คดีความ134 ปีที่ อโยดยา (ตอน 4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (13 กันยายน 2563)

คดีความ134 ปีที่ อโยดยา (ตอน 4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               กลับมาพูดถึงเรื่องคดีความเพื่อแย่งชิงสถานที่ประสูติของพระรามกันต่อ

               เชื่อมั้ยครับว่า  ที่ดินที่มีการลงแรงฟ้องร้องกันยาวนาน 134 ปีนั้น  มีขนาดเพียง 2.77 เอเคอร์  หรือ ประมาณ 7 ไร่เท่านั้น  แต่ที่ต่อสู้กันมายาวนานก็เพราะชาวฮินดูเชื่อว่า  ตรงจุดที่พระรามประสูตินั้น จะเป็นจุดที่หากใครมาปฎิบัติธรรมจะสามารถหลุดพ้น หรือ บรรลุโมกษะได้โดยง่าย

               ปีค.ศ. 1949  หลังการแยกประเทศอินเดีย และ ปากีสถานได้เพียง 2 ปี   รัฐบาลอินเดีย ได้ประกาศห้ามคนมุสลิม เข้าใกล้สุเหร่าในระยะ 200 เมตร  แต่ยอมให้คนฮินดูเข้าไปในเขตสุเหร่าเพื่อสักการะได้  แม้ว่าจะไม่สามารถเข้าไปในส่วนที่ประดิษฐานรูปเคารพของพระรามได้  


(โกปาน ซิง วิชาราด – ภาพจาก THE ECONOMIC TIMES)

               ต้นปีค.ศ. 1950 โกปาน ซิง วิชาราด ได้ยื่นคำร้องต่อศาลประจำเมืองไฟซาบาด เพื่อขอให้ชาวฮินดูสามารถเข้าไปเคารพรูปสักการะของพระรามในสุเหร่า  แต่ไม่เป็นผล  กระนั้นก็ยังมีการยื่นฟ้องร้องต่อศาลเรื่อยมาไม่ขาดสาย

               ถึงจุดนี้  พรรคการเมืองต่างๆของอินเดียเริ่มเข้ามาร่วมผลักดันในเรื่องนี้แล้ว  เพราะเห็นว่า  เป็นประเด็นที่มีผลต่อการได้ หรือ เสียของคะแนนเสียงจากชาวฮินดูที่เป็นคนส่วนใหญาของประเทศ   เช่น  พรรค ฮินดู มหาซับบา (THE HINDU MAHASABHA) ที่มีสัญลักษณ์เป็นธงสีเหลืองส้ม และ พรรค สหพันธ์ชาวมุสลิมอินเดียทั้งมวล (ALL-INDIA MUSLIN LEAGUE)

               ปัจจุบัน  ทั้งสองพรรคการเมืองแทบไม่มีบทบาททางการเมืองอินเดียอีกต่อไปแล้ว

               รวมทั้งพรรคการเมืองใหญ่ เช่น  พรรคภาราติยะ ชันตะ (BHARATIYA JANATA PARTY) หรือ BJP  และ พรรค อินเดียน เนชั่นแนล คองเกรส (INDIAN NATIONAL CONGRESS หรือ INC               )ของ ตระกูลคานธี

               ในช่วงทศวรรษ 1980 องค์กรที่มีชื่อว่า  วิศวะ ฮินดู พาริชาด (VHP) เริ่มรณรงค์ให้มีการสร้างวิหารพระรามขึ้นตรงจุดพิพาท  มีพรรรคภาราติยะ ชันตะ เป็นกระบอกเสียงทางการเมือง  การรณรงค์ดังกล่าวมีผลทำให้ในปีค.ศ. 1986  ผู้พิพากษาท้องถิ่นมีคำสั่งให้เปิดประตูของสุเหร่า เพื่อให้ชาวฮินดูสามารถเข้าไปสักการะบูชาด้านในได้


(ราจีฟ คานธี – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               คำตัดสินของศาลได้รับการตอบรับ และ สนับสนุนอย่างดียิ่งจากรัฐบาลที่นำโดย นายกรัฐมนตรี ราจีฟ คานธี  จนรัฐสภาต้องรีบยืนยันประกาศของผู้พิพากษาทันที   เพราะราจีฟ ได้สูญเสียคะแนนเสียงสำคัญจากชาวฮินดูไปก่อนหน้านี้ให้แก่พรรค BJP  แล้ว  จากคดีฟ้องหย่าของชาวอินเดียมุสลิมที่เรียกว่า คดีชาห์ บาโน   เขาจึงต้องรีบเรียกความนิยมจากประชาชนชาวฮินดูคืนมาให้เร็วที่สุด

               (ผมจะเขียนถึงเรื่อง คดีฟ้องหย่าที่สะเทือนประเทศอินเดีย และ สะเทือนคะแนนเสียงของพรรคคองเกรสในโอกาสต่อไปครับ)   

               ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป  ทั้งในศาล และ นอกศาล  ขณะเดียวกัน  ก็มีการขุดค้นทางโบราณคดีโดยหน่วยงานรัฐฯชื่อ คณะสำรวจทางโบราณคดีของอินเดีย หรือ THE ARCHAEOLOGICAL SURVEY OF INDIA  ที่เริ่มขุดค้นมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1970 หลายครั้งในบริเวณโดยรอบของสุเหร่า บาบริ  

การขุดค้นพบสิ่งก่อสร้างหลายแห่งที่เป็นของศาสนาฮินดูจากยุคก่อนหน้าสุเหร่า บาบริ  และระบุว่า ทรากวิหารดังกล่าวอาจจะเป็นวิหารของพระศิวะด้วยซ้ำ 

               แต่ก็มีหลักฐานอื่นที่แสดงว่า  อาจจะเคยมีสถูปทางศาสนาพุทธอยู่ตรงนี้มาก่อนด้วยเช่นกัน

               ผลของการขุดค้นทางโบราณคดี  และ  การค้นหาหลักฐานบันทึก  ทำให้เกิดแนวสันนิษฐานใหม่ว่า  สุเหร่า บาบริ อาจจะสร้างโดยจักรพรรดิ ออรังเซป ซึ่งเป็นโอรสของ จักรพรรดิ ชาห์ จาฮาน ผู้สร้างทัชมาฮาลก็ได้

               นอกจากนี้  ข้อมูลบันทึกก็ยังไม่พบชื่อ เมียร์ บากิ(MIR BAQI) ซึ่งตำนานเล่าว่า  เป็นนายพลผู้ที่จักรพรรดิบาเบอร์สั่งให้สร้างสุเหร่าแห่งนี้ขึ้นมา  หรือ  พูดง่ายๆก็คือ  เมียร์ บากิ ไม่มีตัวตน

               23 ตุลาคม ปีค.ศ. 1989 ศาลสั่งให้รวมคดีฟ้องร้องทั้งหมด และส่งไปพิจารณาที่ศาลฏีกาฮาลาลาบาด

               สถานการณ์ถูกลากเข้าไปสู่การเขม็งเกลียว และ เผชิญหน้ากัน  เมื่อ นายแอดวานี หัวหน้าพรรคภาราติยะ ชันตะ ได้จัดรณรงค์ที่เรียกว่า  ราม รถะ ยาตรา ขึ้นในวันที่ 25 กันยายน ปีค.ศ.1990 


(พิธี รถะ ยาตรา ที่วิหารจักกานนาถ เมืองปูรี รัฐโอดิสสา – ภาพจากวิกิพีเดีย)

รถะ ยาตรา(RATHA YATRA) เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่เน้นการลากรถแบบโบราณที่มีรูปเคารพของเทพเจ้าไปตามถนน  ที่เห็นได้ทุกปีก็คือ ที่วิหารจักกานาถ แห่งเมืองปูรี

               แต่ขบวนรถลากคราวนี้  เน้นในเรื่องการเรียกร้องที่ดินพิพาทของพระรามคืนมา  จึงเรียกว่า   ราม รถะ ยาตรา  โดยเน้นการระดมชาวฮินดูให้มาร่วมรณรงค์ในเรื่องนี้

               ขบวนรถเริ่มตั้งแต่เมืองโสมนารถ ในรัฐกุจราฐ เมื่อวันที่ 25 กันยายน ปีค.ศ.1990  ไปสิ้นสุดที่เมืองอโยดยา รัฐ อุตตระ ประเทศ ในวันที่ 30 ตุลาคม ใช้เวลาเดินทางประมาณ 36 วัน


(เส้นทางรณรงค์ ราม รถะ ยาตรา จากเมืองโสมนารถ ไปถึงเมือง อโยดยา)

               เข้าใจว่า  น่าจะเอาแนวคิดในการเดิน สัตยาเคราะห์ ไปทำเกลือของ มหาตมะ คานธี

               การเดินขบวนในครั้งนี้  สามารถเรียกแนวร่วมให้มาแสดงตัวได้อย่างมากมาย   ซึ่งนำไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรง  และมีคนเสียชีวิตกว่า 2000 คน ในอีก 2 ปีต่อมา

               ติดตามตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .