อียิปต์โบราณ ใช้ช้างในการทำสงครามหรือไม่(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (22 มีนาคม 2563)

อียิปต์โบราณ ใช้ช้างในการทำสงครามหรือไม่(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               สิ่งหนึ่งที่ผมสงสัยเกี่ยวกับอียิปต์โบราณมานานแล้วก็คือ  ทำไม  จึงไม่มีเรื่องราวของสัตว์ประเภทหนึ่ง ที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอัฟริกา บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของอียิปต์ที่มีอายุกว่า 5 พันปีเลย  ไม่ว่าจะเป็นผนังในวิหาร หรือ ในสุสานต่างๆ  

               สัตว์ประเภทนั้นก็คือ  ช้าง  

               เรื่อยตั้งแต่จารึกของฟาโรห์ นาเมอร์(NAMER) หรือ เมเนส(MENES)  ซึ่งเป็นผู้รวมชาติอียิปต์ได้เป็นคนแรกเมื่อประมาณ 5150 ปีที่แล้ว  ก็ไม่ปรากฎว่ามีช้าง  จะมีก็เพียงแต่วัว หรือ ควาย  และสัตว์ในจินตนาการ เท่านั้น  ตามที่ปรากฎอยู่บนแผ่นจารึกสำคัญของฟาโรห์นาเมอร์  


(จารึกบนหินชนวนของฟาโรห์ นาเมอร์ อายุประมาณ 5150 ปี)

               ทำให้สงสัยว่า  การทำสงครามในสมัยนั้น  จะมีรูปแบบอย่างไร  เข้าใจว่า  น่าจะเป็นการขี่วัวหรือควาย  หรือเดินเท้าไปทำสงครามกัน 

เพราะบันทึกบอกว่า  อียิปต์เพิ่งจะรู้จักรถเทียมม้า  หรือ อาจจะรู้จัก “ม้า” เป็นครั้งแรกในช่วงการเปลี่ยนผ่านอำนาจครั้งที่ 2 (SECOND INTERMEDIATE PERIOD) ระหว่างปี 1650 – 1550 ก่อนคริสตกาล  หรือประมาณ 3650 ที่แล้วนี่เอง  

               เป็นช่วงที่อียิปต์ถูกผู้รุกรานชาวต่างชาติเข้ามายึดครอง  และเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์ที่ 14 ของอียิปต์โบราณ    ชนต่างชาติกลุ่มนี้  ถูกเรียกขานว่า  พวกฮิกโซส(HYKSOS)  ซึ่งแปลว่า  คนต่างชาติ 


(พื้นที่ตรงลูกศรชี้ คือปาเลสไตน์โดยประมาณ)

               กระทั่งปัจจุบันนี้  ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า  พวกฮิคโซส เป็นชนชาติใด   รู้แต่เพียงว่า  พวกฮิคโซส อพยพมาจากภาคตะวันตกของทวีปเอเชีย   บ้างก็ว่า  มีถิ่นฐานดั่งเดิมอยู่ทางตอนเหนือของดินแดนปาเลสไตน์ หรือ อาจจะมาจากพื้นที่ที่เป็นประเทศอิหร่านในปัจจุบันก็ได้


(ภาพที่พบในสุสานของราชวงศ์ที่ 12 ระบุว่า  ชนเผ่าเอเชียติค ได้อพยพเข้ามาในอียิปต์ ซึ่งน่าจะมีความเชื่อมโยงกับ ชนชาติที่เรียกว่า ฮิคโซส-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               พวกฮิคโซส มี ม้า และ รถเทียมม้า  ซึ่งอาจเทียบได้กับเครื่องบินรบติดเครื่องยิงจรวดในปัจจุบันนี้   เพราะสามารถเคลื่อนที่ได้รวดเร็วมาก  อย่างที่ชาวอียิปต์ไม่เคยพบเห็นมาก่อน 

               นอกจากนี้  พวกฮิคโซส ยังได้นำเข้าสิ่งประดิษฐ์หลายอย่างมาเผยแพร่ในอียิปต์  เช่น  ธนูหลายแบบ  หัวธนูชนิดใหม่ๆ  โล่ห์  และ  เสื้อถักด้วยโลหะเป็นโซ่แบบที่อัศวินในยุคกลางใส่กันเพื่อใช้เป็นเกราะป้องกันธนู


(ตัวอย่างเสื้อถักด้วยโลหะ ไม่ใช่แบบที่พวกฮิคโซสนำเข้ามาเผยแพร่ในอียิปต์ แต่น่าจะคล้ายๆกัน – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไมชาวฮิคโซส  สามารถเอาชนะชาวอียิปต์โบราณได้  

               สำหรับท่านที่เคยชมพิพิทภัณฑ์ไคโรมาแล้วจะเห็นว่า  ในส่วนที่จัดแสดง ขุมทรัพย์ที่ค้นพบจากสุสานของ ฟาโรห์ตุตันคาเมน นั้น   มีรถศึกเทียมม้าจัดแสดงอยู่ด้วย   แม้ว่า  จะเชื่อกันว่า  ตุตันคาเมน น่าจะไม่เคยออกศึกด้วยตัวเอง


(รถศึกเทียมม้าของ ฟาโรห์ ตุตันคาเมน ที่จัดแสดงในพิพิทภัณฑ์ไคโร)

               ตุตันคาเมน ครองราชอยู่ในช่วง ปี 1332 – 1324 ปีก่อนคริสตกาล  หรือ ประมาณ 3332 ปีที่แล้ว  

               หลังจากนั้น  จึงปรากฎภาพสลักตามวิหารต่างๆหลายแห่ง   อาทิ  ที่วิหารอาบู ซิมเบล ,  ภาพสลักบนกำแพง(PYLON)ของวิหารลักซอร์  ที่แสดงภาพของฟาโรห์รามเซส ที่ 2 กำลังประทับอยู่บนรถเทียมม้า และ ยิงธนูเข้าใส่ข้าศึกศัตรูที่เป็นพวกฮิตไทต์(HITTITES) ในสงครามแห่งเมืองคาร์เดช


(ภาพของรามเซส ที่ 2 กำลังยิงธนูจากบนรถศึก เข้าใส่ข้าศึกชาวฮิตไทต์ ปรากฎอยู่ในวิหารอาบูซิมเบล)

               รามเซส ที่ 2  ครองราชในช่วงปี 1279 – 1213 ปีก่อนคริสตกาล  หรือ เมื่อประมาณ 3279 ปีที่แล้ว หลังฟาโรห์ ตุตันคาเมน ประมาณ 50 ปี  

               เข้าใจว่า  ภาพของฟาโรห์ รามเซส ที่ 2 ประทับบนรถศึกเทียมม้า และ ยิงธนูด้วยในเวลาเดียวกัน  น่าจะสร้างความประทับใจให้แก่ประชาชนชาวอียิปต์ได้เป็นอย่างมาก  พอๆกับเห็นนายกรัฐมนตรี หรือ ประธานาธิบดี ในยุคปัจจุบัน  ขับเครื่องบินรบที่ทันสมัยที่สุดอย่างผาดโผน   ไล่ยิงข้าศึกศัตรูด้วยปืนแสงเลเซอร์ที่ทันสมัยสุดๆ

               เพราะชาวอียิปต์ไม่เคยเห็นรถม้าศึก  และ ธนูที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเป็นแบบนั้นมาก่อน

               เป็นวิธีการโฆษณาชวนเชื่อ เพื่อสร้างภาพพจน์ที่ทำกันมาเป็นเวลาช้านานแล้ว

               สนใจเดินทางเจาะลึกอียิปต์ ที่ผมเป็นผู้บรรยายชม  สามารถติดต่อได้ที่ 02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ  Line ID 14092498  

               พบกับตอนต่อไปในสัปดาห์หน้าครับ  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .