธอออกไปจากบ้าน พร้อมกับลูกๆอีก 5 คน  โดยมีข้อตกลงว่า  ข่านจะจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูให้ บาโน และลูกๆ เดือนละ 200 รูปี

               เมษายน ปีค.ศ. 1978  ข่านคงจะเสียดายเงิน ก็เลยหยุดจ่าย 200 รูปีค่าเลี้ยงดู  บาโนจึงฟ้องร้องต่อศาลท้องถิ่นของ เมืองอินดอร์ ภายใต้กฎหมาย มาตรา 125 ของ วิธีพิจารณาดคีความอาญา (THE CODE OF CRIMINAL PROCEDURE)  เพื่อให้ศาลบังคับให้สามีของเธอจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูเธอ และ ลูกๆต่อไป  

ศาลตัดสินให้ ข่าน จ่ายค่าเลี้ยงดูรายเดือนแก่เธอเดือนละ 500 รูปี

               กฎหมายที่ บาโน ฟ้องร้องต่อสามีของเธอ เป็นกฎหมายส่วนบุคคล ที่บังคับใช้กับคนอินเดียทั้งประเทศ  

               เดือนพฤศจิกายน ปีค.ศ. 1978  ข่าน คงจะโกรธอดีตภรรยาของเขาอย่างมาก  จึงได้ปฎิบัติการฟ้องหย่าแบบมุสลิมที่ภรรยาไม่สามารถโต้แย้งได้  เรียกว่า ทาลัคสามครั้ง   

ตามหลักการของกฎหมาย ชาเรีย ระบุว่า   สามีสามารถ “หย่า” ขาดจากภรรยาของเขาได้ เพียงแค่แจ้งกับภรรยาว่า  “ฉันขอหย่าเธอ” 3 ครั้ง

หรือ  หากเป็นในยุคปัจจุบันนี้   ก็สามารถเขียนข้อความแล้วส่งไปทางไลน์บอกว่า  “ฉันขอหย่าเธอ”  3 ครั้ง

การหย่าร้างก็เป็นอันสำเร็จเรียบร้อย ตามกฎหมายศาสนาอิสลาม   

จากนั้น  ข่านก็นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของศาลว่า   หลังจากที่เขาหย่าเธอแบบ ทาลัค แล้ว   บาโน จึงไม่ได้เป็นภรรยาของเขาอีกแล้ว  เธอจึงไม่อยู่ภายใต้ข้อผูกพันที่เขาจะต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูอีกต่อไป

ยกเว้น  ที่ระบุไว้ภายใต้กฎหมายอิสลาม ที่ให้จ่ายเงินภรรยาครั้งเดียวจบ คำนวนออกมาแล้วเป็นเงินประมาณ 5400 รูปี

เดือนสิงหาคม ปีถัดมา  ศาลท้องถิ่นได้ออกคำสั่งให้ข่านจ่ายเงินค่าเลี้ยงดูให้ บาโนเป็นจำนวน 25 รูปีต่อเดือน เป็นค่าดำรงชีพ  แต่บาโน ไม่เห็นด้วย  จึงฟ้องร้องต่อศาลในปีต่อมา และให้เพิ่มค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 179.20 รูปีต่อเดือน  

ข่านโต้แย้งว่า  เขาได้แต่งงานครั้งที่ 2 อย่างถูกต้องตามกฎหมายอิสลามแล้ว  และ บาโน ไม่ได้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเขาอีกต่อไป หลังจากที่เขาได้บอกหย่าตามแบบของอิสลามไปแล้ว

จะเห็นว่า  ชาห์ บาโน  ฟ้องร้องเรียกค่าเลี้ยงดูจากสามีเก่า  บนพื้นฐานของกฎหมายส่วนบุคคลของอินเดีย   แต่ข่าน  สามีของเธอ ฟ้องร้องเธอด้วยการอ้างกฎหมายศาสนาอิสลาม 

ดูท่าว่าจะจูนเครื่องมาเจอกันยากซะแล้ว

พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .