ย้อนเวลา 4 พันปี อียิปต์โบราณ ที่ซัคคารา(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                           (26 สิงหาคม 2561 )

ย้อนเวลา 4 พันปี อียิปต์โบราณ ที่ซัคคารา(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อไปชมเมืองโบราณเมมฟิส  ซึ่งเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของอียิปต์โบราณที่มีอายุกว่า 5000 ปีแล้ว   ที่จะพลาดชมไม่ได้เป็นรายการต่อไปก็คือ  พีระมิดแบบขั้นบันได ที่ซัคคารา 

(พีระมิดแบบขั้นบันไดที่ซัคคารา)

               แน่นอนว่า  ความสำคัญของพีระมิดแห่งซัคคารา นั้นอยู่ที่  มันเป็นสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ที่ทำด้วยหินเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์อียิปต์โบราณ 

               พีระมิดแห่งนี้เองที่กลายเป็นรากฐานในการสร้างพีระมิดแบบฉาบเรียบ 3 องค์ที่เมืองกีซ่าในเวลาต่อมา  หากไม่รู้จักพีระมิดแบบขั้นบันไดที่นี่ก่อน   ก็ยากที่จะเข้าใจที่มาของพีระมิดแห่งกีซ่าได้ 

               พีระมิดขั้นบันไดที่ซัคคารา สร้างโดยฟาโรห์ซอร์เซอร์(DJOSER) ของราชวงศ์ที่ 3 จากยุคอาณาจักรเก่า ในราว 2650 ปีก่อนคริสตกาล  หรือประมาณ 4500 ปีที่แล้ว

               แต่สิ่งที่ผมประทับใจมากๆเมื่อไปที่ซัคคาราก็คือ  มัสตาบา 

               มัสตาบา  คืออะไร 


(โครงสร้างของ มัสตาบา ที่ลึกลงไปใต้ดินก็คือ  ห้องเก็บศพ – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               มัสตาบา ก็คือ  สุสานของฟาโรห์ในยุคแรกๆ หรือ ของขุนนางชั้นสูงของอียิปต์โบราณ โดยที่เขาจะสร้างเป็นอาคารทำด้วยหินทรงสี่เหลี่ยมครอบลงไปบนหลุมฝังศพที่ขุดลึกลงไปในดิน

               มัสตาบา ที่น่าชมที่ซัคคารามีอยู่ด้วยกัน 2 แห่ง  คือ  มัสตาบา ของ คาเกมนิ(KA GEMNI) จากราชวงศ์ที่ 6  และ  มัสตาบาของ แมรีรุคคา(MERERUKA) จากราชวงศ์ที่ 6 เช่นกัน


(มัสตาบา ที่ซัคคารา )

               ราชวงศ์ที่ 6 ของอียิปต์โบราณ ถือเป็นช่วงปลายของยุคพีระมิด  และ กำลังเข้าสู่ยุคเสื่อมของฟาโรห์  ก่อนที่จะล่มสลายกลายเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจของผู้ปกครองในราชวงศ์ที่ 7 

               ทั้งสองมีตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี(VISIER) ในยุคนั้น  จึงถือว่าเป็นบุคคลสำคัญ  ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่เขาจะมีสุสานที่สร้างอย่างสวยงามในแบบของมัสตาบา ด้วย

               วันนี้  เราจะเข้าไปชม มัสตาบา ของ คาเกมนิ กัน


(รูปสลักภายในมัสตาบา ซึ่งเป็นภาพของ คาเกมนิ )

               คาเกมนิ แต่งงานกับพระธิดาของฟาโรห์ เตติ (TETI)  ทำให้สถานะของเขามีความแข็งแกร่ง และ มีความมั่นคงมาก  นอกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว    เขายังได้รับตำแหน่งที่สูงส่งหลายตำแหน่ง   อาทิ  เจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลท้องพระคลังทองคำ  และ  เป็นผู้ควบคุมดูแลท้องพระคลังสมบัติอื่นๆอีกด้วย 

               นอกจากนี้   เขายังมีตำแหน่งเป็น หัวหน้านักบวชของวิหารแห่งเทพรา(RA) และ วิหารแห่งเทพมิน(MIN)  ซึ่งสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้แก่เขาเป็นอย่างยิ่ง 

               ตามผนังภายในมัสตาบา  จะมีภาพสลักบนหินปูน บันทึกเรื่องราวของผู้เป็นเจ้าของสุสานว่า  ในตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่เคยทำอะไรบ้าง 


(รายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เช่น ฮิปโปฯ กำลังกัดหัวของจระเข้  เป็นสิ่งที่ศิลปินในยุคนั้นบันทึกเอาไว้)

               ถ้าเทียบกับในยุคปัจจุบันนี้ก็คงประมาณหนังสือแจกงานศพ  หรือไม่ก็  อัลบั้มภาพถ่ายเก่าๆของผู้ตายนั่นเอง 

               มัสตาบาที่ผมเข้าไปบ่อยก็ คือ  มัสตาบา ของคาเกมนิ  ซึ่งยังมีสีสันที่ลงเอาไว้ตั้งแต่ยุคเมื่อ 4 พันปีที่แล้วให้เห็นอย่างชัดเจน

               จุดแรกที่เราจะได้เห็นก็คือ  ภาพสลักนูนต่ำที่แสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวอียิปต์ในยุคนั้นคือ  การจับสัตว์น้ำในแม่น้ำไนล์  ซึ่งน่าจะยังมีความอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง 


(ภาพคนงาน หรือ คนรับใช้ของคาเกมนิ กำลังจับสัตว์น้ำจากแม่น้ำไนล์  โดยที่คนหน้าสุดจะเปลือยกาย แต่สวมวิกผม)

               ภาพสลักทำให้เราได้เห็นว่า  บรรดาคนงานบนเรือที่ทำหน้าที่จับปลาด้วยเครื่องมือต่างๆนั้น   ปกติจะมีผ้าชิ้นเล็กๆปิดอวัยวะท่อนล่างเอาไว้คล้ายๆกางเกงของมวยปล้ำซูโม่  แต่บางคนก็เอาผ้าที่ปิดท่อนล่างขึ้นมาพันไว้ที่หน้าอกแทน   เข้าใจว่า  คงไม่ต้องการให้ผ้าเปียก

               ที่น่าสนใจก็คือ   คนงานทุกคนจะสวมวิกผม   แสดงว่า   วิกผม มีใช้กันมานานตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณกว่า 4 พันปีที่แล้ว 

               แต่ อียิปต์ ยังมีอะไรที่เกินจินตนาการของคนยุคนี้อีกเยอะ   หากสนใจจะร่วมเดินทางเจาะลึกอียิปต์กับ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ซึ่งมีทัวร์ไปอียิปต์ทุกเดือน  เดือนละกรุ๊ป   ก็สามารถติดต่อได้ที่โทร 02 651 6900  หรือ  088 578 6666  หรือ ID Line  14092498

               หรือจะเข้าไปดูในเว็บไซต์ ที่  www.whiteelephanttravel.co.th  ก็ได้ครับ

               สำหรับเดือนกันยายนนี้ จะออกเดินทางวันที่ 13 – 22 กันยายน ครับ   ผมจะเป็นผู้บรรยายชมทุกกรุ๊ป    

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *