ซอกซอนตะลอนไป (16 กรกฎาคม 2560 )
คำสาปฟาโรห์(ตอน3)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
การค้นพบสุสานของตุตันคามุน เป็นเรื่องที่คนทั้งโลกตื่นเต้นเป็นที่สุด เพราะเป็นการค้นพบสุสานที่ยังมีข้าวของเครื่องใช้ และ โลงศพรวมทั้งมัมมี่ของฟาโรห์ยังอยู่ครบถ้วน
หลังจากนั้น ทั้งโลกก็สนุกสนานกับข่าวคราวทั้งที่เป็นเรื่องจริง และเป็นเรื่องแต่งเติมอย่างสนุกสนานเกี่ยวกับเรื่องคำสาบของฟาโรห์
สร้างความหวาดหวั่น และ ความเข้าใจในทางลบเกี่ยวกับหลุมฝังศพของฟาโรห์ไปทั่วว่า ใครก็ตามที่เข้าไปในสุสานของฟาโรห์แล้ว จะต้องมีอันเป็นไปอย่างไม่คาดคิดทุกคน
จนบางครั้งมีคณะผู้เดินทางไปเที่ยวอียิปต์กับผม ถามผมเกี่ยวกับคำสาปฟาโรห์ดังกล่าว ซึ่งผมก็ต้องอธิบายให้ฟัง ตามแบบที่ผมจะเล่าให้ท่านผู้อ่านอยู่ขณะนี้
สนใจจะร่วมเดินทางไปอียิปต์แบบเจาะลึก ล่องเรือสำราญ กับผม เรามีทริปเดือนกันยายน , พฤศจิกายน และ ธันวาคม สนใจติดต่อ โทร 026516900 หรือ 0885786666 หรือ ID LINE 14092498
ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1922 อันเป็นวันเปิดสุสานครั้งแรก มีผู้เข้าไปในสุสานกันทั้งหมด 58 คน ในจำนวน 58 คนนี้ มีเพียง 8 คนเท่านั้นที่เสียชีวิตภายใน 12 ปีแรกหลังจากวันเปิดสุสาน ที่เหลืออีก 50 คนก็ยังมีชีวิตต่อมา และมีสุขภาพแข็งแรงดีจนกระทั่งเสียชีวิต
คนแรก ที่เสียชีวิตก็คือ ท่านลอร์ด คาร์นาร์วอน ตามที่ผมได้เล่าไปในตอนที่แล้ว
แต่ก็มีการเล่าขานอีกว่า ก่อนหน้าการตายของลอร์ด คาร์นาร์วอน เพียง 2 สัปดาห์ นิตยสาร นิวยอร์ค เวิร์ลด์ ได้ตีพิมพ์จดหมายของผู้หญิงคนหนึ่งนามว่า มารี คอเรลลี(MARIE CORELLI) ซึ่งได้เขียนพยากรณ์ว่า
“จะมีการลงโทษอย่างรุนแรง ต่อผู้ที่บังอาจบุกรุกสุสานของฟาโรห์ ตุตันคามุน”
สื่อมวลชนตื่นข่าวนี้กันขนานใหญ่ และ ช่วยกันกระพือข่าวต่อไป และเต้าข่าวด้วยการรายงานว่า มีคำสาปในสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน ทั้งๆที่ไม่มีมูลความจริงอยู่เลย
ยิ่งเมื่อลอร์ด คาร์นาร์วอน มาเสียชีวิตหลังจากเปิดสุสานเพียง 4 เดือนเศษ คำสาปฟาโรห์ ยิ่งดูเป็นเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นเรื่อยๆ
หลังจากลอร์ด คาร์นาร์วอนแล้ว คนต่อมาที่เสียชีวิตก็คือ จอร์จ เจย์ กูลด์ ที่ 1(GEORGE JAY GOULD I) เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ปีค.ศ. 1923 หรือประมาณ 6 เดือนหลังการเปิดสุสาน สาเหตุการตายก็คือ เริ่มจากเป็นไข้และเสียชีวิตในที่สุด
อีก 2 เดือนต่อมา เจ้าชาย อาลี คาเมล ฟาห์มี เบย์(PRINCE ALI KAMEL BEY) ของอียิปต์ ก็เสียชีวิตเพราะถูกภรรยาสังหารด้วยอาวุธปืน หลังจากนั้นในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ออเบรย์ เฮอร์เบิร์ต(AUBREY HERBERT) ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของลอร์ด คาร์นาร์วอน ก็เสียชีวิตจากโรคโลหิตเป็นพิษ อันเป็นผลมาจากการทำฟัน
วันที่ 15 มกราคม ปีค.ศ. 1924 หรือ ประมาณ 2 ปีหลังการเปิดสุสาน ท่านเซอร์ อาร์ชิบาล์ด ดักกลาส-รีด(SIR ARCHIBALD DOUGLAS-REID) ซึ่งเป็นนักรังสีวิทยา ผู้ทำการเอ็กซ์เรย์มัมมีของตุตันคามุน ก็เสียชีวิตจากโรคที่ไม่สามารถระบุได้
ยังมีผู้เสียชีวิตอีกหลายคนในปีถัดๆมา บางคนถูกลอบสังหาร , บางคนถูกวางยาพิษ , บางคนเสียชีวิตเพราะโรคมาเลเรีย , บางคนเสียชีวิตบนเตียงด้วยข้อสันนิษฐานว่า ถูกกดปากและจมูกจนหายใจไม่ออกตาย , บางคนเสียชีวิตจากการกระโดดลงมาจากตึกอพาร์ตเมนต์ เหล่านี้เป็นต้น
แต่โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ นักโบราณคดีผู้นำในการขุดค้นสุสานแห่งนี้ กลับมีชีวิตยืนยาวมาอีก 16 ปี กว่าที่จะเสียชีวิต
คำสาปฟาโรห์ มีจริงหรือไม่ และ อะไรเป็นสาเหตุการตายที่แปลกๆของคนบางคน
นักเขียนอย่าง ท่านเซอร์ อาร์เธอร์ โคนาน ดอยล์(SIT ARTHUR CONAN DOYLE) ผู้เขียนนวนิยายสืบสวนสอบสวนเรื่อง เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ได้ให้ความเห็นว่า การตายของท่านลอร์ด คาร์นาร์วอน น่าจะเกิดจากสารบางอย่างที่นักบวชผู้ดูแลหลุมฝังศพของ ตุตันคามุน ได้วางกับดักเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว
สอดคล้องต้องกันกับที่นักโบราณคดีในยุคหลังที่ค้นพบว่า สาเหตุการตายอย่างมีปริศนา ซึ่งส่วนใหญ่จะมีสาเหตุจากโรคโลหิตเป็นพิษนั้น น่าจะมาจากช่อดอกไม้แห้งในสุสานของตุตันคามุน
ว่ากันว่า ในตอนที่ยังสดอยู่ ดอกไม้ชนิดนี้ก็เหมือนดอกไม้ธรรมดาทั่วไป แต่เมื่อเวลาผ่านไป ดอกไม้เหล่านี้จะแห้ง เกสรภายในดอกไม้ก็จะแห้งและเบาด้วย ซึ่งหากอยู่ในห้องสุสานที่ปิดสนิท ก็ไม่น่าจะมีปัญหากับใครแต่อย่างใด
แต่เมื่อสุสานถูกเปิดออก ผู้คนมากมายเดินไปมา เกิดการหมุนเวียนของอากาศภายในห้องสุสาน ทำให้ละอองเกสรที่เบาถูกพัดให้ล่องลอยไปในอากาศ
ใครก็ตามที่หายใจสูดเอาละอองเกสรของดอกไม้นี้เข้าไปในปอด ละอองเกสรจะกลายเป็นยาพิษที่จะทำร้ายบุคคลผู้นั้นทันที แต่ปัจจุบันนี้ ไม่มีละอองเกสรเหล่านี้ล่องลอยอยู่ในอากาศอีกแล้ว
ว่ากันว่า นี่คือสิ่งที่นักบวชของตุตันคามุน วางแผนทำร้ายผู้บุกรุกหลุมฝังศพเอาไว้เมื่อ 3 พันกว่าปีที่แล้ว และเป็นเหตุผลเบื้องหลังคำสาปของฟาโรห์
ใครที่คิดจะไปเที่ยวอียิปต์ ก็ไม่ต้องหวาดกลัวต่อคำสาปของฟาโรห์อีกต่อไปนะครับ