ซอกซอนตะลอนไป (7 มิถุนายน 2563)
ท่องไปในโลกฮินดู(ตอน 10)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เดิมที ผมคิดจะจบชุด “ท่องไปในโลกฮินดู” แค่ตอนที่ 9 แต่ได้รับจดหมายจาก คุณจุฬาลักษณ์ ที่เคยท่องเที่ยวไปด้วยกันมาหลายประเทศแล้ว ถามว่า
เพิ่งทราบว่า พระศิวะ มีสองชื่อ อีกชื่อคือ พระอิศวร ว่างๆรบกวนเขียนว่า ทำไมถึงมี 2 ชื่อด้วย
ก็เลยต้องขอต่ออีกตอนครับ
ก่อนอื่นขอเรียนว่า ในศาสนาฮินดู มีสองสายหลักๆที่ได้รับการเคารพบูชาจากชาวฮินดู คือ ไศวนิกาย(SHAIVISM) คือ สายที่เคารพนับถือพระศิวะเป็นหลัก และ ไวษณพนิกาย(VAISHANAVISM) คือสายที่นับถือพระวิษณุเป็นหลัก
ทั้งสองสายนี้ มีความเชื่อมโยงกันอย่างค่อนข้างลึกซึ้ง แต่พระศิวะ จะอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าพระวิษณุ ดังจะเห็นได้จากบางครั้งที่พระวิษณุ อวตารลงไปปราบอสูร แต่เจอกับอสูรที่มีฤทธิมาก พระวิษณุก็จะขอให้พระศิวะช่วย ซึ่งพระศิวะก็ประทานจักรให้ไป
ความผูกพันของเทพเจ้าทั้งสององค์มีความแนบแน่นมาก ถึงขนาดที่มีอยู่ปางหนึ่งที่เรียกว่า หะริหะรา คือ ครึ่งหนึ่งเป็นพระศิวะ อีกครึ่งหนึ่งเป็นพระวิษณุ
เนื่องจาก ศาสนาฮินดูผ่านพัฒนาการมานานหลายพันปี เทพเจ้าของฮินดู จึงได้รับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปด้วยตามยุคสมัย ทำให้บทบาทของพระศิวะ และ พระวิษณุ มีพัฒนาการตามไปด้วย
เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งพระศิวะ และ พระวิษณุ จึงได้รับพระนามมากกว่า 1,000 ชื่อ เรียกว่า ศิวะ สหะสรานามา(SHIVA SAHASRANAMA) หรือ วิษณุ สหะสรานามา(VISHNU SAHASRANAMA) อันเป็นบทสวดที่สรรเสริญพระนามของเทพทั้งสอง
คำว่า สหะสรานามา เป็นคำในภาษาสันสกฤต ที่แปลว่า พันรายชื่อ
ในบรรดาหนึ่งพันรายชื่อของเทพเจ้าทั้งสอง ถูกสรุปย่อลงมาให้เหลือเพียง 108 รายชื่อที่เป็นชื่อที่ได้รับความนิยม หรือ เคารพนับถือของชาวฮินดูเป็นพิเศษ
แต่ในบทความตอนนี้ ผมจะพูดถึงเฉพาะพระนามของพระศิวะเท่านั้น
มีชื่อของพระศิวะ ที่น่าสนใจอยู่หลายชื่อที่ผมคัดเลือกมา เช่น อธินาถ (ADINATH) ที่แปลว่า เทพเจ้าอันดับหนึ่ง , อดิโยกี(ADIYOGI) แปลว่า โยคีองค์แรก , ทิฆัมพร (DIGAMBARA) แปลว่า ผู้นุ่งลมห่มฟ้า , มหาเทวะ(MAHADEVA) แปลว่า เทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่สุด , มเหชชา (MAHESHA) แปลว่า เทพสูงสุด , มเหสชวารา (MAHESWARA) แปลว่า เทพแห่งเทพทั้งปวง , พาราเมสชวารา(PARAMESHWARA) แปลว่า ผู้เป็นหนึ่งของเทพทั้งปวง , โสมเมสชวารา(SOMESHWARA) แปลว่า ผู้มีร่างกายผ่องใส
จะเห็นว่า ชื่อของพระศิวะจำนวนหนึ่งลงท้ายด้วย เมสชวารา ซึ่งเป็นข้อสังเกตต่อไปว่า หากวิหารใดก็ตามมีชื่อลงท้ายด้วย เมสชวารา วิหารนั้นจะอุทิศถวายแด่ พระศิวะ อย่างเช่น วิหารมุกเตสชวารา(MUKTESHVARA TEMPLE) หรือ พาราสุราเมศวารา(PARASHURAMESHWARA TEMPLE) ที่รัฐโอดิสสา เป็นต้น
คำว่า เตสชวารา หรือ เมศวารา มีที่มาจากคำว่า อิสวารา (ISHWAR หรือ ISHWARA) เป็นคำในภาษาสันสกฤต มีความหมายโดยรวมว่า เทพเจ้า (GOD) หรือ สภาวะอันสูงสุด(SUPREME BEING) ซึ่งก็มีความหมายว่า เทพเจ้า (GOD)
จะเห็นว่า อิสวารา ไม่ได้หมายความถึงพระศิวะ เลย แต่กระนั้น ผู้ที่นับถือพระศิวะก็เรียก พระศิวะ ว่า อิสวาระ หรือ อิสวาร หรือกระทั่ง บรรดาผู้นับถือพระวิษณุ ก็เรียก พระวิษณุว่า อิสวาระ หรือ อิสวาร เช่นกัน
สันนิษฐานว่า คำว่า อิสวาระ หรือ อิสวาร ต่อมาได้กลายมาเป็น “อิศวร” ซึ่งทำให้คนไทยมักจะเข้าใจว่า พระอิศวร ก็คือ อีกนามหนึ่งของ พระศิวะ
หวังว่า คุณจุฬาลักษณ์ คงจะได้คำตอบแล้วนะครับ
สนใจเดินทางเจาะลึกอินเดีย กับผม ซึ่งมีหลายเส้นทางด้วยกัน ติดต่อ 0885786666 หรือ LINE ID 14092498
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ