ซอกซอนตะลอนไป (18 พฤศจิกายน 2561 )
ผู้หญิงอียิปต์ การแต่งงาน และ ครอบครัว(ตอน1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เขียนถึงอียิปต์ในแง่มุมประวัติศาสตร์ และ โบราณคดีมามากมายหลายตอน วันนี้ขอเปลี่ยนแนวนำเอาเรื่องราวชีวิตประจำวันของชาวอียิปต์มาเล่าให้ฟังกันครับ
แม้ประเทศอียิปต์จะมีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม แต่ก็แตกต่างไปจากประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามอื่นๆหลายประเทศเช่น อิหร่าน และ ซาอุดิอาระเบีย ตรงที่ประเทศอียิปต์ใช้กฎหมายสากลในการปกครองประเทศ
ต่างกับอิหร่าน และ ซาอุฯ ที่ใช้กฎหมายศาสนา หรือที่เรียกกันว่า ชาเรีย
จึงทำให้สังคมอียิปต์โดยรวมมีความผ่อนคลายจากกฎข้อบังคับทางศาสนาค่อนข้างจะมากทีเดียว จนแทบจะเหมือนกับการปกครอง และ กฎหมายของสังคมไทย
กระนั้น วิถีชีวิตในสังคมอียิปต์ก็ยังมีความผูกพันกับหลักศาสนาค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องระเบียบ และ วิถีปฎิบัติภายในครอบครัว
และเรื่อง การแต่งงาน
ครอบครัวของชาวอียิปต์จะถือผู้ชายเป็นใหญ่ ยิ่งมีอายุมาก ก็จะได้รับการเคารพมากอย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งจะว่าไป ก็คล้ายๆกับแนวความคิดแบบขงจื่อ ของจีน
หากนับย้อนกลับไปเพียงแค่ 40 ปี เกือบทั้งหมดของครอบครัวอียิปต์ ชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวจะนั่งทานอาหารเพียงลำพังคนเดียว ในขณะที่สมาชิกคนอื่นๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งภรรยาของเขาจะต้องนั่งรออยู่ห่างๆอย่างเงียบๆ
บรรดาเด็กๆตัวเล็กตัวน้อย ห้ามส่งเสียงเอะอะรบกวนการทานอาหารโดยเด็ดขาด
จนเมื่อหัวหน้าครอบครัวทานเสร็จแล้ว คนอื่นๆจึงจะสามารถทานอาหารได้
ลูกชายที่แม้จะมีครอบครัว มีลูกมีเมียแล้ว และมีอำนาจมากที่สุดในครอบครัวของตัวเองประหนึ่งพญาราชสีห์ แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าบิดาก็กลายสภาพเป็นแมวเชื่องๆตัวหนึ่ง ที่แทบไม่กล้ามองสบตาบิดาเวลาบิดาว่ากล่าวตักเตือนเลยทีเดียว
จะพูดได้ก็แต่เพียงคำว่า “ครับ” อย่างแผ่วเบาเท่านั้น
ผู้ชายจึงมีบทบาทเป็นผู้นำ และ ถืออำนาจใหญ่สุดในครอบครัว แม้กระทั่งบทบาทในการครองคู่ หรือ การเป็นสามี
ตามหลักศาสนาอิสลาม กำหนดให้ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้พร้อมกันถึง 4 คน เพียงแต่มีข้อกำหนดว่า จะต้องปฎิบัติต่อภรรยาทั้งสี่อย่างเท่าเทียมกัน
แม้อียิปต์จะปกครองด้วยกฎหมายสากล แต่ก็มีกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้พร้อมกัน 4 คน สอดคล้องกับข้อบัญญัติทางศาสนาด้วย
ผมเคยพูดคุยสอบถามสุภาพสตรีที่ทำงานเป็นมัคคุเทศก์หลายคนว่า หากเธอแต่งงานแล้วสามีต้องการจะมีภรรยาเพิ่มอีก เธอจะยอมหรือไม่ ได้รับคำตอบแนวเดียวกันหมดว่า
“ข้ามศพชั้นไปก่อน”
หมายความว่า ไม่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร เธอก็ไม่ยอม
แต่หากสามียืนยันต้องการจะมีภรรยาเพิ่มอีก และภรรยาไม่ยินยอม ในกรณีนี้ ภรรยาก็จะต้องไปฟ้องศาลขอหย่ากับสามี
เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งว่า ในการหย่าร้างของสามีภรรยานั้น มิได้ใช้กฎการแบ่งครึ่งทรัพย์สมบัติที่มีอยู่แบบที่โลกตะวันตกนิยมใช้กันอยู่ แต่สังคมอียิปต์มีประเพณีปฎิบัติที่ยืดถือสืบต่อกันมาอีกแบบหนึ่ง
กล่าวคือ ในตอนแต่งงาน จะมีการทำสัญญากันระหว่างฝ่ายชาย และ ฝ่ายหญิงว่า หากมีการหย่าร้างกันในอนาคต ฝ่ายชายจะจ่ายเงินชดเชยให้แก่ฝ่ายหญิงจำนวนมากน้อยเพียงใด
บางรายก็กำหนดให้ฝ่ายชายต้องจ่ายเงินให้กับฝ่ายหญิงก้อนหนึ่ง มากน้อยแล้วแต่จะตกลง ในขณะที่บางราย อาจจะไม่ระบุจำนวนตัวเลขเลย เพราะต้องการวัดใจลูกเขยของตัวเอง
มีบางรายที่ผมรู้จักกำหนดวงเงินที่ 2 หมื่นปอนด์อียิปต์ (หากคิดอัตราแลกเปลี่ยนในวันนี้ก็จะประมาณ 4 หมื่นบาท) แต่หากเป็นเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้วก็จะตกประมาณ 1 แสน 6 หมื่นบาทโดยประมาณ
ยังไม่นับค่าเลี้ยงดูรายเดือนของเธออีกต่างหาก รวมทั้งค่าเลี้ยงดูบุตรในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นผู้ดูแลบุตรด้วย
ผมไม่แน่ใจว่า เพราะเหตุนี้หรือไม่ จึงทำให้ประเทศอียิปต์ได้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการหย่าร้างมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของโลกไปแล้ว
สัปดาห์หน้า ผมจะเล่าต่อครับ
สำหรับท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์กับผม ระหว่างวันที่ 6 – 15 ธันวาคม นี้ ติดต่อได้ที่ 02 651 6900 หรือ 088 578 6666 หรือ ID Line 14092498
แล้วพบกับการบรรยายชมอย่างเจาะลึกกันครับ