ซอกซอนตะลอนไป (20 กันยายน 2563)
คดีความ134 ปีที่ อโยดยา (ตอน 5)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
หลังการรณรงค์ ราม รถะ ยาตรา ระหว่างเดือนกันยายน ถึง ตุลาคม ปีค.ศ.1990 ชาวฮินดูเริ่มมีอารมณ์ร่วมต่อการเรียกร้องที่ดินดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่พวกฮินดูขวาจัด
วันที่ 6 ธันวาคม ปีค.ศ.1992 กลุ่ม วิศวะ ฮินดู พาริชาด (VHP) และ พรรค ภาราติยะ ชันตะ (ซึ่งปัจจุบันเป็นพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายนเรนทรา โมดี เป็นนายกรัฐมนตรี) ได้จัดการชุมนุมเพื่อรณรงค์เรียกร้องที่ดินตรงจุดที่เป็นสุเหร่า บาบริ ให้กลับมาเป็นของชาวฮินดู
มีผู้มาร่วมรณรงค์มากกว่า 150,000 คน จำนวนมากเป็นพวกจิตอาสาทางศาสนาที่มาร่วมโดยไม่คิดค่าจ้าง ที่เรียกว่า คาร์ เซวัคส์
การรณรงค์ในวันนั้นบานปลายกลายเป็นความรุนแรงที่ไม่มีใครควบคุมได้ ฝูงชนที่กำลังมีอารมณ์ร้อนแรงฝ่าแนวรับของหน่วยรักษาความปลอดภัยเข้าไปในเขตสุเหร่า และรื้อทำลายสุเหร่าลงอย่างราบคาบ
ผลกระทบตามมาคือ มีการต่อสู้ปะทะกันในหลายเมืองจนทำให้มีผู้เสียชีวิตตามมาอีกประมาณ 2,000 คน และก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินต่างๆกว่า 3600 ล้านยูเอส ดอลลาร์
รายงานการสอบสวนที่ออกมาในปีค.ศ. 2009 ของคณะกรรมการ สืบค้นหาข้อเท็จจริง ลิเบอร์ฮาน อโยดยา (LIBERHAN AYODHYA COMMISSION OF INQUIRY) ปรากฎว่า มีผู้ถูกกล่าวโทษ 68 คน ซึ่งรวมถึงผู้นำของพรรค BJP และ กลุ่ม VHP ด้วย
คดีความฟ้องร้องถูกนำไปสู่ศาลฎีกาของฮาลาฮาบาด(ALLAHABAD) ซึ่งตัดสินคดีในวันที่ 30 กันยายน ปีค.ศ. 2010 ให้แบ่งที่ดินออกเป็นสามส่วน ให้แก่ วิหารพระรามส่วนหนึ่ง , ให้แก่คณะกรรมการสุหนี่ วาคฟ์(THE SUNNI WAQF BOARD)ของชาวมุสลิมส่วนหนึ่ง และ ให้แก่ นีร์โมฮิ อัคฮารา(NIRMOHI AKHARA)ซึ่งเป็นองค์กรฮินดูที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของอินเดียอีกส่วนหนึ่ง
แต่เรื่องก็ยังไม่จบ มีการฟ้องร้องต่อไปยังศาลฎีกากลางของประเทศอินเดีย
องค์คณะผู้พิพากษา 5 คน ซึ่งถือว่าเป็นองค์คณะใหญ่ ได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคดีตั้งแต่เดือน สิงหาคม จนถึง เดือนตุลาคม ปีค.ศ. 2019 ทุกวันเป็นจำนวน 40 วันเต็ม และในที่สุดก็มีคำตัดสินออกมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 2019
คำตัดสินดังกล่าวระบุให้ลบล้างคำตัดสินทุกอย่างที่เคยมีมาก่อน และ ให้ถือว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของรัฐบาลอินเดีย ทั้งนี้โดยยึดถือจากบันทึกการเสียภาษีในอดีต ซึ่งน่าจะสอดคล้องกับกฎหมายไทยที่ว่า ที่ดินทั้งหมดของประเทศไทยเป็นของรัฐ ที่รัฐจะเรียกคืนมาเมื่อไหร่ก็ได้
คำตัดสินยังระบุให้มอบที่ดินจำนวน 5 เอเคอร์ ให้แก่กองทุนของฮินดูกองทุนหนึ่งที่จะดำเนินการสร้างวิหารของพระรามขึ้นมา และ ยังให้ยกที่ดิน 5 เอเคอร์ให้แก่คณะกรรมการมุสลิม เพื่อใช้สร้างสุเหร่าด้วย
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ปีค.ศ. 2020 รัฐบาลในสมัยที่ 2 ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ประกาศในรัฐสภาว่า จะเดินหน้าสร้างวิหารพระรามแห่งนี้ขึ้นมา
วิหารหลังนี้ ออกแบบโดย ตระกูล โสมปุระ(SOMPURA FAMILY) จากเมือง อาห์เมดาบาด รัฐ คุชราฎ ซึ่งเป็นตระกูลวรรณะพราหมณ์ ที่ทำงานออกแบบวิหารฮินดูมามากกว่า 100 หลังทั่วโลก และ ทำงานติดต่อกันมา 15 ชั่วอายุคนแล้ว
วิหารหลังนี้จะมีขนาดกว้าง 235 ปิต ยาว 360 ฟิต และ สูง 161 ฟิต ออกแบบตามศิลปการสร้างวิหารแบบ นาคารา
ในวันที่นายนเรนทรา โมดี วางศิลาฤกษ์ของวิหารหลังนี้ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563 มีการนำเอาน้ำศักดิ์สิทธิจากหลายแห่ง ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องมีแม่น้ำ 3 สายสำคัญที่สุดของอินเดีย 3 สาย คือ แม่น้ำคงคา , แม่น้ำ ยมุนา และ แม่น้ำสรัสวาตี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากจุดบรรจบของแม่น้ำซึ่งชาวฮินดูถือว่า ศักดิ์สิทธิ์มาก
วิหารหลังนี้จะใช้เวลาสร้างนาน 4 ปีคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2567
และยังมีการนำเอาดินศักดิ์สิทธิ์จากวิหารของฮินดู จากวิหารของศาสนา ซิกห์ และ วิหารศาสนาเชน หลายแห่งทั่วอินเดียมาบรรจุด้วย
การต่อสู้คดีในครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการยกย่องจากชาวฮินดูเป็นอย่างมากก็คือ นาย เค ปาราสาราม(MR.K.PARASARAM) อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกากลางของอินเดีย ซึ่งเป็นทนายความในคดีนี้ เขาต้องว่าความในศาลทุกวันเป็นเวลา 40 วันติดต่อกันไม่มีวันหยุด
เอกลักษณ์ของเขาก็คือ เมื่อเขาไปสู้คดีในศาล เขาจะไม่สวมรองเท้า และ ไม่เคยนั่ง
เมื่อผู้พิพากษาถามว่า ทำไมจึงไม่นั่ง เขาตอบว่า เนื่องจากลูกความของเขาก็คือ พระราม เขาจึงไม่อาจจะนั่งต่อหน้าลูกความของเขา ซึ่งเป็นเทพที่เขาเคารพบูชา จะเป็นการลบหลู่เทพเจ้าของเขาได้
วันนั้นที่เป็นวันตัดสินคดีความนั้น เขาอายุ 92 ปี
เป็นอันจบคดีความอันที่กินเวลายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ 134 ปี ที่เริ่มมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1885 ถึงปีค.ศ. 2019
สวัสดีครับ