ซอกซอนตะลอนไป (22 กรกฎาคม 2559 )
สาธารณรัฐเชก ดินแดนแห่ง 5000 ปราสาท(ตอน 1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ประเทศสาธารณรัฐเชก หรือ ที่เราเคยรู้จักกันในนามของประเทศเชกโกสโลวักเกียนั้น ครั้งหนึ่งเคยเป็นดินแดนภายใต้การครอบครองของ สหภาพโซเวียต ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
หลังจากหลุดออกมาจากปีกของสหภาพโซเวียตเมื่อประมาณร่วม 20 ปีที่แล้ว สโลวักเกีย ก็ขอแยกตัวออกเป็นประเทศอิสระ กลายเป็น 2 ประเทศ คือ ประเทศสโลวัค และ ประเทศสาธารณรัฐเชก
สาธารณรัฐเชก ซึ่งได้รับฉายาว่า ดินแดนแห่ง 5000 ปราสาท
อันที่จริง คำว่า 5000 ปราสาท เป็นคำที่แสดงนัยยะเท่านั้น มิได้หมายถึงจำนวน 5000 จริงๆ หากแต่หมายความว่า มากมาย ซึ่ง สาธารณรัฐเชก ก็มีปราสาทเก่าแก่อายุหลายร้อยปีมากมายจริงๆ
ช่วงวันที่ 7 – 14 ตุลาคมนี้ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ได้ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ จัดโปรแกรมท่องเที่ยว “สาธารณรัฐเชก โบฮีเมีย และ โมราวีย” 8 วัน 5 คืน ซึ่งผมจะเป็นผู้บรรยายชม จึงขอเอาเรื่องราวของประเทศเชก มาเล่าสู่กันฟังนะครับ
พื้นที่ของประเทศเชก ประกอบด้วยแค้วนใหญ่ๆ 2 ชื่อด้วยกันคือ โบฮีเมีย(BOHEMIA) , โมราเวีย(MORAVIA) และแคว้นเล็กที่เรียกว่า ซิลีเซีย(SILESIA) อีกหนึ่งชื่อ
เมื่อประมาณ 1500 ปีเศษ มีผู้อพยพจากตะวันออกเข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่แถบนี้ คนเหล่านี้คือ ชนเผ่าสลาฟ (SLAVS) ที่มีผู้นำที่ชื่อ เชก (CECH) ซึ่งสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นที่มาของชื่อประเทศเชก ในเวลาต่อมา
ชนเผ่าสลาฟ อพยพเข้ามาอาศัยในยุโรปกลาง ยุโรปตะวันออก ยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ บางส่วนอยู่ในเอเชียเหนือ และ เอเชียกลาง
พวกสลาฟ ที่อาศัยอยู่ในยุโรป กระจายตัวไปอยู่ในหลายพื้นที่ จึงแบ่งแยกกันเรียกชนเผ่าสลาฟเหล่านี้ตามถิ่นฐานที่อาศัย คือ พวกสลาฟตะวันตก หมายถึง พวกที่อยู่ในโปแลนด์ เชก และ สโลวัก
พวกสลาฟใต้ คือ พวกเซิร์บในเซอร์เบีย , พวกโครแอทส์(ในโครเอเชีย) พวกสโลวีเนียน(อาศัยอยู่ในประเทศสโลเวเนีย) , และ พวกมาซิโดเนีย (ปัจจุบันคือประเทศใหม่ มาซิโดเนีย ที่แยกตัวออกมาจากประเทศกรีซได้ไม่นาน) และ พวกบัลการ ที่อาศัยอยู่ในประเทศบัลแกเรีย
สุดท้ายคือ พวกสลาฟตะวันออก ซึ่งได้แก่พวก รัสเซี่ยน , ยูเครเนียน(อาศัยอยู่ในยูเครน) และ เบลารุสเซี่ยน(อาศัยอยู่ในประเทศเบลารุส)
ในยุคนั้น ชนเผ่าสลาฟถูกจัดเป็นพวกที่ไม่มีวัฒนธรรม หรือ วัฒนธรรมต่ำ ไม่มีภาษาเขียนของตัวเอง มีแต่เพียงภาษาพูดเท่านั้น เป็นพวกเร่ร่อนคล้ายๆกับชนเผ่ามองโกล ที่อพยพเข้ามาในยุโรป และค่อยๆพัฒนาจนกลายมาเป็นพวกเติร์ก และเป็นชาวตุรกีในปัจจุบัน
สิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชนเผ่าสลาฟก็คือ ศาสนาคริสต์ ซึ่งถูกนำมาเผยแพร่จากนครคอนสแตนติโนเปิล หรือ เมืองหลวงของอาณาจักรโรมันภาคพื้นตะวันออก เข้ามาสู่พื้นที่แถบนี้ในต้นศตวรรษที่ 9 โดยนักบุญสององค์ที่ชื่อ ซีริล(CYRIL) และ แมธโธดิอุส(MATHODIUS)
ตอนนั้น คริสต์ศาสนจักรทั้งสองค่าย คือ นิกายออร์โธดอกซ์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ คอนสแตนติโนเปิล กับ นิกายโรมัน คาธอลิค ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่โรม ต่างก็แข่งขันกันในการออกไปเผยแพร่ศาสนาให้ได้คนเข้ามานับถือมากที่สุด
ด้วยถือว่า หากใครเผยแพร่ศาสนาได้พื้นที่มากกว่า จะได้บุญมากกว่า
เมื่อซีริล กับ แมธโธดิอุส เข้ามาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในดินแดนนี้ ก็ประสบปัญหาการสื่อสาร เพราะชาวสลาฟไม่สามารถเข้าใจคัมภีร์ไบเบิลที่เขียนด้วยภาษากรีกได้ ดังนั้น พระทั้งสองจึงต้องคิดค้นตัวอักษรขึ้นมาใหม่เพื่อให้ชาวสลาฟได้ใช้
อักษรที่พระทั้งสององค์สร้างขึ้นมานั้น เรียกว่า อักษรซีริลลิค หรือบางทีก็เรียกว่า อักษรกลาโกลลิติค และ ซีริลลิค(THE GLAGOLITIC AND CYRILLIC ALPHABETS) ซึ่งปัจจุบันนี้ ถือว่าเป็นภาษาที่ตายแล้ว เพราะไม่มีใครใช้งานอย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว
จุดประสงค์ก็เพื่อใช้เป็นสะพานเชื่อมเข้าถึงคัมภีรไบเบิลของศาสนาคริสต์ เพราะพระทั้งสององค์จะแปลคัมภีรไบเบิล มาเป็นภาษาซีริลลิค ให้คนพื้นเมืองได้อ่าน ซึ่งจะทำให้ง่ายขึ้นที่จะเผยแพร่ศาสนาคริสต์
จากนั้นเป็นต้นมา ศาสนาคริสต์นิกายออร์โธดอกซ์ ก็ได้ลงหลักปักฐานลงในแผ่นดินโบฮีเมีย ของเชก แม้ว่าทุกวันนี้ ศาสนาคริสต์ที่ได้รับการนับถือในประเทศเชก จะเป็นนิกายโรมันคาธอลิคก็ตาม แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงหลักจากที่ราชวงศ์ฮับส์เบิร์กได้เข้ามามีอิทธิพลในดินแดนของเชกในภายหลัง
สำหรับท่านที่สนใจจะร่วมเดินทางไปเที่ยว ประเทศสาธารณรัฐเชก – โบฮีเมีย และ โมราเวีย กับผม สามารถสำรองที่นั่งได้ที่ 02 308 0555 หรือ 02 651 6900 ได้
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ