ครบเครื่องเรื่องเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของฟาโรห์(ตอน 4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (16 มิถุนายน 2562)

ครบเครื่องเรื่องเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของฟาโรห์(ตอน 4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               บัลลังก์เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่สำคัญที่สุดที่แสดงสถานะที่ยิ่งใหญ่ของฟาโรห์ มีสัญลักษณ์ และ ความหมายที่ลึกซึ้งของประวัติศาสตร์อียิปต์ตั้งแต่เริ่มบันทึกประวัติศาสตร์ แสดงอยู่บนบัลลังก์นี้

               เมื่อมงกุฎสองชั้น เป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นฟาโรห์  ข้างบัลลังก์ก็จะมีสัญลักษณ์ของการรวมชาติ หรือ  รวมแผ่นดินอียิปต์ประดับอยู่  


(รูปสลักของฟาโรห์ รามเซส ที่ 2 ในวิหาร ลักซอร์)

               เนื่องจากอียิปต์บน(UPPER EGYPT) หรือ ภาคใต้ของอียิปต์ มี ดอกบัว  พืชพื้นเมืองเป็นสัญลักษณ์  ในขณะที่ อียิปต์ล่าง(LOWER EGYPT) หรือ ภาคเหนือของอียิปต์ มีต้นปาปิรัส ที่เกิดขึ้นทั่วไปตามธรรมชาติในภาคเหนือ เป็นสัญลักษณ์


(ด้านข้างบัลลังก์ของรามเซส ที่ 2  เทพเจ้าฮาปี 2 องค์ กำลังดึงต้นดอกบัว และ ต้นปาปิรัส ที่ผูกกัน และ มัดท่อที่ส่งขึ้นไปจากปอดที่อยู่เบื้องล่าง ขึ้นไปหนุนบัลลังก์ของฟาโรห์)

               ด้านข้างบัลลังก์จึงมีภาพของการผูกมัดของพืชสองชนิด คือ  ดอกบัว และ ต้นปาปิรัส เป็นการแสดงถึงการรวมชาติของอียิปต์

               เทพเจ้าผู้ดึงลำต้นของพืชสองชนิดผูกเข้าด้วยกันก็คือ เทพเจ้าแห่งแม่น้ำไนล์  ที่เรียกว่า  เทพฮาปี (HAPI)   

               โดยปกติ  เทพเจ้าของอียิปต์จะแบ่งออกเป็นสองเพศคือ  เทพผู้ชาย และ เทพผู้หญิง   แต่เทพฮาปี เป็นข้อยกเว้น  เพราะ เทพฮาปีเป็นเทพกะเทย

               คงเป็นเพราะแม่น้ำไนล์เป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งมีชีวิตต่างๆ   ชาวอียิปต์โบราณจึงจินตนาการให้แม่น้ำไนล์เป็นเทพเจ้าที่ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตได้ด้วยตัวเอง  โดยไม่ต้องพึ่งพาเพศตรงข้าม 

               จึงกำหนดให้เป็นเทพกะเทยซะ  


(รูปสลักที่แสดงภาพเชลยศึกจากชาติต่างๆ)

               ถัดจากภาพของเทพฮาปี กำลังผูกมัดต้นดอกบัว และ ต้นปาริรัส เข้าด้วยกัน  ก็จะมีภาพของข้าศึกศัตรูของอียิปต์โบราณถูกจับมัดมือไพล่หลัง  และมีชื่อของประเทศ หรือ ชื่อของผู้นำประเทศนั้นๆ อยู่ด้านล่าง  ลักษณะของใบหน้าบอกได้ว่า  เป็นคนเชื้อชาติอะไรบ้าง  เช่น  ชนชาติเอเชียติค  ชนชาตินูเบียน  ชนชาติลิเบีย  เป็นต้น


(บัลลังก์ทองคำของฟาโรห์ ตุตัน คามุน)

               เมื่อพูดถึงบัลลังก์ของอียิปต์โบราณ  ก็ต้องมาชมบัลลังก์ทองคำของฟาโรห์ ตุตันคามุน  ที่จัดแสดงอยู่ในพิพิทภัณฑ์ไคโร ด้วย  

               บัลลังก์ดังกล่าว  ทำด้วยไม้ปิดแผ่นทองคำ และ ประดับประดาด้วยหินกึ่งอัญมณีหลากชนิด  สันนิษฐานว่า  น่าจะเป็นบัลลังก์ที่ ฟาโรห์ ตุตันคามุน เคยประทับในการออกว่าราชการ 

               ในภาพจะเห็นว่า   ขาเก้าอี้สองขาด้านหน้า มีรูปหัวสิงโตตัวเมียสองตัว โผล่ตรงระดับที่นั่งขึ้นมา  ถัดลงไปก็คือ ขาหน้าของสิงโตทั้งสอง 

               บัลลังก์ของฟาโรห์ จึงมีลักษณะเสมือนสิงโตสองตัวเอาหลังเป็นตัวค้ำยันตัวของฟาโรห์   นอกจากนี้   หลังของสิงโตทั้งสองยังเปรียบเสมือนเส้นขอบฟ้าทั้งสองด้าน  ด้านหนึ่งก็คือ  เส้นขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันออก ที่พระอาทิตย์ขึ้น   และ อีกด้านหนึ่งก็คือ เส้นขอบฟ้าทางด้านทิศตะวันตก ที่พระอาทิตย์ตก  


(เทพชู)

               เส้นขอบฟ้าแต่ละด้านจะมีเทพเจ้าสององค์คอยพิทักษ์ซึ่งก็คือ  เทพชู (GOD SHU) และ  เทพี เทปนุต (GODDESS TEPNUT) 


(เทพี เทปนุต)

               ขอบฟ้าทั้งสองด้าน เป็นสิ่งที่ชาวอียิปต์โบราณให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งผมจะได้นำมาเล่าสู่กันฟังในตอนถัดๆไป

               และการที่ฟาโรห์ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์  จึงเสมือนประทับนั่งอยู่บนท้องฟ้า  ซึ่งจะว่าไปแล้ว  ฟาโรห์ที่ประทับบนบัลลังก์  ก็จะมีสถานะเท่ากับ เทพเจ้ารา (GOD RA) หรือ  สุริยะเทพ  หรือเรียกอีกชื่อว่า  เทพอะตุม (ATUM) ผู้ให้กำเนิด  เทพชู และ เทพีเทปนุต

               บัลลังก์ของตุตันคามุนตัวนี้  มีอายุไม่ต่ำกว่า 3,300 ปี  

               สนใจเดินทางไปชมศิลปวัตถุโบราณของอียิปต์อย่างเจาะลึก กับ ผม   พร้อมบรรยายชมครบครัน  ไม่ฉาบฉวย  และ ไม่ปล่อยให้เดินชมเอง  ติดต่อได้ที่ โทร 02 651 6900 หรือ  088 578 6666 หรือ ID Line  14092498

               เรามีทัวร์อียิปต์ 10 วัน 7 คืนออกเดินทางทุกเดือนครับ 

               สนใจจะอ่านบทความ “ซอกซอนตะลอนไป” ย้อนหลังกลับไป 5 ปี ครบทุกตอน  สามารถไปอ่านได้ใน บล็อก “ซอกซอนตะลอนไป” ในเว็บไซต์ของ www.whiteelephanttravel.co.th  

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .