อิหร่าน-อาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณ(ตอน 5)

ซอกซอนตะลอนไป                           (30 กันยายน 2559 )

อิหร่าน-อาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณ(ตอน 5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               อาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณมีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่พระเจ้าไซรัส (CYRUS) ซึ่งขึ้นครองราชย์ ในราวปี 559 ก่อนคริสตกาล  หรือประมาณ 2575 ปีที่แล้ว   

               บิดาของพระเจ้าองค์ก็คือ แคมไบเซส(CAMBYSES) กษัตริย์ของเมืองแอนชาน(ANSHAN) ในจังหวัดฟาร์ส(FARS) ที่อยู่ทางใต้ของประเทศอิหร่านปัจจุบัน  อยู่เหนือเมืองชีราสขึ้นไปไม่ไกล  

               ส่วนมารดาก็คือ มานเดน(MANDANE) ธิดาของแอสยาเกส(ASTYAGES) กษัตริย์แห่งแคว้นมีเดีย(MEDIA) ที่อยู่ทางตอนเหนือของอิหร่าน 


(แผนที่อาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณ  จะเห็นเมืองแอนชาน อยู่ทางใต้  และ แคว้นมีเดส หรือ มีเดีย อยู่ทางเหนือ-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ด้วยเหตุนี้  ไซรัส จึงมีเลือดผสมระหว่างชนเผ่าฟาร์ซี  และ  ชนเผ่ามีเดียน ซึ่งเป็นชนเผ่าที่มีความแข็งแกร่งในยุคนั้น     

               ที่เมืองแอนชานนี่เอง  ที่อาณาจักรเปอร์เชี่ยนโบราณก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจนยิ่งใหญ่  ภายใต้ชื่อราชวงศ์อาเคเมนิด(ACHAEMENID EMPIRE) โดยพระเจ้าไซรัส ซึ่งได้รับการขนานนามว่า  มหาราช ในเวลาต่อมา


(รูปสลักของพระเจ้าไซรัส มหาราช ที่มีปีก 4 ปีก และ มงกุฎแบบอียิปต์บนศรีษะ  ทั้งหมดนี้เป็นอิทธิพลที่ได้รับมาจากอียิปต์โบราณโดยตรง-ภาพจากวิกิพีเดีย)

               ผลงานที่โดดเด่นที่ยังเห็นได้จนทุกวันนี้ของพระองค์ก็คือ  พระราชวังเปอร์เซโปลิส ที่พระองค์เป็นผู้วางรากฐานในการสร้างเอาไว้

               การปกครองแผ่นดินในช่วงแรกของไซรัส นั้น   เป็นแต่เพียงในนาม   เพราะ กษัตริย์แอสยาเกส คอยควบคุมไซรัส ไม่ปล่อยให้ไซรัสปกครองแผ่นดินโดยตรง   จนในที่สุด  ไซรัสก็ก่อการกบถโค่นบัลลังก์ของพ่อตาของเขาลง  โดยได้รับความช่วยเหลือจากตระกูลใหญ่ๆชาวมีเดียน 

               จากนั้น   ไซรัสก็ขึ้นปกครองแผ่นดินอย่างเต็มตัว

               ราชวงศ์อาเคเมนิด ขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวาง จนกินพื้นที่ไปถึงประเทศกรีซ   ดินแดนของตุรกี และ อนาโตเลีย   อียิปต์   ตะวันออกกลางทั้งหมด และ เอเชียบางส่วน 


(อาณาเขตที่อาณาจักรอาเคเมนิด ของเปอร์เชี่ยนโบราณขยายการครอบครองออกไปจนครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ- ภาพจากวิกิพีเดีย)   

               สงครามครั้งสำคัญของเปอร์เชี่ยนก็คือ   การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำศึกสงครามกับชาวนครรัฐกรีก ในราวปี 499 ก่อนคริสตกาล จนกระทั่งปี 449 ก่อนคริสตกาล  ซึ่งอยู่ในสมัยของพระเจ้าดาริอุส ที่ 1 (DARIUS I) แห่งราชวงศ์อาเคเมนิด   


(พระเจ้าดาริอุส ที่ 1 แห่งเปอร์เชีย)

               พระองค์เริ่มต้นด้วยการปราบปรามการก่อการกบถของเมืองอาณานิคมต่างๆของกรีก  ที่อยู่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของตุรกี  เพื่อต่อต้านการปกครองของตัวแทนที่อาณาจักรเปอร์เชี่ยนส่งมา

               ตัวแทนของพวกเปอร์เชี่ยนดังกล่าว   ก็เป็นชาวกรีกด้วยกันนั่นเอง 


(ชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอนาโตเลีย หรือ  ตุรกีในปัจจุบัน เป็นอาณานิคมของชาวกรีก เช่นพวก AEOLIAN , IONIAN  , DORIAN -ภาพจากวิกิพีเดีย )

               อาณานิคมชาวกรีกที่อยู่ริมฝั่งทะเลของตุรกี จึงร้องขอให้กองทหารของนครรัฐเอเธนส์(ATHENS)  และ นครรัฐอีรีเทรีย(ERETRIA) จากกรีซมาช่วย   แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกองทัพของเปอร์เชี่ยนในสมรภูมิแห่งเมืองเอฟฟิซัส 

               หลังจากนั้น   พวกเปอร์เชี่ยนก็ทำการปราบปรามเมืองอาณานิคมกรีกทั้งหลายที่อยู่ริมทะเล  เพื่อให้เหลือแต่เมืองที่ยอมสยบต่อการปกครองของอาเคเมนิด

               แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น 

               พระเจ้าดาริอุส ที่ 1 มหาราช นอกจากจะมีความโกรธต่อนครรัฐเอเธนส์ และ นครรัฐอีรีเทรีย ที่ส่งทหารมารบกับเปอร์เชี่ยนแล้ว   ก็ยังมองเห็นว่า  บรรดาพวกนครรัฐทั้งหลายของกรีก มีโอกาสจะเป็นภัยคุกคามต่ออาณาจักรอาเคเมนิดในอนาคต  จึงวางแผนที่จะบุกโจมตีบรรดานครรัฐที่ประเทศกรีซทันที 

               พระเจ้าดาริอุส ที่ 1  ตระเตรียมกองกำลัง  ทั้งกองทัพบก และ กองทัพเรือให้พร้อม   เพื่อจะกวาดล้างนครรัฐเอเธนส์ และ นครรัฐอีรีเทรีย ให้หมดสิ้นไป

               จากนั้นในปี 492 ก่อนคริสตกาล  พระเจ้าดาริอุส ที่ 1 ก็ยกทัพบุกกรีซ  และถือเป็นเริ่มต้นของสงครามระหว่างสองชาติที่ยาวนานประมาณ 50 ปี

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ  

               ท่านที่สนใจจะเดินทางไปท่องเที่ยวอิหร่านกับผม ด้วยโปรแกรมระดับดีลักซ์  ที่พักดี  อาหารเด่น  ด้วยสายการบินไทย   กับ ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ วันที่ 22 ถึง 30 พฤศจิกายนนี้   ติดต่อได้ที่โทร 02 651 6900 

               (ขอเชิญติดตามชม  สารคดีท่องเที่ยว  วัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์ ของผมได้ที่  youtube/whiteelephant2529  ครับ)

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *