ส่องจอร์แดน ย้อนอดีต และ อารยธรรม(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (1 ธันวาคม 2562)

ส่องจอร์แดน ย้อนอดีต และ อารยธรรม(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ผมเขียนพ๊อคเก็ตบุ๊ค “ท่องโลกศิลปวัฒนธรรม  กับ เสรษฐวิทย์ เล่ม 2  อียิปต์-กรีซ-ตุรกี” เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว   พูดถึง ประเทศตุรกี ว่าเป็นแหล่งหลอมอารยธรรมหลากหลายของโลกตั้งแต่ยุคอดีตกาล  วันนี้  จะขอนำเรื่อง  เตาหลอมอารยธรรมอีกแห่งหนึ่งของโลกมานำเสนอครับ


(หนังสือ ท่องโลกศิละวัฒนธรรม กับ เสรษฐวิทย์  สั่งซื้อได้ที่ 02 6516900)

               ประเทศจอร์แดน

               จากแผนที่ก็จะเห็นว่า   จอร์แดนตั้งอยู่บนเส้นทางเชื่อมระหว่าง อียิปต์ กับ ตุรกี ซึ่งตุรกีถือว่าเป็นแหล่งอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดอีกแหล่งหนึ่งของโลก ที่รู้จักกันดีก็คือ  อารยธรรมฮิตไทต์(HITTITES CIVILIZATION)


(แผนที่แสดงที่ตั้งของอาณาจักรฮิตไทต์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               อารยธรรมฮิตไทต์ ก่อกำเนิดขึ้นแถบลุ่มแม่น้ำแดง  ภาคกลางของอนาโตเลีย ใกล้เมืองอังการา เมืองหลวงของตุรกีในปัจจุบัน

               ในช่วงที่อาณาจักรฮิตไทต์ ผงาดขึ้นมาในราว 1400 – 1300 ปีก่อนคริสตกาล  ตรงกับยุคอาณาจักรใหม่ของอียิปต์โบราณ สมัยของพระนางฮัทเชปซุท เรื่อยลงมาจนถึง ฟาโรห์รามเซส ที่ 2  เพราะเป็นช่วงการเปลี่ยนถ่ายเทคโนโลยี่ จากยุคบร็อนซ์ มาสู่ยุคเหล็ก

               นักวิชาการบางท่านระบุว่า พัฒนาการของยุคบรอนซ์มาสู่ยุคเหล็ก ก็คือการล่มสลายของอารยธรรมอียิปต์โบราณ 


(แผนที่อาณาเขตของฮิตไทต์  และ เมืองคาเดช ที่อยู่ตรงพรมแดนของอาณาจักร – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ในช่วงเวลาดังกล่าว  อียิปต์ได้ยกทัพขึ้นไปทำสงครามกับอาณาจักรฮิตไทต์ซึ่งยกทัพมายันตรงบริเวณพรมแดนของฮิตไทต์ และเกิดปะทะกันตรงบริเวณที่เป็นประเทศซีเรียในปัจจุบันนี้  ตรงจุดที่เรียกว่า เมืองคาร์เดช (KADESH)  

               เป็นสงครามครั้งสำคัญของฟาโรห์ รามเซส ที่ 2 (RAMSES II)กับ กษัตริย์ มูวาทัลลี ที่ 2 (MUWATALLI II)  ที่รามเซส ที่ 2 มีความภูมิใจมาก   เพราะพระองค์ประกาศว่า  เป็นสงครามที่พระองค์ได้ชัยชนะเหนือกองทัพของอาณาจักรฮิตไทต์   ตามที่มีจารึกบนผนังของวิหารอาบู ซิมเบล  และ บนผนังกำแพง ที่วิหารลักซอร์ 


(รูปภาพสลักที่แสดงถึงชัยชนะของรามเซส ที่ 2 ต่อกองทัพของฮิตไทต์)

               แต่ที่น่าสนใจก็คือ  ในขณะเดียวกัน  ก็มีจารึกของฝ่ายฮิตไทต์ที่ระบุว่า   พวกเขาเป็นฝ่ายมีชัยเหนือรามเซส ที่2 ด้วยเช่นกัน  จึงไม่อาจยืนยันได้ว่า  ใครเป็นฝ่ายได้ชัยชนะกันแน่   


(จารึกบนแผ่นดินเผาด้วยภาษา คูนิฟอร์ม ของชาวฮิตไทต์ ระบุว่า  พวกตนชนะสงครามต่อ รามเซส ที่ 2 – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               หลังจากนั้น  ในภูมิภาคแถบซีเรีย ก็กลายเป็นสนามรบของอียิปต์กลายๆ  ฟาโรห์หลายพระองค์เคยเดินทางมาทำสงครามแถบนี้  ไม่ว่าจะเป็น ธุทโมเซส ที่ 3  และ  รามเซส ที่ 3 ฯ  เป็นต้น

               การเดินทางมาทำสงครามที่คาเดช ต้องทัพเดินผ่าน จอร์แดน

               หลังจากนั้น โมเสส ก็นำพาชาวยิวอพยพอกจากเมือง พี ราเมเส (PI RAMESE)ทางตอนเหนือของอียิปต์  เพื่อเดินทางไปหาดินแดนแห่งน้ำผึ้งและน้ำนม ที่พระเจ้าสัญญาว่าจะมอบให้ เดินทางรอนแรมหลายสิบปีจนถึงจอร์แดน บนเขามาดาบา และมองลงไปเห็นดินแดนที่พระเจ้าสัญญาว่าจะให้อยู่ในหุบเขาเบื้องหน้า 


(จากภาพยนต์เรื่อง บัญญัติ 10 ประการ)

               ดินแดนตรงนั้น  ประมาณว่าคือประเทศอิสราเอล จนกลายเป็นปัญหาความขัดแย้งจนทุกวันนี้  

               หลังจากนั้น  เปอร์เชี่ยนก็ขยายอำนาจเข้ามาครอบคลุมตั้งแต่อียีปต์ไล่ขึ้นไป  ผ่านอิสราเอล  จอร์แดน เลบานอน  ซีเรีย และ ตุรกี   จากนั้น  เปอร์เชี่ยน ก็ยกทัพข้ามทะเลไปทำสงครามกับชาวกรีก 

               อเล็กซานเดอร์ มหาราช ยกทัพมาเอาคืนต่อพวกเปอร์เชียน   ยึดดินแดนทั้งหมดที่พวกเปอร์เชี่ยนเคยยึดครอง   แล้วตะลุยต่อเข้าไปจนถึงเปอร์เชีย   การเดินทัพก็ต้องผ่านจอร์แดน   

หลังจาก พระเจ้าอเล็กซานเดอร์ สิ้นพระชนม์อย่างกระทันหัน  อาณาจักรของพระองค์ก็ล่มสลาย  กลายเป็นอาณาจักรย่อยๆ ประวัติศาสตร์ก็ค่อยๆคลี่คลายเข้าสู่ยุคโรมันเรืองอำนาจ

               จากยุคสาธารณรัฐโรมัน  มาสู่ยุคอาณาจักรโรมัน  และเปลี่ยนมาเป็น อาณาจักรโรมันไบแซนไทน์ ที่มีเมืองหลวงอยู่ที่เมือง คอนสแตนติโนเปิล หรือ อีสตันบุลในปัจจุบัน


(เมืองโรมันโบราณ ในจอร์แดน)

               อาณาจักรไบแซนไทน์ขยายใหญ่มากจนทำร้ายตัวเอง  เพราะผู้ปกครองไม่อาจควบคุมได้ทั่วถึง  ประกอบกับมีนักรบมุสลิมที่ดุดัน บุกเข้ามาจากทางตะวันออก และสามารถยึดเมืองต่างๆเอาไว้ได้ทีละเมืองสองเมือง  จนในที่สุดก็ยึดคอนสแตนติโนเปิล 

               และเป็นการปิดฉากการขยายตัวของศาสนาคริสต์ที่จะเข้ามาครอบครองพื้นที่ อนาโตเลีย และ  ตะวันออกกลาง

กองทัพทั้งหมดก็ต้องเดินทางผ่านจอร์แดน   

               ปัจจุบัน  จอร์แดนปกครองโดยกษัตริย์จากราชวงศ์ฮาสเชไมตส์(HASHEMITES)  ซึ่งจากตำนานหรือเรื่องเล่าที่ยาวนานระบุว่า  ราชวงศ์ฮาสเชไมตส์ สืบทอดมาจาก ฮาสชิม อิบน์ อับดฺ มานาฟ(HASHIM IBN ABD MANAF) ซึ่งเป็นปูทวดๆ ของศาสดาโมฮัมหมัด(ISLAMIC PROPHET MUHAMMAD) ของศาสนาอิสลาม

               กษัตริย์ อับดุลลา ที่ 2 (ABDULLAH II) กษัตริย์องค์ปัจจุบันก็เป็นเชื้อสายราชวงศ์ ฮาสเชไมตส์ เช่นกัน

               การเจาะลึกลงไปในจอร์แดน  จึงเหมือนการเดินทางย้อนสู่อดีตอันยาวนานดินแดนแถบนี้

               สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางไปเจาะลึกจอร์แดน  กับผม ระหว่างวันที่ 10 – 17 มกราคม 2563 สามารถสอบถามหรือ สำรองที่นั่งได้ที่ 02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ LINE ID  14092498

               กลับมาส่องจอร์แดนต่อในสัปดาห์หน้านะครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .