เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (3 พฤศจิกายน 2562)

เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               จากชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก ริมทะเลอาหรับ  ผมขอนำท่านผู้อ่านข้ามมายังชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ริมอ่าวเบงกอล ของมหาสมุทรอินเดีย มายังรัฐโอดิสสา หรือ ที่ผู้คนจะคุ้นกันในนาม  โอริสสา 

               เมืองหลวงของโอดิสสา ก็คือ  บูบาเนสชวาร์ (BHUBANESWAR)  เป็นจุดแรกที่ผมมาถึง


(รัฐโอดิสสา ลูกศรชี้อันล่าง และ รัฐพิหาร ลูกศรชี้อันบน – ภาพจากอินเตอร์เน็ต)

               ดูจากแผนที่จะเห็นว่า  เหนือรัฐโอดิสสา ขึ้นไปก็คือรัฐพิหาร(BIHAR) ดินแดนต้นกำเนิดของศาสนาพุทธ  จึงไม่น่าแปลกใจว่า  ครั้งหนึ่งศาสนาพุทธจะเคยถูกเผยแพร่เข้ามาในรัฐโอดิสสา จนมีโบราณสถานที่สำคัญทางศาสนาพุทธหลงเหลือให้เห็นจนทุกวันนี้ 

เพราะระยะทางจากเมืองบูบาเนสชวาร์ ไปถึงเมืองพุทธคยา มีระยะทางเพียง 700 กิโลเมตรเท่านั้น  

               นอกจากนี้   โอดิสสา ยังเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุด  ที่ทำให้ศาสนาพุทธได้ถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน


(อาณาจักรเมารยะ สีน้ำเงิน และ อาณาจักรคาลิงกา สีขาวด้านขวามือ-ภาพจากวิพิพีเดีย)

               ย้อนหลังกลับไปเมื่อสองพันสามร้อยปีเศษ  ในประเทศอินเดียปัจจุบันนี้  มีอาณาจักรใหญ่ที่ครองอำนาจเกือบทั้งหมดก็คือ อาณาจักรเมารยะ(MAURAYA EMPIRE)   แต่ก็มีอาณาจักรเล็กๆที่เป็นเหมือนกรวดในรองเท้าของเมารยะก็คือ  อาณาจักคาลิงกา(KALINGA EMPIRE)

               นับตั้งแต่กษัตริย์จันทรคุปต์(CHANDRAGUPTA) ผู้สถาปนาราชวงศ์เมารยะ พระองค์มีความประสงค์จะพิชิตอาณาจักรคาลิงกา มาช้านานแล้ว   เพราะอาณาจักรคาลิงกา มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ  เนื่องจากมีพื้นที่ติดชายทะเลตรงอ่าวเบงกอลเป็นแนวยาวมาก  ทำให้รัฐนี้มีการค้าขายทางทะเลกับต่างชาติมาช้านาน  โดยเฉพาะกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

               อีกส่วนหนึ่งก็เพราะ  อาณาจักรคาลิงกา ตั้งขวางอยู่บนเส้นทางคมนาคมลงใต้จากเมืองปาตะลีบุตร(PATALIPUTRA) หรือ ปัตนะ(PATNA) ในปัจจุบัน อันเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเมารยะในเวลานั้น  ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันในช่วงที่อาณาจักรเมารยะจะยกทัพลงมาทางใต้ 

               แต่นับตั้งแต่รุ่นปู่ของพระเจ้าอโศกเป็นต้นมา   การยกทัพมาทำสงคราม กับอาณาจักรคาลิงกา ทุกครั้งไม่เคยประสบความสำเร็จเลย   เพราะถูกตีโต้กลับทุกครั้ง


(พระเจ้าอโศก มหาราช – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               แต่พระเจ้าอโศก ไม่ใช่คนธรรมดา   เพราะพระองค์มีบุคลิคเฉพาะตัวที่โดดเด่นมากคือ  พระองค์เป็นคนโหดเหี้ยมอย่างยากจะหาใครเปรียบ  จนกระทั่ง  คนในยุคนั้นให้ฉายาแก่พระองค์ว่า  พระเจ้าอโศก ผู้โหดเหี้ยม (CHANDASHOKA)


(ภาพริมแม่น้ำ ดายา สมรภูมิรบที่โหดร้ายที่สุดแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               พระเจ้าอโศกยกทัพโจมตี อาณาจักรคาลิงกา ในราวปี 261 ก่อนคริสตกาล เป็นปีที่ 8 แห่งการขึ้นครองราชของพระองค์   สมรภูมิรบเกิดขึ้นที่ใกล้แม่น้ำ ดายา(DAYA RIVER)  เป็นสงครามที่นักประวัติศาสตร์ระบุว่า  รุนแรง และ โหดร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของอินเดีย

               มีข้อมูลระบุว่า  ทั้งสองฝ่ายมีทหารล้มตายเสียชีวิตประมาณข้างละ 1 แสนคน   แต่บางข้อมูลก็ระบุว่า   ฝ่ายของคาลิงกาล้มตายประมาณ 1.5 แสนคน   ยังไม่นับรวมที่บาดเจ็บ และ พิการอีกจำนวนมาก 

               เมื่อสงครามจบลง  พระเจ้าอโศก ขึ้นไปยืนบนเนินเขาเนินหนึ่ง มีชื่อว่า อัสวะทามา (ASWATHAMA) มองลงไปด้านล่างเห็นผู้คนล้มตาย นอนระเกะระกะเกลื่อนกลาดไปหมด  บ้างก็ว่า   พระองค์ได้เดินไปตามถนนในเมือง  และเห็นผู้คนล้มตาย  บาดเจ็บพิการมากมาย  

               เหมือนสวรรค์กำหนดไว้   พระองค์เกิดความเปลี่ยนแปลงในความคิดครั้งสำคัญ

เล่ากันว่า  พระองค์เห็นพระในทางศาสนาพุทธองค์หนึ่งเดินอยู่  ลักษณะท่าทางสะดุดตามาก  พระองค์จึงนิมนต์พระองค์นั้นให้มาสนทนาด้วยกัน

               พระองค์นั้นมีนามว่า  พระอุปคุปต์ (UPAGUPTA)  ซึ่งถูกระบุในจารึกที่มีชื่อ ASHOKAVADANA บ้างแปลว่า “อโศกวัฒนา” ซึ่งเป็นบทพรรณาถึงชีวิตของพระเจ้าอโศก ความยิ่งใหญ่ของพระองค์ ในฐานะที่เป็นกษัตริย์ผู้นับถือศาสนาพุทธ และ ต้องการจะเผยแพร่ศาสนาพุทธไปให้กว้างไกลที่สุด

               จารึกดังกล่าวได้รับการแปลจากภาษาสันสกฤต เป็นภาษาจีนโดยหลวงจีน ฟา เหียน(FA XIAN) ในราวปีค.ศ. 300 ซึ่งเดินทางไปประเทศอินเดียก่อนหน้าพระถังซัมจั๋งหลายร้อยปี

               พระอุปคุปต์ เป็นลูกศิษย์สายพระอานนท์(ANANDA) ผ่านทาง พระสานาวาสา (SANAWASA) ผู้ซึ่งได้รับการนับถือว่า  เป็นพระองค์ที่ 3 ในทางศาสนาพุทธสาย “เซ็น”

               พระเจ้าอโศก คงจะด้วยอารมณ์ดี  จึงได้บอกกับพระอุปคุปต์ว่า  ให้ขออะไรจากพระองค์ก็ได้   ได้รับคำตอบจากพระอุปคุปต์ว่า

               “ขอชีวิตของคนที่ตายไป กลับคืนได้มั้ย”  

               พระเจ้าอโศก ก็เกิดศรัทธาประสาทะ และเลื่อมใสในคำสอนทางศาสนาพุทธ ทันทีหลังจากที่ได้สนทนาธรรมกับกับพระอุปคุปต์ 

แล้วพระองค์ก็เปลี่ยนวิถีชีวิตไปในทันที

               สนใจเดินทางเจาะลึก “คุชราฎ และ โอดิสสา และ นมัสการพระเขี้ยวแก้ว” กับผม  ซึ่งจะนำชมสถานที่ต่างๆตามที่ผมได้เขียนในบทความนี้   สามารถติดต่อได้ที่ 026516900  หรือ  088 578 6666 หรือ LINE ID 14092498

               เราจะมีทัวร์เจาะลึกในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ครับ

               ส่วนท่านที่สนใจทัวร์เจาะลึก อียิปต์ ซึ่งเรามีออกทุกเดือน  แต่ถูกจองเต็มหมดแล้วจนถึงเดือนภุมภาพัรธ์ 2563 ครับ

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .