ส่องจอร์แดน ย้อนอดีต และ อารยธรรม(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (8 ธันวาคม 2562)

ส่องจอร์แดน ย้อนอดีต และ อารยธรรม(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               พูดถึงการเดินทางท่องเที่ยวจอร์แดน  คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเพียงแค่ เพทรา(PETRA)  เท่านั้น

               เมื่อพูดถึงนครเพทรา  ก็ต้องพูดถึง ราชอาณาจักรนาบาเทียน (NABATAEAN) ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่สร้างนครเพทราขึ้นมา


(สัญลักษณ์ของนครเพทรา  ฉากหนึ่งในภาพยนต์เรื่อง INDIANA JONES นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีโอกาสแค่ชโงกหน้าเข้าไปดู  ถ่ายรูปแล้วก็กลับ)

               สำหรับท่านที่เคยเดินทางไปเพทรา มาแล้ว  และ มีโอกาสเข้าไปเดินในนครเพทราเพียง 2 – 3 ชั่วโมงเท่านั้น  แล้วก็ต้องรีบเดินทางต่อ  อาจจะไม่รู้ว่า นครเพทราเคยเป็นนครที่ยิ่งใหญ่  และ ร่ำรวยมั่งคั่งมากที่สุดในภูมิภาคแถบนี้    อาณาบริเวณของนครเพทรากว้างใหญ่มาก   มากกว่าเพียงแค่จะชโงกหน้าเข้าไปดูวิหารที่เป็นจุดเด่นของเพทรา แล้วก็กลับ

               ถือว่าน่าเสียดายมาก

               สำหรับทัวร์จอร์แดนที่ผมจะนำไปชมระว่างวันที่ 7-13 มกราคม 2563 นั้น   เราจะอยู่ในนครเพทราทั้งวันครับ  เรียกว่า  เดินชมกันอย่างจุใจทีเดียว  

               หากสนใจจะร่วมเดินทางเจาะลึกจอร์แดน กับ ผม  สามารถติดต่อได้ที่ 026516900 หรือ  088 578 6666 หรือ LINE  ID 14092498 

               ใครคือ ชนชาตินาบาเทียน

               รายละเอียดของชนชาตินาบาเทียน เป็นสิ่งที่นักวิชาการยังมีความเห็นไม่ตรงกันหลายจุด   แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นตรงกันก็คือ  ชาวนาบาเทียน  เป็นชนชาติอาหรับ  และเป็นพวกเร่ร่อน (BEDOUIN) พวกเขาจะไม่ลงหลักปักฐานที่อยู่อาศัยอยู่ที่ใดที่หนึ่งอย่างถาวร  แต่จะเดินทางไปเรื่อยๆพร้อมกับฝูงสัตว์เลี้ยงของตัวเอง 

ที่ไหนอุดมสมบูรณ์ก็จะอาศัยอยู่นานหน่อย  ที่ไหนไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ก็จะเดินทางต่อ

               ชาวนาบาเทียนเดินทางเร่ร่อนไปทั่วทั้งทะเลทราย อาราเบียน   นักวิชาการบางคนเชื่อว่า   ถิ่นกำเนิดเดิมของชาวนาบาเทียน  มาจากดินแดนแถบที่เป็นประเทศเยเมน ในปัจจุบัน 


(ดินแดนที่เชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดของชาว นาบาเทียน(สีเขียว) ก็คือเขต เฮจาซี ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของซาอุดิอาระเบียในปัจจุบัน  ริมทะเลแดง ฝั่งตรงข้ามก็คือ อียิปต์ -ภาพจากวิกิพีเดีย)

แต่นักวิชาการอีกพวกหนึ่งก็เชื่อว่า  ชาวนาบาเทียน น่าจะมาจากดินแดน เฮจาซี(HEJAZI AREA) ที่อยู่ริมทะเลแดง  ปัจจุบันนี้ก็คือประเทศซาอุดิอาระเบีย   เพราะมีหลักฐานทางด้านความเชื่อเรื่องเทพเจ้า  จารึก และ หลักฐานอื่นๆจากพื้นที่นี้ที่เชื่อมโยงถึงกันอยู่   

หลังจากชนเผ่านาบาเทียน ได้เร่ร่อนเดินทางไปในพื้นที่แห้งแล้งกันดารมานาน  พวกเขาก็รู้วิธีที่จะเอาตัวรอดในทะเลทรายได้ 


(สุสานของชาวนาบาเทียน ที่พบในเขต เฮจาสี ประเทศซาอุดิอาระเบีย -ภาพจากวิพิพีเดีย) 

               นั่นก็คือ  รู้ว่าแหล่งน้ำจะหาได้จากที่ไหน

               เชื่อมั้ยครับว่า   แม้กระทั่งในทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดก็มีน้ำ    เขาเรียกว่า “น้ำซับ”  เพราะน้ำจากผิวดินที่เป็นทรายจะไหลลงไปใต้ดิน  และเนื่องจากใต้ดินไม่ใช่มีเพียงแต่ชั้นทรายเท่านั้น  หากแต่จะมีชั้นหินดินดานอยู่ด้วย  ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนพื้นอ่าง หรือ แอ่งกะทะ คอยกักเก็บน้ำไม่ให้ไหลต่อลงไปใต้ดิน  แล้วหายไปเฉยๆ  

               น้ำที่ไหลลงไปสะสมในชั้นหินนี้  นานเข้าก็จะมีปริมาณมากมาย  กลายเป็นแหล่งน้ำกลางทะเลทรายให้ผู้เดินทางผ่านมาสามารถนำเอาไปดื่มกินได้ 

               เพียงแต่เขาจะต้องรู้ว่า   จะหาน้ำได้จากที่ไหน  และ  ขุดอย่างไรเท่านั้น

               หลังจากที่เร่ร่อนในทะเลทราย  โดยทำงานรับจ้างเป็นกองกำลังคอยคุ้มกันกองคาราวานที่เดินทางนำสินค้าจากเอเชีย หรือ จีน ไปค้าขายที่ยุโรป หรือ กรุงโรม  


(เส้นทางการค้าสมัยโบราณที่เรียกว่า  เส้นทางสายไหม)

ในที่สุด  หลังจากที่พัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นพ่อค้า  ที่เดินทางค้าขายไปตามเส้นทางสายไหม ที่เชื่อมยุโรปกับประเทศจีน  ชนเผ่านาบาเทียนก็มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมากขึ้น   จากนั้น  พวกเขาก็ลงหลักปักฐานในบริเวณหุบเขาที่ยากแก่การเข้าถึง  ที่ปัจจุบันเรียกว่า  เพทรา

               สินค้าที่พวกนาบาเทียนค้าขายก็คือ พวกยางไม้หอม  เครื่องหอมต่างๆ  ที่นำจากเอเชียไปลงเรือที่ท่าเรือ กาซา  จากนั้นก็ส่งต่อไปยังกรุงโรม

               มีบันทึกว่า  ในปี 312 ก่อนคริสตกาล   พวกนาบาเทียนถูกกองทัพของ แอนติโกนุส ที่ 1 (ANTIGONUS I) ซึ่งเป็นนายพลคนหนึ่งของอเล็กซานเดอร์ มหาราช ที่ประกาศตนเป็นอิสระหลังจากอเล็กซานเดอร์ สิ้นพระชนม์ ได้ยกทัพมาโจมตีเมืองเพทรา ในช่วงที่ผู้ชายส่วนใหญ่เดินทางไปค้าขาย  แต่พวกเขาก็สามารถเอาคืนได้ในภายหลัง  

               หลักฐานดังกล่าวยืนยันว่า   ชาวนาบาเทียน ได้ลงหลักปักฐานที่เพทรามานานมากทีเดียว  อาจจะก่อนหน้าที่อเล็กซานเดอร์ มหาราช จะนำทัพเข้ามาถึงดินแดนแถบนี้ด้วยซ้ำ   

               และด้วยความมั่งคั่งที่ได้จากการค้าขาย  จึงทำให้ภายในเมืองเพทรา มีสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่สวยงาม  และ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของกรีก และ โรมัน

               เนื่องจากในบริเวณดังกล่าว  เต็มไปด้วยหินทรายสีชมพู หรือ แดง  วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างจึงมีโทนสีแดง หรือ ชมพู เป็นหลัก   เพททรา จึงถูกเรียกขานอีกชื่อหนึ่งว่า 

               นครสีชมพู 

               กลับมาส่องจอร์แดนต่อในสัปดาห์หน้านะครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .