อุ่นเครื่องอียิปต์ก่อนแฟม ทริป(ตอน4)

ซอกซอนตะลอนไป                           (28  พฤษภาคม 2560 )

อุ่นเครื่องอียิปต์ก่อนแฟม ทริป(ตอน4)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ก่อนอื่นต้องขอประทานโทษท่านผู้อ่านที่สัปดาห์ที่แล้วผมขาดหายไป  เพราะถูกพิษเกสรของดอกสนของญี่ปุ่นทำร้ายจนเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงที่ตา  จึงไม่สามารถส่งต้นฉบับมาให้อ่านได้   แต่ตอนนี้ดีขึ้นมากแล้วครับ  จึงขอนำเสนอเรื่องราวของอียิปต์มาเล่าต่อครับ  

               ในขณะที่ท่านผู้อ่านกำลังอ่านบทความนี้  ผมก็คงกำลังนำทัวร์แฟม ทริป พาเอเยนต์ทัวร์ไทยไปเรียนรู้เส้นทางท่องเที่ยวในอียิปต์อยู่  ซึ่งผมจะรายงานกลับมาผ่านทางเฟสบุ๊ค ของผม setthawith cheravinich  หรือ  white elephant travel agency  เป็นระยะ ๆ

               เชิญติดตามอ่านนะครับ   

               ทำไม นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวอียิปต์  จึงพบแต่วิหารขนาดใหญ่ที่สร้างด้วยหิน  แต่ไม่พบพระราชวังอันที่เป็นอยู่อาศัยของฟาโรห์เลยแม้แต่หลังเดียว 


(วิหารเอ็ดฟู ที่ยังคงสภาพเกือบจะเหมือนตอนที่สร้างเสร็จใหม่ๆเลย)

               สันนิษฐานได้ออกเป็นสองกรณีคือ หนึ่ง  พื้นที่ของอียิปต์โบราณ น่าจะเคยเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยพืชพันธ์ต่างๆ  และต้นไม้ขนาดใหญ่   ดังนั้น  พระราชวังของฟาโรห์ จึงอาจจะสร้างด้วยไม้ 

               พระราชวังที่สร้างด้วยไม้เหล่านี้  เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา  และด้วยภัยธรรมชาติ  หรือ ภัยจากไฟไหม้

               สอง  จากการค้นพบสิ่งก่อสร้างที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ด้านหลังของกำแพงวิหารคาร์นัค  ก็ทำให้นักโบราณคดีพอจะจินตนาการสร้างภาพของพระราชวังโบราณของอียิปต์ขึ้นมาได้ 


(ด้านหลังกำแพงของวิหารคาร์นัค  จะเห็นอิฐที่ทำจากดินดิบก่อขึ้นไปชิดติดกับกำแพง)

               สิ่งก่อสร้างที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้ก็คือ  ทางลาดที่เชื่อกันว่า  เป็นทางลาดที่จะนำเอาหินขนาดใหญ่ขึ้นไปวางซ้อนกันเป็นกำแพงสูง   ทางลาดที่เหลืออยู่นี้  ทำด้วยก้อนดินดิบ หรือที่เรียกว่า MUD BRICK

               ดินดิบ ทำมาจากดินเหนียวเอามามาปั้นเป็นก้อน  นำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปใช้งานโดยไม่ผ่านการเผาในเตาเผา 

               อิฐดินดิบจะไม่เก็บความร้อนเหมือนอิฐมอญที่เผาอบด้วยความร้อนสูงๆ  ดังนั้น  บ้านที่สร้างด้วยดินดิบจะเย็นสบายแม้ในช่วงฤดูร้อน  และ  จะอบอุ่นสบายในช่วงฤดูหนาว 

               บ้านแบบนี้  ชนเผ่านูเบียนบางส่วนที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอียิปต์ยังคงใช้งานกันอยู่

               แต่จุดอ่อนของอิฐดินดิบก็คือ  ไม่แข็งแกร่งเท่าอิฐมอญ  และ สามารถละลายได้หายถูกแช่อยู่ในน้ำในเวลานานๆ   แต่อียิปต์มีฝนน้อย  บ้านเรือนของชนเผ่านูเบียนจึงสามารถอยู่รอดปลอดภัย 


(สภาพที่แห้งแล้งของทะเลทราย จะมีอุณหภูมิตอนกลางวัน กับตอนกลางคืนแตกต่างกันมากกว่า 10 องศา)

               บ้านที่สร้างด้วยดินดิบนี้  มีใช้กันทั่วไปในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงมากๆ  เช่น ในเมืองทูรูฟาน โอเอซิสกลางทะเลทราย ทะคลามะกันในมณฑลซินเจียงของประเทศจีน ที่มีอุณหภูมิตอนกลางวันในช่วงฤดูร้อนสูงถึง 48 -50 องศาเซลเซียส  ก็ใช้ดินดิบมาสร้างบ้านเช่นกัน 

               หมู่บ้านอะบียาเน ที่อยู่ในหุบเขาทางตอนเหนือของประเทศอิหร่าน  ก็สร้างด้วยดินดิบที่ผสมฟางหญ้าเพื่อความเหนียวแน่นคงทน 


(หมู่บ้าน อะบียาเน ซึ่งเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่อยู่ห่างไกลจากความเจริญของอิหร่าน)

(ภายในหมู่บ้านอะบียาเน ยังคงเห็นโครงสร้างของบ้านที่ทำด้วยดินดิบ และ กิ่งไม้)

               แม้กระทั่งในทิเบต ซึ่งเมื่อถึงฤดูหนาวจะมีอุณหภูมิหนาวจัด ก็สร้างด้วยดินดิบผสมฝางหญ้าเช่นกัน  อาทิเช่น  พระราชวังโปตาลา  


(พระราชวังโปตาลา ของทิเบต -ภาพจากวิกิพีเดีย)

               จึงน่าจะสันนิษฐานว่า  พระราชวังของฟาโรห์อียิปต์โบราณน่าจะสร้างด้วยดินดิบผสมไม้  เพื่อให้เกิดความเย็นภายในพระราชวัง 

               ดังนั้น  เมื่อกาลเวลาผ่านไป  พระราชวังเหล่านี้จึงถูกทำลายสูญหายไป  จนเหลือเพียงแต่วิหารที่สร้างด้วยหินทราย และ หินแกรนิตเหลืออยู่ให้คนรุ่นหลังได้ชมกัน  

               นี่คือสาเหตุที่ทำให้เราไม่เห็นพระราชวังของฟาโรห์ในอียิปต์เลย   แม้แต่หลังเดียว

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *