ซอกซอนตะลอนไป (1 ตุลาคม 2560 )
โรงพยาบาลเอกชนไทย ขุมทองของเจ้าของไร้เมตตา (ตอนจบ)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
วิธีการหนึ่งที่โรงพยาบาลเอกชนชื่อดังๆจะรีดทรัพย์จากคนไข้ก็คือ การให้การรักษา หรือ การให้ยา “เกินความจำเป็น”
เพื่อนคนหนึ่งของผม พาหลานวัยรุ่นเข้าโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังด้วยอาการท้องเสีย หมอให้นอนโรงพยาบาล 3 คืน จ่ายไป 2 แสน จนเจ้าตัวทนไม่ไหวขอเอาคนไข้ออกจากโรงพยาบาล เพราะเจ้าตัวรู้สึกปกติ และ หายดีแล้ว
กระนั้น หมอก็ยังไม่ยอม ซ้ำยังขู่คนไข้อีกว่า หากออกไปแล้วเป็นอะไรจะไม่รับผิดชอบ
จำได้ว่าเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ผมไปท้องเสียที่ประเทศออสเตรีย ถ่ายท้องไป 2-3 ครั้งตอนเช้า พอถึงเที่ยงก็เกิดอาการหนาวสั่น จึงรีบเข้าโรงพยาบาลในเมืองที่พักค้างคืนเพื่อให้หมอในโรงพยาบาลตรวจอาการให้
หมอจัดการเอ็กซ์เรย์ท้อง แล้วบอกว่า กระเพาะอาหารและลำไส้ปกติ ไม่มีปัญหา แล้วให้กลับได้
ผมถามหมอว่า จะให้ยาอะไรผมบ้างมั้ย ผมบอกว่า ไม่มี แต่ให้กลับไปดื่มน้ำอัดลมใส่เกลือ เพื่อทดแทนเกลือแร่ที่ขาดไป พรุ่งนี้ก็กลับเป็นปกติ
ผมคิดว่า ในกรณีนี้ ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยละก้อ หมอจะต้องให้น้ำเกลือทางสายยาง ส่งเข้าไปเอ็กซ์เรย์ ซีทีสะแกน วัดการเต้นของหัวใจ ตรวจเลือด และ จ่ายยาอีกเพียบ
ปิดท้ายด้วย บิลค่ารักษามโหฬาร
สาเหตุที่โรงพยาบาลเอกชนหน้าเลือดเหล่านี้ ยังสามารถขูดเลือดขูดเนื้อเอาจากคนเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างเป็นกอบเป็นกำก็เพราะ มีหมอจำนวนมากที่ไม่ซื่อสัตย์ต่อจรรยาบรรณวิชาชีพ โดย “หมอ” ยอมเป็นเครื่องมือของเจ้าของโรงพยาบาล หรือ ผู้จัดการโรงพยาบาล ตามนโยบายปล้นทรัพย์คนไข้ของผู้บริหาร
ทั้งๆที่ การเข้าเรียนแพทย์ในประเทศไทย นายแพทย์แทบทุกคนไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นนับตั้งแต่เข้าเรียนแพทย์ในวันแรกจนจบการศึกษา แม้ว่า ค่าเล่าเรียนโรงเรียนแพทย์มีมูลค่านับล้านบาทต่อปีทีเดียว
เพราะค่าเล่าเรียนจำนวนมหาศาลนั้น ประชาชนได้จ่ายให้แก่หมอไปแล้ว ผ่านทางภาษีอากร
หมอเพียงแต่เรียนให้เก่ง สอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ และ เรียนให้จบเท่านั้น ไม่ต้องเป็นกังวลว่า พ่อแม่จะหาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าเทอมให้ รัฐบาลเพียงแค่ผูกมัดเล็กน้อยว่า เมื่อเรียนจบแล้ว ขอให้ทำงานรับราชการเป็นจำนวนกี่ปี เพื่อเป็นใช้หนี้ค่าเล่าเรียน
ซึ่งในช่วงเวลาเหล่านี้ ก็ได้รับเงินเดือน ซึ่งสูงกว่าเงินเดือนปริญญาตรีธรรมดาทั่วไป
แต่หากเจ้าตัวไม่ประสงค์จะรับราชการในโรงพยาบาลของรัฐ เพราะที่บ้านมีฐานะดี ซึ่งจำนวนเกือบครึ่งของคนเรียนแพทย์ล้วนมีฐานะตั้งแต่ปานกลางขึ้นไปจนกระทั่งร่ำรวยมาก ก็สามารถจ่ายเงินก้อนเดียวใช้หนี้ดังกล่าวได้ แล้วก็เป็นอิสระไปทำงานในโรงพยาบาลเอกชนได้ทันที
เงินค่าชดใช้หนี้ดังกล่าวเป็นเงินจำนวนที่น้อยมาก หากเทียบกับค่าของเงินในวันที่เรียน และ ค่าเสียโอกาสของคนที่ตั้งใจจะเป็นนายแพทย์ที่ดีที่จะได้เข้ามาเรียนแพทย์ด้วย
เงินชดใช้หนี้แค่นั้น ลำพังทำงานในโรงพยาบาลเอกชน นับแค่เงินเดือน และ ค่าเยี่ยมคนไข้ครั้งละตั้งแต่ประมาณ 1 พันบาทขึ้นไปจนเกือบสองพันบาท ไม่กี่ปีก็ถอนทุนคืนแล้ว
อันที่จริงๆ คุณหมอสามารถ “อารยะขัดขืน” ไม่ยอมทำตามทุกคำสั่งของเจ้าของโรงพยาบาลที่ขัดต่อจริยธรรมได้อยู่แล้ว เพราะศักดิ์ศรีของหมอนั้น สูงส่ง มีเกียรติ และ ไม่ใช่แค่ลูกจ้างรับเงินเดือนเหมือนลูกจ้างทั่วๆไป
นอกจากนี้ หากพูดกันตามแนวทางของวิชาโหราศาสตร์แล้ว คนที่มีอาชีพนายแพทย์นั้น รูปดวงชะตาบอกว่า เป็นดวงของคนที่จะทำเพื่อคนอื่น เพื่อคนป่วย คนทุกข์ยากลำบาก และ เป็นดวงที่มีโอกาสดีที่จะสร้างบุญกุศลในชาตินี้เพื่อเป็นเสบียงบุญต่อไปในชาติหน้า
จึงควรที่คุณหมอน่าจะฉวยโอกาสสร้างบุญกุศลในชาตินี้นะครับ
ก่อนจะจบ ผมขออัญเชิญพระดำรัสของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ตรัสถึงนายแพทย์ทั้งหลาย เอาไว้ณ.ที่นี้
“ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์”
สวัสดีครับ