ซอกซอนตะลอนไป (16 ธันวาคม 2559 )
ไต้หวัน เมื่อจำต้องใช้นโยบายเปิดประเทศ(ตอน 3)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
การเมืองของไต้หวัน ค่อนข้างจะน่าสนใจมาก
ไต้หวัน มีสองพรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคกั๊วมินตั๋ง กับพรรค DPP ซึ่งมีนโยบายตรงกันข้ามกันแบบสุดขั้ว ผลัดกันขึ้นมาปกครองประเทศในช่วง 20 ปีหลังนี้
พรรคกั๊วมินตั๋ง ก่อตั้งในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ พ่ายแพ้สงครามกลางเมืองต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน จนต้องย้ายออกมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ มาปักหลักอยู่บนเกาะฟอร์โมซา(FORMOSA) ซึ่งเป็นชื่อที่ชาวดัตช์ ผู้มายึดครองที่นี่ในช่วงปีค.ศ. 1624 ถึงปีค.ศ. 1662 ใช้เรียกเกาะไต้หวันตามที่พวกโปรตุเกสที่มาเข้ามาก่อนตั้งชื่อไว้ ว่า ILHA FORMOSA แปลว่า เกาะที่สวยงาม
แต่พวกโปรตุเกสก็ต้องถอยกลับไปตั้งหลักที่ถิ่นฐานเดิมที่มาเก๊า เพราะบนเกาะฟอร์โมซา มีไข้มาเลเรียชุกชุมมาก
เกาะฟอร์โมซ่า ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของราชวงศ์หมิง และ ราชวงศ์ชิงต่อเนื่องเรื่อยมา จะกระทั่งสงครามระหว่างจีน และ ญี่ปุ่นครั้งแรก ในปีค.ศ. 1894 ถึง ปี ค.ศ.1895 ซึ่งจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของราชวงศ์ชิง ต่อกองทัพของอาณาจักรญี่ปุ่น
ทำให้ราชวงศ์ชิงจำต้องยกเกาะไต้หวันให้เป็นของญี่ปุ่น พร้อมด้วยดินแดนอื่นๆอีกหลายแห่ง ด้วยสนธิสัญญา ชิโมโนเซกิ ที่ลงนามกันในวันที่ 17 เมษายน ปีค.ศ. 1895 ญี่ปุ่นเข้ามาครอบครองเกาะฟอร์โมซาเรื่อยมาจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งญี่ปุ่นเป็นผู้พ่ายแพ้ในปีค.ศ. 1945
รวมเวลาที่ญี่ปุ่นยึดครองเกาะฟอร์โมซาประมาณ 50 ปี
การยึดครองของอาณาจักรญี่ปุ่น ก่อให้เกิดการต่อต้าน และ ก่อการลุกฮือขึ้นหลายครั้ง ของชาวจีน และ คนพื้นเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขา
แต่ดูเหมือนว่า ชาวเกาะไต้หวันทั้งหมดก็ยังไม่สามารถรวมตัวได้อย่างเหนียวแน่น เพราะยังมีความความคิดเห็นต่อการยึดครองของญี่ปุ่นอยู่หลายแนวทาง บางพวกก็เห็นแต่ความปลอดภัยของชีวิต และ ความปลอดภัยของตัวเอง โดยไม่สนใจว่าจะอยู่ภายใต้การปกครองของใคร
บางพวกก็เห็นว่า หากเข้าด้วย และ ยอมจำนนต่ออาณาจักรญี่ปุ่น ก็จะทำให้ตัวเองได้รับการปฎิบัติจากอาณาจักรญี่ปุ่นเท่าเทียมกับชาวญี่ปุ่นที่เข้ามายึดครองไต้หวัน
สองกลุ่มนี้ เป็นพวกที่เอาด้วยกับการปกครองของญี่ปุ่น
อีกสองกลุ่ม คือ กลุ่มแรกต้องการให้ไต้หวันเป็นอิสระจากการยึดครองของญี่ปุ่น และ ให้ตั้งรัฐบาลจากคนท้องถิ่นเพื่อปกครองไต้หวันแทน ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเห็นด้วยกับการเป็นอิสระจากการยึดครองของญี่ปุ่น แต่ต้องการให้ไต้หวันกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศจีนอีกครั้ง
แบ่งออกเป็นสองพวก-สองขั้วอย่างชัดเจน คือ พวกที่เอาด้วยกับญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเขา และ ชาวบ้านระดับล่าง ส่วนพวกที่ไม่เอาด้วยกับญี่ปุ่นจะเป็นชนชั้นปกครอง คนมีการศึกษา และ คนมีฐานะ
พวกที่เอาด้วยกับญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นคนทางใต้ ซึ่งมีผลประโยชน์จากการที่ญี่ปุ่นเข้ามาปกครองอย่างชัดเจน อาทิเช่น เมืองเจีย อี้ ที่เป็นเมืองปากทางขึ้นสู่เขาอาลีซาน
ในขณะที่ พวกไม่เอากับญี่ปุ่นจะเป็นคนภาคเหนือ คือ เริ่มจากเมืองไถจง ที่อยู่ตอนกลางของประเทศโดยประมาณขึ้นไปจนกระทั่งไทเป และภาคเหนือสุด
มีการก่อการลุกฮือ หรือ กบถหลายครั้ง แต่ก็ถูกญี่ปุ่นปราบปรามลงจนได้
จนกระทั่ง วันที่ 1 ตุลาคม ปีค.ศ. 1949 กองทัพของนายพล เจียง ไค เช็ค จากรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง ซึ่งพ่ายแพ้ในสงครามกลางเมืองในประเทศจีน ต่อกองทัพปลดแอกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่นำโดยเหมา เจ๋อ ตง พร้อมด้วยทหารหลายแสนคน และ ประชาชนผู้ฝักใฝ่ในรัฐบาลกั๊ว มิน ตั๋ง ประมาณ 2 ล้านคนได้เดินทางหนีออกจากแผ่นดินใหญ่จีนไปขึ้นฝั่งที่เกาะไต้หวัน
หลังจากนั้นอีก 7 วัน เจียง ไค เช็ค ก็ประกาศให้ ไทเป เป็นเมืองหลวงของ ประเทศสาธารณะรัฐ จีน เป็นการชั่วคราว และเรื่อยมาจนทุกวันนี้
ไทเป นั้นตั้งอยู่ทางเหนือสุดของเกาะไต้ไหวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่ ฐานเสียงของพรรค กั๊ว มิน ตั๋ง ส่วนใหญ่จึงอยู่ในภาคเหนือของประเทศ
สัปดาห์หน้าจะมาพูดกันต่อถึงความแปลกประหลาดของของการเมืองชาวไต้หวันกันครับ
สนใจเดินทางท่องเที่ยวไต้หวัน เชิญติดต่อ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ จำกัด โทร 02 651 6900)