ซอกซอนตะลอนไป (10 พฤศจิกายน 2562)
เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน6)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
คงเป็นบุญกุศลใหญ่หลวงที่พระเจ้าอโศกเคยสร้างเอาไว้ตั้งแต่อดีตชาติ จึงทำให้พระองค์สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอย่างฉับพลันทันที
จากคนที่เพิ่งจะสังหารบรรดาญาติทั้งหมด เพื่อตัวเองจะสามารถขึ้นครองราช และเพิ่งสังหารทหารฝ่ายตรงข้ามเป็นแสนๆคนในสนามรบ กลายมาเป็นคนที่เห็นคุณค่าของทุกชีวิต และดำเนินชีวิตในแนวทาง อาหิมสา (AHIMSA)คือ ไม่เบียดเบียนชีวิต ในทันทีทันใด
รายละเอียดปรากฎอยู่ในพระราชบัญญัติของพระองค์ที่จารึกบนหิน ใจความหลักก็คือ พระองค์ทรงเลิกการเสวยเนื้อสัตว์ทุกชนิด และ ประกาศห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิดภายในขอบเขตราชอาณาจักรของพระองค์
สาเหตุที่ทำให้พระองค์พลิกผันแนวความคิดอย่างทันทีทันใดนั้น ระบุกันมาหลายแนวทาง และเรื่องการได้พบกับพระอุปคุปต์ก็เป็นเรื่องหนึ่ง
อันที่จริง พระองค์เคยมีประสบการณ์ต่อพระ ในศาสนาพุทธมาก่อน เพราะตอนที่พระองค์บาดเจ็บจากการทำสงครามปราบปรามพวกกบถในเขตอุเชน(UJAIN)ในครั้งนั้น พระองค์ได้รับการดูแลรักษาพยาบาลจากพระ และ แม่ชี ในศาสนาพุทธ จนพระองค์หายเป็นปกติดี
เป็นเหตุให้พระองค์ได้พบกับหญิงสาวนางหนึ่ง นามว่า เทวี ซึ่งนับถือศาสนาพุทธ และต่อมา พระองค์ก็ได้อภิเษกกับนาง ทำให้พระเจ้าพินธุสาระ พระบิดาของพระองค์ ไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่อโศกเป็นกษัตริย์ชาวฮินดู แต่ไปแต่งงานกับชาวพุทธ
อาจเป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้พระองค์เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธอย่างง่ายดาย
จารึกบนหินของพระเจ้าอโศก ที่ เดาลี(DHAULI) เป็นคำประกาศสำคัญก้าวแรกของพระองค์ที่ดำเนินตามรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า นอกจากนี้ เหนือหินจารึกดังกล่าวขึ้นไป ยังมีรูปสลักที่พระเจ้าอโศกได้สั่งให้แกะสลักขึ้นมา
งานแกะสลักดูเรียบง่าย แต่แฝงไว้ซึ่งปรัชญาที่ลึกซึ้ง
รูปดังกล่าวก็คือ ช้าง ที่เห็นแค่เพียงส่วนหัวเท่านั้น เหมือนผู้แกะสลักเจตนาจะแกะสลักเพียงแค่นั้น หรือ อาจจะแกะไม่เสร็จหรือเปล่า
แต่มีผู้ตีความในทางปรัชญา พระเจ้าอโศกเจตนาจะแกะสลักรูปช้างอย่างที่เห็น โดยมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ก็คือ
ช้าง เป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธ กำลังดันตัวเองให้หลุดออกมาจากหิน ซึ่งมีนัยยะหมายถึง ถ้ำ หรือ ความมืด หรือ อวิชา ซึ่งเป็นเสมือน เป็นพันธนาการของมนุษย์ ที่ผูกมัดมนุษย์ให้ติดอยู่กับอวิชา
เมื่อช้างสามารถดิ้นรนจนหลุดพ้นออกมาจากพันธนาการดังกล่าวได้ ก็เหมือนกับหลุดพ้นออกมาจาก อวิชา มาสู่โลกแห่งธรรมะ โลกแห่งสัจธรรม และ ความรู้ ความสว่าง
เหมือนเช่นที่พระเจ้าอโศกได้หลุดพ้นมาจากโลกแห่งอวิชา มาสู่ โลกแห่งธรรมะ ซึ่งเป็นความรู้ที่เป็นสัจธรรมของมนุษย์
ทำให้ผมนึกถึงภาพแกะสลักของ ไมเคิลแองเจโล ในชุดแกะสลักที่ชื่อ “ทาส” ที่สร้างขึ้นหลังจากภาพสลักรูปช้างเกือบ 1800 ปี
พระเจ้าอโศก ยังตั้งปณิธาณแน่วแน่ที่จะเผยแพร่ศาสนาพุทธออกไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น ไปถึงอียิปต์ ของ ราชวงศ์ปโตเลมี , กรีกไอโอเนียน ซึ่งก็คือชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของตุรกี แถวๆเมืองเอฟฟิซัส , ซีลอน หรือ ศรีลังกา พม่า มาลายู และ เกาะสุมาตรา
และแน่นอนว่า ศาสนาพุทธได้เผยแพร่ไปทั่วประเทศอินเดียในสมัยนั้นด้วย
เหตุนี้ รัฐโอดิสสา ซึ่งเป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการประกาศศาสนาพุทธในอินเดียเป็นครั้งที่สอง จึงมีสถานปฎิบัติธรรม และ อารามต่างๆหลายแห่ง ที่เด่นชัดที่สุดก็คือ ละลิตคีรี(LALITGIRI) รัตนะคีรี(RATNAGIRI) และ อุทัยคีรี(UDIYAGIRI)
แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือที่ ละลิตคีรี ซึ่งมีพระบรมธาตุ พระเขี้ยวแก้วของพระพุทธเจ้า ประดิษฐานอยู่ที่นี่
สัปดาห์หน้า ผมจะมาเล่าให้ฟังครับ
สำหรับท่านที่สนใจจะเดินทางไปเจาะลึกโลกมหัศรรย์ คุชราฎ และ โอดิสสากับผมระหว่างวันที่ 7 – 13 กุมภาพันธ์ 2563 ติดต่อสอบถามและสำรองที่นั่งได้ที่ 02 651 6900 หรือ 088 578 6666 หรือ LINE ID 14092498 ครับ
รับจำนวนจำกัด