เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (13 ตุลาคม 2562)

เปิดโลกมหัศจรรย์ในคุชราฎ และ โอดิสสา(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เสน่ห์อย่างหนึ่งของเมืองอาห์เมดาบาด ก็คือ การเดินเท้าชมเมืองบนเส้นทางประวัติศาสตร์  ซึ่งจะต้องเริ่มกันตั้งแต่เช้า ในขณะที่ผู้คนชาวเมืองยังไม่ค่อยพลุกพล่านตามท้องถนนนัก   หากเลย 10 โมงเช้าไปแล้ว  บนถนนจะเต็มไปด้วยแผงขายของ  และ ผู้คนที่ออกมาเดินจับจ่ายใช้สอยกันจนแทบจะไม่มีที่เดิน 

               แต่เป็นความตื่นตาตื่นใจ สวยงามน่ารักไปอีกแบบ   

               จุดต่อไปของการชมก็คือ  วิหารสุริยะเทพของเมืองโมเดห์รา (SUN TEMPLE OF MODHERA)  

               ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดู จะเคารพนับถือเทพเจ้าจำนวนมากมาย  มีการคำนวณว่า  เทพเจ้าในศาสนาฮินดูมีมากกว่า 3.3 ล้านองค์ทีเดียว  ซึ่งเมื่อคำนวณจำนวนประชากรชาวอินเดียทั้งหมดจากสถิติเมื่อสองปีที่แล้ว ประชากรชาวอินเดียมีประมาณ 1300 ล้านคน   เมื่อหักลบชาวอินเดียที่นับถือศาสนาอื่นๆออกไปแล้ว  ก็จะเหลือชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูประมาณ 1 พันล้านคน

               นั่นหมายความว่า  ทุกๆชาวฮินดูอินเดีย 3 คน จะมีเทพเจ้า 1 องค์คอยดูแล  ถือว่าหรูมากทีเดียว 


(พระวิษณุ  พระศิวะ และ พระพรหม 3 มหาเทพของฮินดู- ภาพจากวิกิพีเดีย)

               แต่ในบรรดาเทพเจ้าหลายล้านองค์นั้น  มีเทพเจ้าหลักเพียง 3 องค์เท่านั้น ที่ยืนหยัดรองรับความศรัทธาของชาวฮินดูมานานจนถึงทุกวันนี้  ก็คือ พระศิวะ  พระพรหม  และ  พระวิษณุ

               มหาเทพทั้งสามองค์มีหน้าที่แตกต่างกัน  กล่าวคือ  พระพรหม เป็นผู้สร้าง  พระวิษณุ เป็นผู้ปกครอง  ผู้รักษา และ ผู้จัดการ ในขณะที่พระศิวะ เป็นผู้ทำลาย  ซึ่งน่าจะเข้ากันกับหลักวัฎจักรของการดำเนินไปของโลก   คือ  มีการสร้าง  ดำรงอยู่ และ สลายทำลายไป

               นอกจากเทพเจ้าทั้งสามองค์ที่ได้รับความเคารพจากชาวฮินดูแล้ว  เทพเจ้าอีกองค์หนึ่งที่มีความสำคัญในศาสนาฮินดูไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ  สุริยะเทพ  หรือ เทพแห่งพระอาทิตย์ (SURYA)


(สุริยะเทพ บนรถเทียมม้า 7 ตัว – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากตรงที่ พระอาทิตย์ มักจะได้การเคารพนับถือให้เป็นเทพเจ้าหลักในหลายๆศาสนาของโลก  เรื่อยมาตั้งแต่ ศาสนาอียิปต์โบราณ  ศาสนาโซโรแอสเทรียนจากอิหร่าน ศาสนากรีกโบราณ  ศาสนาโรมันโบราณ  ฯลฯ  เป็นต้น


(เทพอพอลโล ในศาสนากรีก ก็เป็นเทพแห่งดวงอาทิตย์เช่นกัน-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               อาจจะเป็นไปได้ว่า  เนื่องจากบทบาทบางอย่างของสุริยะเทพ มีความคล้ายคลึงกับพระวิษณุ  จึงทำให้มีการนับถือกันว่า  สุริยะเทพ เป็นปางหนึ่งของพระวิษณุ  ทำให้บางครั้ง สุริยะเทพได้รับการเรียกขานว่า  สุริยะ นารายัน (SURYA NARAYAN)

               นารายัน แปลว่า พระนารายณ์ ซึ่งเป็นอวตานหนึ่งของพระวิษณุ

               แม้ว่า  สุริยะเทพ จะได้รับการเคารพมาเป็นเวลาช้านานก็ตาม  แต่ในช่วงหลัง   จะเหลือพื้นที่ไม่มากนักในประเทศอินเดียที่ยังให้ความสำคัญกับ สุริยะเทพ  รัฐเหล่านี้ก็อาทิ  ราชสถาน , มัธยประเทศ  , พิหาร ,  อุตตระประเทศ   คุชราช  และ โอดิสสา 

สองรัฐหลังสุดก็คือ รัฐที่ผมกำลังจะพาท่านผู้อ่านไปสัมผัสกับโลกมหัศจรรย์อยู่ครับ 


(วิหารสุริยะเทพ แห่ง โมเดห์รา – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               วิหารสุริยะเทพที่มีชื่อเสียงที่สุดของรัฐคุชราฎก็คือ สุริยะวิหารที่โมเดห์รา 

               รัฐคุชราฎ มีพื้นที่หลายแห่งเป็นเขตที่ค่อนข้างจะแห้งแล้ง กันดาร  จะเห็นว่า  ทางเหนือของรัฐจะมีพรมแดนติดต่อกับรัฐราชสถาน ที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย 

               แต่โชคดีที่  รัฐคุชราฎอยู่ติดกับทะเล  จึงมีโอกาสได้รับอิทธิพลของลมทะเล  ที่เรียกว่า  ลมมรสุมที่นำเอาความชุ่มชื้น และ  ฝนเข้ามาบ้าง  แต่ก็ยังไม่มากเพียงพอ  ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนในเรื่องน้ำกินน้ำใช้มาตั้งแต่ยุคโบราณ  โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน  

               สถาปัตยกรรมของวิหารฮินดูส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วยอาคารย่อย 2 – 3 หลัง  อันแรกจะเป็นอาคารที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของเทวรูปประจำวิหาร  โดยทั่วไปจะเรียกกันว่า SANCTUM SANCTORUM หรือ HOLY OF THE HOLIES ซึ่งอินเดียเรียกว่า กุดดามานดาปา(GUDHAMANDAPA)

               อาคารหลังที่ 2 ที่อยู่จรงกันข้ามก็คือ อาคารสำหรับเป็นที่ชุมนุน หรือ สังสรรของผู้คนที่มากราบไหว้เทพเจ้า  และรวมถึงเป็นสถานที่ร้องรำทำเพลง  หรือ เต้นระบำเพื่อถวายแด่เทพเจ้าด้วย  อินเดียเรียกว่า ซับบามานดาปา (SABHAMANDAPA)

               คำว่า  MANDAPA ก็คือคำที่ภาษาไทยเราใช้เรียกว่า  มณฑป  นั่นเอง 

               วิหารหลังนี้ สันนิษฐานว่าสร้างในราวปีค.ศ. 1024 -1025 ในสมัยของกษัตริย์บิมา ที่ 1 แห่งราชวงศ์ ชัวลุคยา (BHIMA I OF CHAULUKYA DYNASTY)  เพื่อเป็นอนุสรณ์และเฉลิมฉลองชัยชนะของพระองค์ที่สามารถยับยั้งการรุกรานของกองทัพของ มาห์มุด แห่ง กาซนิ (MAHMUD OF GHAZNI) ที่ยกทัพมาจากเปอร์เชีย หรือ อิหร่านในปัจจุบัน  ที่พยายามจะขยายอำนาจเข้ามาในเมืองโมเดห์รา  รัฐคุชราฎ

               จนแม้กระทั่งเมื่อ มาห์มุด แห่ง กาซนี่ สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1030  พระองค์ก็ไม่สามารถยึดครอง โมเดห์ราได้   ทั้งๆที่สามารถยึดครองแคว้นปัญจาบ ซึ่งอยู่ถัดขึ้นไปจากรัฐราชสถานได้แล้ว  

               ถือเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของ ราชวงศ์ชัวลุคยา

               สัปดาห์หน้าผมจะมาเล่าเรื่องต่อถึงรายละเอียดที่สวยงามมหัศจรรย์ของ วิหารสุริยะเทพแห่ง โมเดห์รา  ซึ่งมีอาคารเก็บน้ำใต้ดินประกอบอยู่ด้วย  ทำไมถึงต้องมีอาคารเก็บน้ำใต้ดิน  โปรดรออ่านนะครับ

               สำหับท่านที่สนใจเดินทางเจาะลึก ดินแดนมหัศจรรย์ รัฐคุชราฎ และ โอดิสสา  โปรดรอสักนิดครับ  ผมเราได้วางแผนจะนำท่านไปเจาะลึกในช่วงปลายเดือนมกราคม ปีหน้า เป็นช่วงเวลาที่อากาศกำลังสบาย

               แต่สำหรับท่านที่ต้องการเจาะลึก อียิปต์ 10 วัน 7 คืน ล่องเรือสำราญ 3 คืนกับผม  ซึ่งจะมีทัวร์ระหว่างวันที่ 14 – 23 พฤศจิกายน  ติดต่อได้ที่  02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ LINE ID 14092498 

               ทัวร์รับรองความพอใจครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .