ซอกซอนตะลอนไป (17 มีนาคม 2562)
บทโรแมนติคแบบอินเดีย
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ผมเพิ่งกลับจากเมืองออรังกาบาด เมืองแห่งถ้ำอาชันตา ซึ่งเป็นถ้ำทางศาสนาพุทธ และ ถ้ำเอลลอร่า ที่มีถ้ำหลายชนิด ตั้งแต่พุทธ ฮินดู และ ศาสนาเชน ที่เลื่องชื่อไปทั่วโลก
สังเกตเห็นว่า ปัจจุบัน คนอินเดียเริ่มท่องเที่ยวตามโบราณสถานมากขึ้น มากกว่าแต่ก่อนเยอะทีเดียว ไม่เพียงแต่เที่ยวในประเทศเท่านั้น แต่ที่พบมาก็เช่นในประเทศอียิปต์
และเมื่อชาวอินเดียพบเห็นคนต่างชาติ โดยเฉพาะคนไทย เขาจะแสดงน้ำใสไมตรีทันที และมักจะเข้ามาขอถ่ายรูปด้วย
บังเอิญเห็นหญิงชายอินเดียคู่หนึ่งมาเดินเที่ยวอาชันตาด้วยกัน จากเครื่องแต่งกายที่เห็น ผมเดาว่า น่าจะเป็นคู่ที่เพิ่งแต่งงานกันหมาดๆ เลยถามไกด์ท้องถิ่น ได้รับคำตอบว่า ทั้งสองเพิ่งจะแต่งงานกันจริง
ก็ดูเครื่องแต่งกายฝ่ายชายซิ ยังกะพระเอกหนังจักรๆวงศ์ๆ ทางทีวีช่อง 7 เรื่อง สิงหไกรภพ เลยทีเดียว
การแต่งงานของชาวอินเดียในอดีต ฝ่ายหญิงจะต้องเป็นผู้ขอฝ่ายชายแต่งงาน พร้อมด้วยสินสอดทองหมั้นจำนวนพอสมควรตามแต่ฐานะของฝ่ายชาย เช่น ถ้าฝ่ายชายมีการงานดี เช่นเป็นหมอ รับราชการตำแหน่งดีๆ ฝ่ายหญิงก็จะถูกเรียกค่าสินสอดทองหมั้นกันจนแทบจะหมดเนื้อหมดตัว หรือ จนครอบครัวล่มจมลงไปก็มี
จนแทบจะไม่มีครอบครัวไหนอยากมีลูกผู้หญิงอีกเลย
เรื่องนี้เป็นปัญหาในระดับชาติของอินเดีย จนทำให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาและมีการออกมารณรงค์เรียกร้องกัน เดี๋ยวนี้ เรื่องเงินสินสอดทองหมั้นที่ฝ่ายหญิงต้องจ่ายก็ลดน้อยลง จะมีเพียงก็ในชนบทที่ห่างไกลความเจริญและการศึกษาเท่านั้น
ประเพณีการแต่งงานของชาวอินเดียส่วนใหญ่ มักจะผ่านการจัดการโดยพ่อแม่ และ ญาติพี่น้องทั้งนั้น และระบบนี้ก็ยังทำงานอย่างเข้มแข็ง ประมาณว่า กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคู่แต่งงานชาวอินเดีย จะผ่านการจัดการของบิดามารดาของทั้งสองฝ่ายทั้งสิ้น
ไกด์ท้องถิ่นของผมเล่าเรื่องชีวิตคู่ชาวอินเดียให้ผมฟังว่า
ทุกเช้า ภรรยาจะตื่นนอนก่อนสามี จากนั้นเธอก็จะอาบน้ำ และ สระผม
โดยปกติ ผู้หญิงอินเดียมักจะไว้ผมยาว ดังนั้น กว่าผมจะแห้งสนิทต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน จึงมีโมเมนต์แห่งความโรแมนติดเกิดขึ้น
ภรรยาจะสะบัดผมที่ยาว และ เปียกเล็กน้อยให้ผ่านใบหน้าของสามีที่นอนอยู่บนเตียง เป็นการปลุกสามีให้ตื่นขึ้น
เป็นการปลุกแบบสร้างสรรค์ และ โรแมนติค ในแนวอินเดีย
จากนั้นภรรยาก็จะทำการรดน้ำต้นไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นกะเพรา ที่ปลูกในบ้าน และต้องทำการบูชาต้นกะเพราด้วย
ชาวฮินดู จะนับถือต้นกะเพราว่าเป็นต้นไม้ศักดิสิทธิ์ เหมือนเป็นต้นไม้ของเทพเจ้า จึงมักจะใช้ใบกะเพราในการบูชาเทพเจ้าด้วย
ด้วยเหตุนี้ เมื่อทัวร์ไทยไปอินเดียและต้องการทานไก่ผัดใบกะเพรา จึงเป็นเรื่องที่กระอักกระอ่วนใจต่อพ่อครัวเป็นอย่างยิ่งที่จะทำเมนูที่ว่านี้ โดยเฉพาะ พ่อครัวที่เคร่งในศาสนาฮินดู
เพราะเขาคิดว่า ใบกะเพรา ไม่ใช่ใบไม้ที่จะเอามาทานกัน แต่เป็นใบไม้ที่จะถวายแด่เทพเจ้า
เมื่อรดน้ำเสร็จ ฝ่ายหญิงก็จะต้องทำอาหารเช้าให้สามี ส่วนใหญ่จะมีอาหารประเภทแป้งเป็นหลัก ทำเป็นแผ่นเหมือนแผ่นโรตี ที่เรียกกันว่า ชาปาตี(CHAPATI)
การทำอาหารเช้าด้วยแป้งของชาวฮินดูแบบนี้ มีประเพณีที่ยึดถือกันมายาวนานก็คือ ชาปาตีแผ่นแรก จะต้องให้แก่วัว
ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู วัวก็คือ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพาหนะของพระศิวะ ที่เรียกกันว่า นนทิ (NANDI) เมื่อชาวฮินดูนับถือพระศิวะ ก็ต้องนับถือวัวนนทิ ที่เป็นพาหนะของพระศิวะด้วย
ชาปาตีแผ่นที่สองจะทำให้แก่ สุนัขที่เลี้ยงในบ้าน หรือ สุนัขในบริเวณใกล้เคียง เป็นความหมายของการเผื่อแผ่ความเมตตาแก่สัตว์โลก
จากนั้น ชาปาตี แผ่นที่ 3 นั่นแหละ ถึงจะเป็นของคุณสามี เป็นแนวคิดทางศาสนาฮินดูที่พยายามสั่งสอนให้คนพิจารณาจากภายนอก หรือ จากสังคมเข้ามาหาตัวเอง แทนที่จะคิดจากตัวเองออกไปหาสังคม
แต่ประเพณีดังกล่าว ค่อยๆจางหายไป โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆที่ยากแม้กระทั่งจะหาวัว หรือ หมาสักตัวที่จะให้ทานชาปาตี
แต่สำหรับในชนบทที่อยู่ห่างไกลมากๆ ประเพณีของคู่แต่งงานชาวอินเดียแบบนี้ ยังคงมีความเข้มแข็งอยู่
ว่ากันว่า แม้กระทั่งความโรแมนติดของการสะบัดผมให้โดนหน้าสามีก็ยังทำกันอยู่
สวัสดี