ทำไม ผู้คนจึงช้อปปิ้งสินค้าที่สนามบินญี่ปุ่นราวกับแจกฟรี

ซอกซอนตะลอนไป                           (4 มิถุนายน 2560 )

ทำไม ผู้คนจึงช้อปปิ้งสินค้าที่สนามบินญี่ปุ่นราวกับแจกฟรี

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ขอคั่นจังหวะด้วยการเอาประสบการณ์สดๆร้อนๆมาเล่าสู่กันฟัง  แทนเรื่อง อุ่นเครื่องอียิปต์ก่อนแฟมทริป เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่สนใจและเป็นประโยชน์มาก 

               ในระหว่างที่อยู่ในสนามบินฮาเนดะ ของประเทศญี่ปุ่นเพื่อรอขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพ  ผมได้เห็นปรากฎการณ์ที่น่าทึ่งของชาวญี่ปุ่น 

               ในร้านปลอดภาษีของสนามบิน  นักท่องเที่ยวเข้าคิวรอจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าในร้านสินค้าปลอดภาษีราวกับรับของแจกฟรี  จนล้นออกมานอกร้านเป็นแถวยาวเหยียด


(คิวของนักท่องเที่ยวที่รอจ่ายเงินที่ร้านปลอดภาษีในสนามบินฮาเนดะ ล้นออกมานอกร้านยาวเหยียด)

               เหตุการณ์แบบนี้  ไม่มีวันเกิดขึ้นในสนามบินของบ้านเราเด็ดขาด

               เพราะอะไร  

เพราะคุณภาพสินค้าของญี่ปุ่นดีมากหรือ  หรือ  สินค้าญี่ปุ่นราคาถูกมากหรืออย่างไร 

               อาจจะมีส่วนถูกทั้งสองข้อ  เพราะสินค้าญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้  ได้รับการยอมรับว่า  มีคุณภาพได้มาตรฐาน  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในเรื่องของสุขอนามัย และ ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค 

               ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างมาก ในการสร้างความรู้สึกมั่นใจของผู้บริโภคต่อสินค้าของเขาได้อย่างลึกซึ้งในช่วงระยะเวลาประมาณ 40 ถึง 50 ปีที่ผ่านมา

               ผมจำได้ว่า  ในอดีตเมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว   สินค้าญี่ปุ่นถือเป็นสินค้าคุณภาพแย่  หากเทียบกับสินค้าของยุโรป  เช่นเดียวกับที่เรารู้สึกต่อสินค้าจีนในขณะนี้อย่างไรอย่างนั้น   แต่ปัจจุบัน  ไม่มีใครกล้าสบประมาทสินค้าญี่ปุ่นอีกแล้ว  

               สินค้าประเภทอาหาร และ ขนม เป็นสินค้าที่นักท่องเที่ยวไม่ว่าจากประเทศไหนก็ตาม มักจะหาซื้อกลับบ้านกันอย่างมาก  อย่างเช่นนักท่องเที่ยวชาวจีนที่แห่กันมาซื้อนมผงของเด็กทารก  และ ผ้าอ้อม กลับบ้านกันขนานใหญ่   เพราะมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้าญี่ปุ่นมากกว่าสินค้าของจีนที่นับวันจะปลอมปนมากขึ้น

               ครั้งหนึ่ง  นักท่องเที่ยวไทยก็บ้าคลั่ง ขนมคิตแคทชาเขียว  จนกวาดซื้อกันหมดร้านทั้งนอกและในสนามบิน  จนสถานทีโทรทัศน์เอ็นเอชเค ของญี่ปุ่น ต้องมาทำข่าวและสารคดีด้วยความสงสัยว่า  ทำไมคนไทยถึงได้คลั่งไคล้ขนมคิ๊ตแคทกันขนาดนี้ 

               ตอนนี้  สินค้าที่นักท่องเที่ยวจากทุกประเทศบ้าคลั่งกันก็คือ  ขนมโปเตโต้ฟาร์ม  ที่ทำจากมันฝรั่งของฮ๊อคไกโด  จนถึงขนาดที่ร้านค้าต้องกำหนดให้ซื้อได้คนละ 1 กล่องเท่านั้น  ทั้งนี้เพราะ  นักท่องเที่ยวมั่นใจในรสชาติที่หวานหอมของมันฝรั่งของฮ๊อตไกโด   

               และที่สำคัญ เพราะสินค้าเหล่านี้มีคุณภาพได้มาตรฐานความปลอดภัยทั้งจากยาฆ่าแมลง และ ปุ๋ยเคมี  (ไม่เหมือนปลาสิดตากแห้งของไทยที่มีข่าวว่า ใช้ดีดีทีฉีดพ่นบนตัวปลาด้วยซ้ำ)   ปลอดจากสารกระตุ้นต่างๆ  และ  ราคาที่ได้มาตรฐาน


(ร้านขายของทะเลแช่แข็งภายในสนามบินฮ๊อกไกโด ราคาเท่ากับร้านข้างนอก  แถมยังมีการบริการใส่กล่องโฟมและสารสร้างความเย็นแพ็คให้อย่างดีอีกต่างหาก)

               สินค้าเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารสำเร็จรูป หรือ อาหารปรุงต่อหน้า  ราคาขายทั้งในและนอกสนามบินจะเท่ากัน  หรือ ต่างกันกันแต่ประมาณ 50 หรือ 100 เยน หรือประมาณ 15 ถึง 30 บาทเท่านั้น 


(ภายในสนามบินฮ๊อกไกโด  ยกตลาดสดอาหารทะเลซึ่งเป็นสินค้าพื้นเมือง หรือ  สินค้าโอทอป เข้ามาไว้ในสนามบิน  และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว เนื่องจากเขาไม่ได้ขายในราคาที่เอาเปรียบนักท่องเที่ยวจนเกินไป) 

               ผิดกันกับในสนามบินในประเทศไทยทุกสนามบิน  ที่โขกสับนักท่องเที่ยวอย่างไร้คุณธรรม   หากจะอ้างว่า   ค่าเช่าที่ในสนามบินมีราคาแพง  ก็น่าสงสัยว่า  ทั้งค่าเช่าที่ดิน  ค่าเงินเดือนของพนักงาน  ค่าวัตถุดิบ  ค่าภาษีของประเทศญี่ปุ่น  ล้วนสูงกว่าประเทศไทยมากนัก  

               ทำไม  เขาจึงยังคุมราคาขายในสนามบินให้เท่ากับราคาขายนอกสนามบินได้ 


(ร้านราเม็งภายในสนามบินฮ๊อกไกโด  ราคาชามละ 800 เยน  เท่าๆกับราคาขายในเมือง)

               แค่ราคาก๋วยเตี๋ยวที่ขายกันข้างนอกในร้านระดับมาตรฐานประมาณ 75 บาท ถึง 100 บาท  ร้านเดียวกันนี้เอง  เมื่อขายในสนามบิน  กลับมีราคาสูงกว่า 2 ถึง 3 เท่าทีเดียว 

               เรื่องแบบนี้   การท่าอากาศยานน่าจะเข้าไปจัดการ  อย่าปล่อยให้ผู้โดยสารสายการบินต้องถูกเอาเปรียบจนเกินไป   เหมือนกรณีแท็กซี่หน้าสนามบินตบทรัพย์นักท่องเที่ยวเลยครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *