ซอกซอนตะลอนไป (7 เมษายน 2562)
บินโลว์ คอสต์เจตนาสร้างความเดือดร้อนให้ผู้โดยสารเพื่อสร้างรายได้(ตอน1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
สัปดาห์นี้ ขอนำเรื่องการเอาเปรียบผู้โดยสารอย่างไร้คุณธรรมของสายการบินโลว์ คอสต์ มาเล่าสู่กันฟังครับ และไม่คาดหวังให้หน่วยงานไหนของรัฐมาแก้ปัญหานี้นะครับ
หลังจากที่มีธุรกิจสายการบินโลว์ คอสต์ หรือ สายการบินต้นทุนต่ำออกมาให้บริการในประเทศไทยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว แนวทางการบริการของระบบสายการบินก็เปลี่ยนไป
จากที่เคยมีอาหารเครื่องดื่มเสริฟบนเครื่องบิน ผู้โดยสารก็ต้องจ่ายเงินสั่งซื้อเอง หนำซ้ำ สายการบินยังห้ามไม่ให้ผู้โดยสารนำเครื่องดื่ม และ อาหารของตัวเองขึ้นไปทานบนเครื่องด้วย
สัมภาระที่เคยโหลดขึ้นเครื่องได้ ก็ต้องจ่ายเงินซื้อน้ำหนัก
ร้ายไปกว่านั้น แม้แต่ที่นั่งบนเครื่องบิน ผู้โดยสารก็ไม่สามารถเลือกเองได้ หากจะเลือกก็จะต้องจ่ายเงินซื้ออีกต่างหาก
จนเมื่อประมาณ 7 – 8 ปีที่แล้ว กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคสภาผู้แทนราษฎร์ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนเกี่ยวกับความเดือดร้อนที่สายการบินโลว์ คอสต์ในประเทศไทย เจตนากลั่นแกล้งผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วมาด้วยกัน และ เช็คอินพร้อมกัน แต่ถูกเจ้าหน้าที่เช็คอิน กลั่นแกล้งกระจายที่นั่งให้ไปนั่งข้างหน้าหนึ่งคน ข้างหลังหนึ่งคน แทบจะทั่วทั้งลำ
ถ้าเป็นผู้โดยสารผู้ใหญ่ที่เดินทางด้วยกันก็พอทำเนา แต่ในกรณีแม่พาลูกอายุไม่ถึง 10 ขวบมาด้วยกัน สายการบินก็ยังจับแยกกัน บางครั้งเด็กไม่ค่อยสบายและจะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องทานยาตามเวลา กรณีนี้ มันเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อเด็กอย่างมาก
ยังไม่พูดถึง หากเกิดเหตุฉุกเฉินเครื่องบินขัดข้อง ใครจะเป็นคนดูแลเด็กคนนั้น
คณะกรรมาธิการฯ จึงเรียกสายการบินโลว์ คอสต์ หลายสายให้มาชี้แจง และได้รับการยืนยันจากสายการบินว่า จะยกเลิกมาตรการที่ให้ผู้โดยสารต้องจ่ายค่าจองที่นั่งล่วงหน้า โดยจะใช้ระบบใครมาเช็คอินก่อนก็สามารถเลือกที่นั่งได้ก่อน
ซึ่งยุติธรรมดี
แต่ดูเหมือนว่า ระบบการจ่ายเงินที่ว่านี้ ได้กลับมาอาละวาดอีกครั้งในขณะนี้ ทำเหมือนประเทศไทยไม่มีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างนั้นแหละ
จากแต่ก่อน การจองที่นั่งล่วงหน้า ผู้โดยสารจะจ่ายเพียงที่นั่งละ 100 บาทต่อเที่ยวต่อคน เดี๋ยวนี้ สายการบินโลว์ คอสต์ มีวิธีการหาเงินที่หนักข้อกว่านั้นคือ
หากคุณต้องการจองที่นั่งล่วงหน้า นอกจากจะต้องจ่ายเงินค่าเลือกที่นั่งแล้ว ยังจะถูกบังคับให้ต้องจ่ายเงินซื้ออาหารเครื่องดื่มบนเครื่องบินด้วย หากไม่ซื้ออาหาร ก็ไม่สามารถจองที่นั่งล่วงหน้าได้
เข้าข่ายซื้อเหล้าพ่วงเบียร์ ประมาณนั้น
ทำให้จากเดิมที่เคยจ่ายที่นั่งละ 100 บาท กลายเป็นต้องจ่าย 500 บาท อาหารเครื่องบินแพงจริงๆ
มิใยว่า ผู้โดยสารคนที่ต้องการจะจองที่นั่งจะเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ขวบ ที่ต้องนั่งกับผู้ปกครองหรือไม่ก็ตาม
สายการบินโลว์ คอสต์เหล่านี้ เคยแถลงต่อกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อ 7 – 8 ปีที่แล้วว่า แม้ว่าจะได้ชื่อว่า สายการบินต้นทุนต่ำ แต่กำรี้กำไรของสายการบินต้นทุนต่ำเหล่านี้ ไม่ได้ต่ำ ตามชื่อเลย
จะว่าไป เขามีกำไรมากกว่าสายการบินธรรมดาแบบสายการบินไทยด้วยซ้ำ
แม้ว่า สายการบินโลว์ คอสต์เหล่านี้ จะเปิดให้จองตั๋วล่วงหน้านานหลายๆเดือนในราคาที่ถูกจริงๆ แต่เชื่อมั้ยครับ ตั๋วที่จองล่วงหน้านานๆเหล่านี้ มีสถิติของการปล่อยทิ้งเพราะเจ้าตัวไม่สามารถเดินทางในวันนั้นได้เป็นจำนวนมาก
ทำให้สายการบินโลว์ คอสต์ สามารถขายตั๋วใบนั้นได้อีกครั้งให้กับผู้โดยสารท่านอื่นที่จำเป็นต้องเดินทางในวันนั้น และ ต้องซื้อตั๋วที่เคาท์เตอร์เช็คอินโดยตรง ในราคาที่อาจจะแพงเท่ากับราคาของสายการบินปกติด้วยซ้ำ
หมายถึง สายการบินจะมีรายได้สองครั้งในการขายตั๋วที่นั่งเดียว และ ราคาขายครั้งที่สองจะแพงพอๆกับสายการบินปกติ (ผมจะพูดถึงเรื่องความไม่เป็นธรรมนี้ในตอนหน้าครับ)
อย่างไรก็ตาม การทำกำไรสองต่อจากที่นั่งเดียว เป็นเรื่องปกติที่สามารถรับได้ในการทำธุรกิจ
แต่การที่สายการบิน เจตนาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้โดยสารก่อน เพื่อบีบให้เขาต้องจ่ายเงินซื้อความสะดวก เป็นเรื่องที่วิญญูชนไม่น่าจะรับได้
เรื่องเอาเปรียบผู้บริโภคแบบนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เคยได้รับการร้องเรียนหรือไม่ และ เคยสนใจจะเข้าไปจัดการแก้ปัญหาหรือเปล่า
สัปดาห์หน้าจะมาพูดต่อถึงเรื่องการเอาเปรียบสุดๆของสายการบินโลว์ คอสต์ครับ