ซอกซอนตะลอนไป (15 ธันวาคม 2562)
ส่องจอร์แดน ย้อนอดีต และ อารยธรรม(ตอน3จบ)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ประวัติศาสตร์ของจอร์แดนยุคใหม่ อาจจะไม่ค่อยมีอะไรหวือหวา และ สนใจนัก แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตของจอร์แดนแล้ว ประวัติศาสตร์ของชาตินี้น่าสนใจมากทีเดียว
อย่างที่ผมได้เล่าไปในบทความ 2 ตอนที่แล้ว ว่ามีอารยธรรมเก่าแก่หลากหลายอารยธรรมหลั่งไหลเข้ามาเผยแพร่อยู่ในดินแดนแถบนี้เมื่อประมาณ 3 พันปีที่แล้ว เรื่อยลงมา
นักประวัติศาสตร์เรียกขานดินแดนแถบนี้ว่า เลอแวงต์ (LEVANT)
คำว่า เลอแวงต์ ต้นกำเนิดมาจากภาษาฝรั่งเศส ที่ขอยืมมาจากภาษาอิตาเลี่ยนอีกต่อหนึ่ง มีความหมายว่า การโผล่ขึ้นมา ซึ่งมีนัยยะหมายถึงการโผล่ขึ้นมาของพระอาทิตย์ทางขอบฟ้าทิศตะวันออก คือพื้นที่ริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านทิศตะวันออก และพื้นที่แถวตะวันออกกลาง
ปัจจุบันก็คือ ประเทศจอร์แดน ซีเรีย เลบานอน อิสราเอล ปาเลสไตน์ อิหร่าน(อาณาจักรเปอร์เชียน) อิรัก(พื้นที่อารยธรรมเมโสโปเตเมีย) และรวมถึง อียิปต์ (อารยธรรมอียิปต์โบราณ) ด้วย ประเทศเหล่านี้ ล้วนอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “พระจันทร์เสี้ยวที่อุดมสมบูรณ์” ในยุคโบราณ
ด้วยเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้อาณาจักรโรมันพยายามที่จะขยายการครอบครองของตัวเองจากกรุงโรมมาทางด้านตะวันออก และมาสิ้นสุดที่ประมาณ พื้นที่พระจันทร์เสี้ยวที่อุดมสมบูรณ์นี้ เพราะถัดจากพื้นที่พระจันทร์เสี้ยวนี้แล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นทะเลทราย
เนื่องจากดินแดนที่เรียกว่า พื้นที่พระจันทร์เสี้ยวที่สมบูรณ์นี้ มีคนพื้นถิ่นที่ใช้ภาษาแตกต่างไปจากภาษาละติน หรือ ภาษากรีกที่ชาวโรมันใช้กันอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเสี่ยงอันตรายมากในการขยายอำนาจออกมาไกลจนถึงพื้นที่แถบนี้
คนพื้นถิ่นที่พูดถึงนี้เขาใช้ภาษาเซมิติค ซึ่งก็คือ ชาวอาหรับ ชาวฮิบรู(HEBREW) ชาวอารามาอิค(ARAMAIC) แตกต่างจากพวกโรมัน ที่เป็นชาว ลาชิอุ้ม พูดภาษา ละติน และ ชาวกรีก ที่เป็นชาวเฮเลนพูดภาษา กรีก
เมืองทั้งสิบประกอบด้วย เมืองเจอราช ชื่อเดิมคือ เกสารา , เมืองบีท เชอัน ชื่อเดิมคือ ซิโธโปลิส อยู่ในอิสราเอล , เมืองอัล-ฮุสน์ ชื่อเดิมคือ ฮิปโปส อยู่บนที่ราบสูงโกลัน , เมืองอุมม์ ไคส์ ชื่อเดิมคือ กาดารา อยู่ในจอร์แดน
เมืองเออร์บิดตะวันออก ชื่อเดิมคือ เพลลา อยู่ในจอร์แดน , เมืองอัมมาน ชื่อเดิมคือ ฟิลาเดลเฟีย อยู่ในจอร์แดน , เมืองบีท ราส ชื่อเดิมคือ แคปปิโตเลียส อยู่ในจอร์แดน , เมืองคานาวัต ชื่อเดิมคือ คานาธา อยู่ในซีเรีย , เมือง อาบิลลา ชื่อเดิมคือ ราฟานา อยู่ในจอร์แดน และ เมืองดามัสกัส ชื่อเดิมก็คือ ดามัสกัส อยู่ในซีเรีย
จะเห็นว่า เมืองทั้งสิบในยุคเมื่อประมาณ 2 พันปีเศษ ส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศจอร์แดน มีอยู่เพียงเมืองเดียวที่แยกตัวออกมาอยู่เหนือสุด ก็คือ ดามัสกัส ซึ่งยังคงความสำคัญเรื่อยมาแม้จนกระทั่งในยุคของมุสลิม
ในบรรดาเมืองทั้งสิบนี้ โจเซฟฟุส(JOSEPHUS) ซึ่งเป็นนักประวัติศาสตร์โรมัน มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 1 ได้ระบุว่า เมืองที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้นก็คือ เมืองซิทโธโปลิส
เมืองเหล่านี้ ยกเว้นเมืองดามัสกัส สถาปนาขึ้นมาในช่วงเวลาระหว่างหลังจากที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช สิ้นพระชนม์ในปี 323 ปีก่อนค.ศ. จนถึงยุคโรมันยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในแถบนี้ได้ในปี 64 ก่อนคริสตกาล
และ ต่อมาก็ได้ดึงเอาเมือง หรือ แคว้น จูเดีย ซึ่งก่อตั้งโดยราชวงศ์ปโตเลมี ของอียิปต์ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสิบเมืองนี้ด้วย
สาเหตุที่ต้องเอาจูเดียเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสิบเมือง ก็เพราะมันมีปัญหาความขัดแย้งแฝงตัวมานาน จนกระทั่งมาปะทุขึ้นเมื่อโรมันต้องทำการล้อมปราบชาวยิว ที่หนีขึ้นไปตั้งหลักต่อสู้กับกองทัพโรมันบนภูเขาชันจนวินาทีสุดท้าย
เป็นสงครามที่สะเทือนใจชาวยิวมาก เรียกว่า สงครามแห่งมาซาดา ไว้ผมจะเอามาเล่าให้ฟังครับ
สำหรับท่านที่สนใจเดินทางเจาะลึกจอร์แดน แบบสบายๆ กับ ผม ระหว่างวันที่ 7 – 13 มกราคม 2563 สามารถติดต่อได้ที่ 02 651 6900 หรือ 088 578 6666 หรือ LINE ID 14092498
ปิดรับวันที่ 18 ธันวาคม นี้
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ