บินโลว์ คอสต์เจตนาสร้างความเดือดร้อนให้ผู้โดยสารเพื่อสร้างรายได้(ตอน2)

ซอกซอนตะลอนไป                           (14 เมษายน 2562)

บินโลว์ คอสต์เจตนาสร้างความเดือดร้อนให้ผู้โดยสารเพื่อสร้างรายได้(ตอน2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               การที่สายการบินต้นทุนต่ำ  ขายที่นั่งบนเครื่องบินได้สองครั้งในเที่ยวบินเดียว  ไม่ใช่ความผิด  แต่การที่ขายที่นั่งบนเครื่องบนหน้าเคาท์เตอร์ในราคาที่แพงเท่า หรือ เกือบจะเท่ากับราคาของสายการบินปกติ  

               ผมคิดว่า  ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคที่ซื้อตั๋วที่เคาท์เตอร์ เพราะผู้ซื้อจ่ายในราคาสายการบินราคาปกติ  แต่ได้รับการบริการ  และการคุ้มครองแบบสายการบินต้นทุนต่ำ

               เรื่องอาหารบนเครื่องบิน และ น้ำหนักที่โหลดนั้นไม่ต้องพูดถึง  แต่พูดถึงในกรณีเครื่องบินมีปัญหา  ไม่สามารถต่อเครื่องได้ทันเวลา  หรือ สายการบินยกเลิกไฟลท์บินไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม   เป็นเหตุให้ผู้โดยสารต้องพักค้างคืนต่อ  ใครจะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย  และรวมถึงการประกับภัยและ อุบัติเหตุต่างๆอีกด้วย    

               ควรอย่างยิ่ง  ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จะกำหนดเพดานราคาสูงสุดของสายการบินต้นทุนต่ำ ว่าจะเรียกราคาสูงสุดได้เท่าไหร่ 

               ความเลวร้ายของสายการบินต้นทุนต่ำยังไม่หมดแค่นั้น 


(สถานที่ท่องเที่ยวในญี่ปุ่น จุดหมายปลายทางสุดฮิตของคนไทย)   

               ผมได้รับการบอกเล่า เชิงร้องเรียนจากหัวหน้าทัวร์หลายคนที่นำทัวร์ไปประเทศญี่ปุ่น ด้วยสายการบินต้นทุนต่ำ  ซึ่งกำหนดให้ผู้โดยสารแต่ละคนสามารถเอาสัมภาระโหลดขึ้นเครื่องได้ในจำนวนกิโลกรัมที่น้อยมา   ตามมาตรฐานของสายการบินต้นทุนต่ำ 

               ซึ่งไม่ผิด  เพราะเป็นจ้อตกลงที่ยอมรับกันทั้งสองฝ่าย  คือ  สายการบินและผู้โดยสาร

               ผู้โดยสารจึงขอซื้อน้ำหนักเพิ่ม   เพราะรู้ว่าตัวเองจะซื้อของกินของใช้กลับมาจากญี่ปุ่นมากพอสมควร   หลังจากมาทำการเช็คอินที่สนามบินญี่ปุ่นตอนขากลับ   เรื่องตลกแต่ขำไม่ออก  และเป็นสิ่งพิสดารมหัศจรรย์ของวงการบินก็เกิดขึ้น


(การตลาดของสายการบินต้นทุนต่ำก็คือ   ราคาที่ถูกอย่างมากๆ- ภาพไม่เกี่ยวกับเรื่อง)

               เจ้าหน้าที่เช็คอินของสายการบินต้นทุนต่ำที่ว่านี้  ก็สั่งให้ผู้โดยสารเอากระเป๋าทั้งหมด  ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าที่จะโหลดเข้าใต้ท้องเครื่องบิน  และ กระเป๋า HAND CARRY  หรือกระเป๋าที่ผู้โดยสารถือติดตัวขึ้นเครื่อง มาชั่งรวมกันทั้งหมด

               แน่นอนว่า  น้ำหนักทั้งหมดย่อมเกินกว่าที่ผู้โดยสารซื้อเพิ่มจากสายการบิน  จะต้องจ่ายค่าปรับน้ำหนักเกินเป็นหมื่นบาททีเดียว 

               มิใยว่า  ผู้โดยสารจะอธิบายอย่างไรว่า  กระเป๋าที่ถือขึ้นเครื่องนั้น  โดยปกติ  สายการบินทุกสายเขาอนุญาตให้ถือขึ้นเครื่องได้ด้วยขนาดน้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัมต่อคน    

               ไม่ว่าผู้โดยสารจะขอร้องอย่างไรก็ตาม   พนักงานเช็คอินของสายการบินก็ไม่ยอมลดราวาศอก   ยืนยันจะเก็บเงินค่าน้ำหนักเกินลูกเดียว  ไม่งั้นจะไม่ให้ขึ้นเครื่องบิน

               ในที่สุด  ผู้โดยสารก็จำใจต้องจ่ายเงินค่าปรับเป็นหมื่นบาทไป


(เว็บไซต์ ของ สคบ มีเบอร์สายด่วน  แต่ทำงานรับเรื่องไม่ด่วนเลย)

               คำถามของผู้โดยสารก็คือ  ปกติทุกสายการบินจะอนุญาตให้ผู้โดยสารถือกระเป๋าขึ้นเครื่องได้คนละอย่างน้อย 1 ใบ  น้ำหนักไม่เกิน 7 กิโลกรัมต่อชิ้น ซึ่งแยกต่างหากไม่นับรวมกับน้ำหนักกระเป๋าที่โหลดเข้าใต้ท้องเครื่องบิน

               แต่ทำไม  สายการบินต้นทุนต่ำสายนี้  จึงถืออำนาจบาตรใหญ่ในการสั่งให้ผู้โดยสารเอากระเป๋าถือขึ้นเครื่อง มาชั่งรวมกับกระเป๋าที่จะโหลดขึ้นเครื่องด้วย  จนทำให้น้ำหนักรวมเกินกว่าที่สายการบินอนุญาต  จะทำให้ต้องจ่ายค่าน้ำหนักเกิน

               หรือ  เดี๋ยวนี้  สายการบินไม่มีมาตรฐานในการบริการแล้ว  คิดอยากจะทำอะไร  ออกกฎอะไรตามใจชอบก็ทำได้ทุกอย่างกระนั้นหรือ

               เรื่องแบบนี้   ผมไม่ทราบว่า  สคบ จะเคยได้รับการร้องเรียนบ้างหรือไม่

               แต่จากประสบการณ์ของผม  เมื่อต้องการจะร้องเรียนไปยัง สคบ  ก็พบว่า  เบอร์โทรบางสายที่ขึ้นบนหน้าเว็บ ไซต์ ของ สคบ  ยังไม่ได้เปิดใช้ด้วยซ้ำ 


(เบอร์โทรติดต่อของ สคบ บางเบอร์ยังไม่ได้เปิดใช้เลยด้วยซ้ำ)

               นอกจากนี้  เมื่อมีเจ้าหน้าที่รับ “สายด่วน”  ก็ดูเหมือนว่า  มันด่วนแต่เพียงชื่อ  เจ้าหน้าที่จะไม่ค่อยเต็มใจให้การบริการแบบด่วนเลย   บอกแต่เพียงว่า  ให้มาเขียนคำร้องที่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  ที่ศูนย์ราชการ  ซึ่งไม่ง่ายนักสำหรับประชาชนชั่วไปจะไปถึงที่นั่น   เพียงเพื่อร้องเรียนการถูกเอาเปรียบในมูลค่าเพียงไม่กี่พันบาท

               ทั้งๆที่ประเทศไทยก็ประกาศแล้วว่า  ไทยแลนด์ 4.0   แต่ สคบ  ทำงานเหมือนยังอยู่ในระบบราชการ 0.4 เมื่อ 30 ปีที่แล้ว 

               ทำไมไม่เอาความได้เปรียบของเทคโนโลยี่ มาใช้ในการร้องเรียนละครับ 

               ทำงานกับแบบนี้   บรรดาพวกหลอกขายของออนไลน์ทางเฟซบุ๊ค ถึงได้มั่งคั่งร่ำรวยเอาๆ  เพราะหลอกเอาเงินมาก่อน  ถึงตอนจะคืนสินค้าก็ยากเย็นแสนเข็ญ ไม่เหมือนตอนซื้อเลย 

               เงินตราจึงไหลออกนอกประเทศกับโครมๆ แต่สินค้าที่ผู้ซื้อได้รับกลับใช้ไม่ได้  

               ไม่รู้ว่าจะเขียนเรื่องการหลอกขายของออนไลน์ จะดีมั้ย

               หากใครมีประสบการณ์ หรือ ถูกการขายของออนไลน์ฉ้อโกง   ก็เขียนมาเล่าให้ฟังบ้างนะครับ ที่อีเมล์ csetthawith@gmail.com 

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *