“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี” จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 29)

ซอกซอนตะลอนไป                           (9 สิงหาคม  2563)

“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี” จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 29)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               (สำหรับท่านที่ต้องการจะอ่านบทความที่ผมเขียนเรื่องนี้ย้อนหลังตั้งแต่ตอนที่ 1   เชิญเข้าไปอ่านได้ที่  www.whiteelephanttravel.co.th    แล้วไปที่ blog  แล้วไปที่   “ซอกซอนตะลอนไป”   บทความตอนที่ 1 จะอยู่ที่บล็อค 20  อ่านต่อเรื่อยๆจนถึงตอนที่ 26 ครับ)

               อาจจะเป็นเพราะคุณหญิงมณี เติบโตขึ้นมาด้วยความลำบาก  ต้องต่อสู้มาตลอดในช่วงต้นของชีวิต  แต่หลังจากอภิเษกกับพระองค์จีระศักดิ์แล้ว  จะเป็นช่วงที่มีความสุขมาก  แต่ก็ทำให้มุมมองของท่านต่อคุณค่าของชีวิตมนุษย์  แตกต่างไปจากมุมมองของคนรวย และ คนชั้นสูงในยุคปี พ.ศ. 2500 เป็นอย่างมาก


(คุณหญิงมณีกับพระองค์จีระศักดิ์)

               และเมื่อกลับมาอยู่ในเมืองไทยกับพระองค์อาภัส  ชีวิตยิ่งมีแต่ความสะดวกสบาย  มีแต่ความสุขอย่างที่คุณหญิงอาจจะไม่เคยเจอมาก่อนเลย  

แต่เนื่องจากคุณหญิงเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษามาอย่างดีในวิชาปรัชญาตะวันตก  ซึ่งมีแนวคิดออกไปไปทางสังคมนิยม  คุณหญิงจึงมีมุมมองของชีวิตที่แตกต่างไปจากสังคมไทยในช่วงปี 2500  

               คุณหญิงเขียนเอาไว้ว่า 

               “ข้าพเจ้าไม่พอใจเลย  เพราะการมีความเป็นอยู่แบบนี้ ไม่ตรงกับอุดมคติของข้าพเจ้า    นอกจากนั้น ข้าพเจ้าก็อยากให้ พระองค์อาภัสได้ทำงานอะไรสักอย่างหนึ่งเป็นหลักด้วย”

               เนื่องจากพระองค์อาภัสเรียนจบมาทางด้านสถาปัตยกรรมจากอังกฤษ   คุณหญิงจึงต้องการให้พระสวามีทำงานในสายอาชีพที่ร่ำเรียนมา  คือ  ออกแบบบ้าน  ซึ่งตอนนั้นในสังคมชั้นสูงของไทย  มีสถาปนิกที่ออกแบบบ้านที่น่าจะได้รับความนิยมมากอยู่สองคน  คือ  มจ.ประสมสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์  และ มจ. โวฒยากร วรวรรณ เท่านั้น

               คุณหญิงคงจะมองเห็นโอกาสในอาชีพสายนี้   แต่ดูเหมือนพระองค์อาภัส จะไม่มีความมั่นใจในอาชีพสถาปนิก  แต่ต้องการที่จะไปทำนาปลูกข้าวตามที่เคยตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนอยู่เมืองนอก  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคุณหญิง และ บรรดาญาติๆทุกคน   

               ขุนเจนฯ ซึ่งมีนามเต็มว่า  ขุนเจนจบทิศ  รับราชการอยู่ที่กรมทางหลวงแผ่นดิน  จึงไปหาที่ดินเพื่อจะทำนาซึ่งกำหนดว่า  น่าจะต้องมีสัก 100 ไร่

               “ขุนเจนฯ ก็ได้มาเสนอพระองค์อาภัสกับข้าพเจ้าว่า  มีที่ดินอยู่หนึ่งแปลงประมาณ 100 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่เป็นนาอยู่แถวพระโขนง และเจ้าของต้องการขายทั้งแปลงในราคาตารางวาละ 2 บาท หรือไร่ละ 800 บาท  ที่ดินแปลงนี้อยู่ที่อำเภอสำโรง  ตำบลบึงชำอ้อ  ห่างจากถนนใหญ่เข้าไปในซอยประมาณ 500 เมตร”

               คุณหญิงได้เขียนต่อว่า

               “ข้าพเจ้ารีบตกลงซื้อที่นาแปลงนี้ทันที  และได้ไปขอเบิกเงินจากกองมรดกของสมเด็จพระปกเกล้าฯซึ่งข้าพเจ้ามีสิทธิ์ขอเบิกใช้ก่อนการแบ่งมรดก  ท่านผู้จัดการมรดกคือ  มจ.อุปลีสาณ ก็มิได้ทรงทักท้วงหรือขัดขวางแต่ประการใด”

               (ทำไม  จึงต้องเบิกเงินมาจากกองมรดกมาใช้ก่อน  คุณหญิงไม่มีสิทธิ์ในกองมรดกนี้หรืออย่างไร  อะไรเป็นเงื่อนไข  ผมจะเล่าให้ฟังในตอนหน้าครับ)  

               แนวคิดในการทำนาของพระองค์อาภัส ถือว่าทันสมัยมากในยุคนั้น  กล่าวคือ  ทรงใช้ รถแทรกเตอร์ และ เครื่องมือที่ทันสมัยที่นำเข้ามาจากประเทศอังกฤษมาเป็นตัวช่วย

               คุณหญิงเขียนไว้ว่า “พระองค์อาภัสทรงตื่นเต้นมาก…………….ทรงปรับที่นาด้วยการไถด้วยแทรกเตอร์  ได้ใช้อุปกรณ์ต่างๆพลิกดิน  กลบดิน  พรวนดิน และปรับที่ดินอย่างดีก่อนที่จะลงมือปลูกข้าว  พระองค์อาภัสเห่อการทำนามาก”

               แต่ดวงชะตาคงไม่เสริมส่ง  สะพานไม้ที่อยู่ปากซอยถูกรื้อทิ้งไป  และเจ้าของที่ดินติดถนนใหญ่ปากซอยไม่ยินยอมให้ใครสร้างสะพานใหม่ข้ามที่ดินในกรรมสิทธิ์ของเขาเข้าไปข้างในได้   จะอนุญาตก็เพียงแต่กระดานไม้แผ่นเดียวให้คนที่อยู่อาศัยข้างในข้ามเข้าไปเท่านั้น 

               หมายความว่า   อุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆหมดสิทธิ์ที่จะเข้าไปถึงที่นาได้

               คุณหญิงได้เขียนไว้ว่า   “พระองค์อาภัสจึงทรงท้อแท้และหมดกำลังใจ   ในที่สุดก็ล้มเลิกการทำนาด้วยเครื่องจักร ได้ทรงหันมาออกแบบสำนักงานเล็กๆชั้นเดียว  ซึ่งเราตกลงกันว่า  จะปลูกสร้างก่อนในที่ดินที่ถนนเพลินจิตเพื่อเป็นสำนักงานดูแลผลประโยชน์ ของเราต่อไป……………….ความหวังของพระองค์อาภัสที่จะทรงทำนาปลูกข้าวด้วยแทรกเตอร์ก็สิ้นสุดลงเพียงแค่นี้” 

               เข้าใจว่า  บ้านที่ถนนเพลินจิตก็คือ โรงแรมเรอเนสซองส์ ในปัจจุบัน 

               วันนั้น   ผมคิดว่า   ทั้งคุณหญิง และ  พระองค์อาภัส  คงคิดว่า  ทำไมถึงได้โชคร้ายขนาดนี้  แม้จะพยายามเจรจาขอเปิดทางถนนแล้วก็ยังไม่สำเร็จ

               แต่ความรู้สึกว่าเป็นโชคร้ายในวันนั้น  อาจจะเป็นโชคดีของคนรุ่นหลังในวันนี้  เพราะ

               “ข้าพเจ้าไม่เคยคาดคิดเลยว่า ที่ดินแปลงนี้จะมีราคาสูงเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าในเวลาอันรวดเร็วระหว่างระยะเวลา 25 ปี ได้มีคนหลายคนมาขอซื้อที่ดินแปลงนี้จากข้าพเจ้าอยู่เสมอ  โดยที่ข้าพเจ้าจะได้กำไรหลายสิบเท่า หากว่ายินยอมขายไป”


(ดวงชะตาของคุณหญิงมณี ที่ผมผูกไว้  บอกถึงชีวิตที่ผกผันเปลี่ยนแปลงเสมอ)

               แต่สุดท้ายคุณหญิงก็มิได้ขายไป

               ผมไม่ทราบว่า  หลังจากเวลาผ่านไปประมาณ 60 ปี  ที่ดินบริเวณนี้ จะมีราคาตารางวาละเท่าไหร่   ใครรู้ช่วยบอกทีนะครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ 

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ.