ซอกซอนตะลอนไป (2 กรกฎาคม 2560 )
คำสาปฟาโรห์(ตอน1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เรื่องราวที่ลี้ลับ แต่มีเสน่ห์ชวนติดตามอย่างน่าพิศวงของอียิปต์โบราณเรื่องหนึ่งก็คือ คำสาปจากหลุมฝังศพของฟาโรห์
ว่ากันว่า เรื่องเล่าต่อๆกันมาในทางสยองขวัญสั่นประสาทของฟาโรห์ผู้เป็นเจ้าของสุสาน ต่อโจรผู้รุกรานน่าจะมีมานานแล้ว นับตั้งแต่เริ่มมีคนขุดเจาะเข้าไปหลุมฝังศพของฟาโรห์ เพื่อขโมยทรัพย์สมบัติในสุสานเมื่อหลายพันปีที่แล้ว แต่ที่ค่อนข้างจะถูกกล่าวขวัญกันมากก็ตั้งแต่ประมาณศตวรรษที่ 19
กระนั้นก็ตาม ไม่มีใครยืนยันได้ว่า เรื่องคำสาปเหล่านั้น เป็นเรื่องจริง หรือ เรื่องที่กุขึ้นเอง
เรื่อยจนประมาณ ปีค.ศ. 1824 เมื่อ ฟรังซัวร์ ชอมโปลิยอง(JEAN FRANCOIS CHAMPOLLION) นักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส สามารถไขปริศนาจารึกบนแผ่นศิลาที่เรียกกันว่า หินโรเซตตา(ROSETTA STONE) จนสามารถอ่านภาษาอียิปต์โบราณ ที่ตายไปจากโลกนี้แล้วได้
บนจารึกโรเซตตานั้น เขียนด้วยภาษาที่แตกต่างกัน 3 ภาษาคือ ภาษาเฮียโรกลิฟส์(HIEROGLYPHS) ซึ่งเป็นภาษาอียิปต์โบราณ ที่กำหนดให้ใช้เฉพาะในหมู่คนชั้นสูง เช่น ฟาโรห์ , บรรดาสมาชิกของราชวงศ์ , ชนชั้นสูง , หัวหน้านักบวช และบรรดานักบวชทั้งหลายเท่านั้น
ภาษาที่สองคือ ภาษาเดโมติค(DEMOTIC) ซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ทั่วไปในหมู่ของประชาชนชาวอียิปต์โบราณ เป็นภาษาที่ทางราชการใช้สื่อสารกับประชาชน ภาษาเดโมติคเป็นภาษาที่ตายแล้วเช่นกัน คือไม่มีใครใช้กันแล้ว
และ ภาษากรีก(GREEK) ซึ่งเป็นภาษาดั่งเดิมของราชวงศ์ปโตเลมี(PTOLEMY) ผู้ปกครองของอียิปต์ที่สืบเชื้อสายมาจากชาวกรีกมาตั้งแต่ ฟาโรห์ ปโตเลมีที่ 1
ภาษากรีก เป็นภาษาเดียวที่ยังมีผู้คนใช้งาน อ่านออกเขียนได้จนทุกวันนี้
ตั้งแต่ปีค.ศ. 1824 เป็นต้นมา หลังจากที่ชอมโปลิยองสามารถอ่านจารึกบนหินโรเซตตาที่เป็นภาษาเฮียโรกลิฟส์ ที่ชาวอียิปต์โบราณใช้ในการจารึกเรื่องราวต่างๆได้ จึงมีการเปิดเผยจารึก และความหมายของจารึกในที่ต่างๆ เริ่มตั้งแต่จารึกในพีระมิด ซึ่งเป็นสถานที่ฝังศพของฟาโรห์ในยุคแรกๆ
จารึกดังกล่าวเรียกว่า จารึกพีระมิด(PYRAMID TEXT)
นอกจากจารึกพีระมิดแล้ว ยังมีจารึกที่เขียนบนกระดาษปาปิรัส ที่เรียกว่า จารึกปาปิรัส(PAPYRUS TEXT) ส่วนใหญ่จะเขียนสาปแช่งผู้บุกรุกไปในทำนองเดียวกัน
ในสุสานของของโนมาร์ช(NOMARCH) หรือ อาจจะเรียกว่า ฟาโรห์ก็ได้ จากยุคอาณาจักรเก่า ในช่วง “เปลี่ยนผ่านอำนาจของอียิปต์โบราณครั้งที่ 1” ประมาณราชวงศ์ที่ 9 ถึง 10 อันเป็นช่วงที่ประเทศมีความวุ่นวายมากนั้น โนมาร์ช ที่มีพระนามว่า อังคห์ติฟิ (ANKHTIFI) ได้จารึกเอาไว้ว่า
“ผู้ปกครองคนใดก็ตาม ที่บังอาจกระทำการชั่วร้าย เลวระยำต่อ โลงศพนี้ เฮเมน(HEMEN) (หมายถึง เทพเจ้าประจำท้องถิ่น) จะไม่ยอมรับเครื่องสักการะใดๆที่มันผู้นั้นถวายให้ และ มันผู้นั้นจะไม่มีทายาสืบสกุล”
ราชวงศ์ที่ 9 ถึง 10 นั้น อยู่ในช่วงประมาณ 2160 ถึง 2040 ปีก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 4 พันปีเศษที่แล้ว แสดงให้เห็นว่า มีโจรบุกเข้าไปปล้นหลุมฝังศพของฟาโรห์ ตั้งแต่หลังสร้างมหาพีระมิดไปไม่นานนัก เพราะมหาพีระมิดสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 4500 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีจารึกที่สุสานของฟาโรห์ เคนติกา อิเคกิ(KHENTIKA IKHEKHI) ซึ่งเป็นฟาโรห์ของราชวงศ์ที่ 9 – 10 เช่นกัน เขียนเอาไว้ว่า
“สำหรับทุกคนที่บังอาจเข้ามาในสุสานของข้า ทำให้สุสานของข้ามีมลทิน คนเหล่านี้จะถูกตัดสินลงโทษ คนเหล่านี้จะถูกสังหาร ข้าจะบีบคอของมันให้เหมือนบีบคอนก ข้าจะฝังความกลัวของข้าเข้าไปในตัวของมันผู้นั้น”
นับแต่นั้นมา เรื่องเล่าเกี่ยวกับคำสาปของฟาโรห์ก็แพร่กระจายออกไป ต่อเติมเสริมแต่งกันบ้าง ผสมผสานกับนิยาย และ ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับมัมมีฟื้นคืนชีพ จึงช่วยกระตุ้นให้ผู้คนตื่นเต้นกับเรื่องคำสาปของฟาโรห์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่เรื่องที่มีบทบาทที่สุด ในการกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกตื่นเต้นกับเรื่องคำสาปของฟาโรห์ เกิดขึ้นหลังจากวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีค.ศ. 1922
วันดังกล่าวมีความสำคัญอย่างไร ขอเชิญร่วมเดินทางไปเจาะลึกอียิปต์ ล่องเรือสำราญแม่น้ำไนล์ กับผม ระหว่างวันที่ 14 -23 กันยายน และ 25 พฤศจิกายน ถึง 5 ธันวาคมนี้ เพื่อย้อนอดีตสู่อียิปต์โบราณ สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02 6516900 หรือ 088 5786666 หรือ ID LINE 14092498
พบกันใหม่สัปดาห์หน้า เราจะเดินทางย้อนอดีตไปเจาะลึกเรื่องคำสาปของฟาโรห์กันต่อครับ