คดีความ134 ปีที่ อโยดยา (ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (30 สิงหาคม 2563)

คดีความ134 ปีที่ อโยดยา (ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               น่าแปลกว่า   มนุษย์มักนิยมสร้างศาสนสถาน ไว้ตรงจุดที่เคยเป็นที่ตั้งของศาสนสถานก่อนหน้า

               หลายวิหารของอียิปต์โบราณ สร้างบนจุดที่เคยเป็นที่ตั้งของวิหารยุคก่อน  บ้างก็ทำลายอาคารเก่าลงแล้วสร้างอาคารใหม่  บ้างก็สร้างของใหม่ทับลงไปในอาคารเก่า


(สุเหร่าคอร์โดบา และ โบสถ์คริสต์ที่สร้างในสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ ที่ 5  เป็นยอดโดม 8 เหลี่ยมอยู่ตรงกลาง)

               เมืองคอร์โดบา ของสเปน มีโบสถ์คริสต์ในศตวรรษที่ 16 ตั้งอยู่ตรงกลางของ สุเหร่าของอิสลามที่สร้างในศตวรรษที่ 8  และทั้งสองอาคารก็ตั้งอยู่บนโบสถ์คริตสต์ที่สร้างในยุคก่อนหน้านั้นด้วย

               ไว้โอกาสหน้า  จะเขียนเรื่องนี้ให้อ่านเล่นกันครับ

               เรื่องที่ผมกำลังเขียนอยู่นี้  เป็นผลมาแต่การสร้างสุเหร่า บาบริ ของอิสลามในเมือง อโยดยา บนที่ตั้งของศาสนสถานเดิมของฮินดู 

               ความขัดแย้งเกิดขึ้นเพราะ  ชาวฮินดูเชื่อว่า  ตรงจุดที่ตั้งของสุเหร่า บาบริ ที่สร้างโดยจักรพรรดิบาเบอร์ แห่งราชวงศ์โมกุล  ก็คือ สถานที่ประสูติของพระราม  ตัวละครเอกของมหากาพย์รามเกียรติ์  


(สุเหร่า บาบริ ที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐคอยดูแลความปลอดภัย – ภาพจากเว็บไซต์ NEWS18)

               ในปีค.ศ. 1846 อังกฤษเข้ายึดครองอินเดียผ่านทางบริษัท อีสต์ อินเดีย  ทำให้การบังคับใช้กฎหมายต่อชาวฮินดูของอังกฤษ ผ่อนปรนลงมากกว่าในสมัยของ ราชวงศ์โมกุล

               ต่อมา  กลุ่มที่เรียกว่า  นีร์โมฮี อัคฮารา (NIRMOHI AKHARA)ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยของศาสนาฮินดูที่นับถือพระรามเป็นหลัก  เข้าอ้างสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว  สร้างความไม่พอใจต่อฝ่ายมุสลิมจนเกิดการปะทะกันในปีค.ศ. 1855   แต่ไม่รุนแรงนัก

               ปัญหาเริ่มตั้งเค้า

               อีก 4 ปีต่อมาคือ ปีค.ศ. 1859  อังกฤษต้องวางแนวรั้วกันพื้นที่ระหว่าง ตัวอาคารสุเหร่า  กับ  ลานกว้างด้านนอก  เพื่อกันไม่ให้ทั้งสองฝ่ายที่มาประกอบพิธีทางศาสนาที่นี่ปะทะกัน  แต่ก็ยังมีฮึ่มๆใส่กันเสมอๆ 

ปีค.ศ. 1885  มาฮานต์ รากูเบอร์ ดาส ได้ยื่นคำร้องต่อศาลประจำเมือง ไฟซาบาด เพื่อขออนุญาตสร้างศาลเจ้าเล็กๆขึ้นหลังหนึ่งบนพื้นที่ด้านนอกพื้นที่ที่เป็นข้อขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิม และ ฮินดู

เป็นการเริ่มต้นในการขอคืนพื้นที่ ที่เป็นสถานที่ประสูติของพระรามในอย่างเป็นทางการในทางกฎหมาย   แต่ศาลปฎิเสธคำร้อง

               แม้จะไม่ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องทางกฎหมาย  แต่ก็เป็นการก้าวย่างแรกในการขอคืนสถานที่ประสูติของพระรามอย่างเป็นทางการ  เพราะหลังจากนั้น  ก็มีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ทางกฎหมายเป็นระยะๆ

               วันที่ 15 สิงหาคมปี ค.ศ. 1947 อินเดียได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ   ชาวฮินดูเริ่มการเคลื่อนไหวที่เป็นรูปธรรมหนักแน่นอีกครั้ง   แต่ก่อนหน้านั้นเพียง 1 วัน  ปากีสถาน แยกประเทศออกจากอินเดีย และตัวประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นต่ออินเดีย เกิดการเคลื่อนย้ายของผู้คนชาวมุสลิม และ ฮินดูอย่างกว้างขวางไปเกือบทั้งประเทศ   สร้างความความเกลียดชังระหว่างคนจากทั้งสองศาสนา  จนเกิดปะทะกัน และ ทำร้ายกันตามแนวพรมแดนหลายต่อหลายจุด

               ยิ่งทำให้ความขัดแย้งกรณีการทวงคืนที่ดินสถานที่เกิดของพระรามของชาวฮินดู กับ มุสลิม ยิ่งเพิ่มความตึงเครียดหนักเข้าไปอีก  


(รูปสลักของพระราม ตอนเด็ก (ในรูปแบบหนึ่ง แต่อาจจะไม่ใช่องค์ที่ถูกนำไปไว้ในสุเหร่า) – ภาพจากเว็บไซต์ NEWS18)

ปีค.ศ. 1948  ศาลท้องถิ่นของ ไฟซาบาด  ตัดสินใจสั่งให้สุเหร่าบาบริ เป็นพื้นพิพาททางกฎหมาย  และสั่งให้ล็อคประตูทางเข้าสุเหร่าเสีย เพื่อห้ามทุกฝ่ายเข้าไปใช้อาคารสุเหร่า 

นอกจากนี้ ยังสั่งให้จัดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย 2 คน คอยเฝ้าประตูเป็นผลัดต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้คนหนึ่งเป็นชาวมุสลิม และอีกคนเป็นชาวฮินดู  เพื่อป้องกันปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้น

               แต่แล้ว  กลางคืนระหว่างวันที่ 22 – 23  ธันวาคม ปีค.ศ. 1949   มีผู้ลักลอบเอารูปสลักของ พระราม ตอนเด็ก  ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่เขานับถือไปวางไว้ในสุเหร่า   ไม่มีใครรู้ว่าเป็นการกระทำของผู้ใด    แต่ทุกคนก็ชี้เป้าไปที่ พรรคการเมือง ฮินดู มหาซับฮา (THE HINDU MAHASABHA) ที่มีสัญลักษณ์เป็นธงสีเหลืองส้ม (SUFFRON) ว่าเป็นคนทำ 


(ธงสัญลักษณ์ของ พรรคการเมือง ฮินดู มหาซับฮา (THE HINDU MAHASABHA)

               เพราะพรรคการเมืองนี้ก่อตั้งขึ้นมา เมื่อปีค.ศ. 1915  เพื่อช่วยปกป้องและพิทักษ์ผลประโยชน์ของชุมชนชาวฮินดู  หลังจากที่ชาวมุสลิมได้ก่อตั้ง พรรคการเมืองที่เรียกว่า  สหพันธ์ชาวมุสลิมอินเดียทั้งมวล (ALL-INDIA MUSLIN LEAGUE)  ขึ้นในปีค.ศ. 1906

               เรียกว่า  ตาต่อตา  ฟันต่อฟัน กันทีเดียว

               การเอารูปเคารพของศาสนาอื่นมาวางในสุเหร่าของมุสลิม  ถือเป็นการไม่ให้ความเคารพต่อสุเหร่าเป็นอย่างยิ่ง  

               ผลตามมาก็คือ  มีการฟ้องร้องต่อกันในศาลจากทั้งสองพรรคการเมืองอย่างต่อเนื่อง เพื่ออ้างสิทธิในผืนดินผืนนี้

               เรื่องไม่จบง่ายๆแน่นอน   แต่สุดท้ายจะลงเอยอย่างไร   รอติดตามอ่านในสัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .