ซอกซอนตะลอนไป (9 กรกฎาคม 2560 )
คำสาปฟาโรห์(ตอน2)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ขณะที่ผ่านผู้อ่านกำลังอ่านบทความ “คำสาปฟาโรห์ ตอน 2” อยู่นี้ ผมและคณะทัวร์เจาะลึกอียิปต์-ล่องแม่น้ำไนล์ ก็กำลังอยู่ในเรือสำราญกลางแม่น้ำไนล์พอดี
และอย่าอิจฉาผมนะครับ เพราะตอนนี้เป็นช่วงขึ้น 15 ค่ำพอดี พระจันทร์เต็มดวงส่องสว่างสวยงาม มองออกไปเห็นทะเลทรายที่อยู่ถัดจากแม่น้ำไปได้ไกลสุดลูกหูลูกตาเลยครับ
กลับมาเรื่องคำสาปของฟาโรห์กันต่อครับ
คำสาปของฟาโรห์ ที่มีคนกล่าวขานกันมากเป็นพิเศษ และ น่าขนหัวลุก(โดยไม่มีเหตุผล) มากที่สุดก็คือ คำสาปของฟาโรห์ตุตันคาเมน ซึ่งเป็นสุสานของฟาโรห์ที่ถูกค้นพบหลังสุด โดยที่สุสานดังกล่าว ไม่เคยมีใครเข้าไปรื้อค้นมาก่อนเลยนับตั้งแต่ฝังพระศพของฟาโรห์เมื่อกว่า 3 พันปีที่แล้ว
การค้นพบสุสานของยุวฟาโรห์ ตุตันคาเมน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1922 โดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษ โฮเวิร์ด คาร์เตอร์(HOWARD CARTER) ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่สุดของศตวรรษที่ 20
เนื่องจากฟาโรห์ตั้งแต่ปลายยุคอาณาจักรกลาง เริ่มตระหนักแล้วว่า สุสานของฟาโรห์องค์ก่อนๆ โดยเฉพาะที่ทำเป็นรูปทรงพีระมิดนั้น ถูกพวกโจรปล้นสุสานบุกเข้าไปได้โดยง่าย จึงคิดหาวิธีที่จะซ่อนสุสานของตัวเองให้ลับตาผู้คน และพบว่า หุบผากษัตริย์น่าจะเป็นสุสานที่ลับสายตาโจรมากที่สุด
ดังนั้น สุสานของอียิปต์โบราณ ตั้งแต่ช่วงปลายของอาณาจักรกลาง เรื่อยมาจนกระทั่ง อาณาจักรใหม่ จึงย้ายมาฝังไว้ในหุบผากษัตริย์ทั้งนั้น เพราะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูน มองดูไปทางไหนก็เหมือนกันหมด ยากที่ใครจะสังเกตเห็นได้ง่าย
กระนั้น ก็ยังไม่รอดสายตาของพวกโจรปล้นหลุมฝังศพอยู่ดี จึงทำให้สุสานของฟาโรห์เกือบทุกพระองค์ถูกรื้อค้นจนหมดสิ้นในเวลาต่อๆมา ยกเว้นสุสานของฟาโรห์เพียงพระองค์เดียว คือ
ฟาโรห์ตุตันคามุน(TUTANKHAMUN) หรือ ที่บางคนเรียก ตุตันคาเมน
โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ พบประตูทางเข้าสุสานของตุตันคามุน ในหุบผากษัตริย์ โดยบังเอิญเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1922 จากนั้นเขาก็แจ้งให้ท่านลอร์ด คาร์นาร์วอน(LORD CARNARVON) ผู้เป็นสปอนเซอร์ในการขุดค้นที่นี่มานานประมาณ 8 ปีให้ทราบ เพื่อให้ คาร์นาร์วอนรีบเดินทางมาโดยด่วน
โฮเวิร์ด คาร์เตอร์ ทำการเปิดสุสานในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1922 เป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของการค้นพบที่เป็นข่าวตื่นเต้นไปทั่วโลก หลังจากนั้น คำร่ำลือของ “คำสาปฟาโรห์” ก็ตามมา
ในช่วงที่มีการขนเอาข้าวของต่างๆในสุสานออกมา ก็มีคำเล่าขานเกี่ยวกับคำสาปของฟาโรห์มากมาย อาทิเช่น งูเห่าตัวหนึ่งเลื้อยเข้าไปในกรงนกที่ คาร์เตอร์เลี้ยงไว้แล้วกินนกตัวนั้นเสีย
งูเห่าเป็นเทพเจ้าแห่งการปกปักษ์รักษาฟาโรห์ของอียิปต์โบราณ มีชื่อเรียกว่า เทพยูเรอุส(URAEUS)
คนแรกที่ถูกกล่าวขานว่า ถูกคำสาปของฟาโรห์ตุตันคามุน จนตายก็คือ ลอร์ด คาร์นาร์วอน
หลังจากเปิดสุสานของตุตันคามุนแล้ว ลอร์ด คาร์นาร์วอนก็เดินทางกลับไคโร วันหนึ่ง เขาถูกยุงกัดที่ใบหน้าด้านซ้าย เมื่อคาร์นาร์วอนโกนหนวดตามปกติในตอนเช้า ก็บังเอิญโชคร้ายที่ใบมีดโกนไปสะกิดโดนแผลที่ยุงกัดซึ่งคงจะบวมเป็นตุ่มขึ้นมา
เมื่อเขาเดินทางถึงไคโร ก็เกิดอาการไข้ขึ้นสูง และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 เมษายน ปีค.ศ. 1923 หรือ ประมาณ 4 เดือน 7 วัน หลังจากที่เขาได้เข้าไปในสุสานของตุตันคามุน
มีคนพยายามโยงเรื่องการตายของ ลอร์ด คาร์นาร์วอน ว่าเป็นผลจากคำสาปของฟาโรห์ เพราะ คาร์นาร์วอน ก็เป็นคนแรกๆที่เข้าไปในสุสานดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ก็มีคำอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมาว่า การตายของลอร์ด คาร์นาร์วอน นั้น เป็นผลมาจากการติดเชื้อเนื่องจากแผลของการโกนหนวด และ ลามต่อไปจนกระทั่งเกิดการติดเชื้อเข้ากระแสโลหิต และ โลหิตเป็นพิษ
กระแสร่ำลือของคำสาปฟาโรห์ ยังไม่จบเพียงแค่นั้น
ในเวลาต่อมา ได้มีการชันสูตรมัมมี่ของตุตันคามุน และพบว่า มีร่องรอยการสมานของแผลบนร่างกายของตุตันคามุน และ ให้บังเอิญว่า ร่องรอยการสมานของแผลที่อยู่บนร่างของฟาโรห์ มาอยู่ที่แก้มข้างซ้ายพอดิบพอดี เหมือนกับแก้มข้างซ้ายของท่านลอร์ด คาร์นาร์วอน
ตำนานคำสาปของฟาโรห์ก็เลยยิ่งดูน่ากลัวยิ่งขึ้นไปอีก
หากสนใจร่วมเดินทางไปเจาะลึกอียิปต์ ล่องเรือสำราญแม่น้ำไนล์ กับผม ระหว่างวันที่ 14 -23 กันยายน นี้ สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 6516900 หรือ 088 5786666 หรือ ID LINE 14092498
พบกันสัปดาห์หน้าครับ