ซอกซอนตะลอนไป (13 มกราคม 2560 )
บนเครื่องบิน ไม่ปลอดภัย ?
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2558 ผมได้เขียนถึงเหตุการณ์ที่ถูกพวกมิจฉาชีพขโมยเงินในกระเป๋าสะพายหลังของผม บนเครื่องบินของสายการบินเตอร์กิชแอร์ไลน์ และได้ร้องเรียนไปยังสายการบินแต่ไม่เกิดผลอะไร
ในช่วงเวลาใกล้ๆกันนั้นเอง ก็มีข่าวการขโมยทรัพย์สินบนเครื่องบินอีกหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่า ไม่มีสายการบินใดที่จะตอบสนองต่ออาชญากรรมเหล่านี้ ด้วยการติดกล้องวงจรปิดบนเครื่องบิน เพื่อเป็นการป้องปรามพวกก่ออาชญากรรม
เชิญอ่านบทความที่ผมเขียนได้ตามลิงค์ข้างล่างครับ
http://www.naewna.com/columnonline/21843
วันนี้ ขอพูดถึงเรื่องความปลอดภัยบนเครื่องบินของสายการบินทั่วโลกอีกครั้ง
เนื่องมาแต่ข่าว แครี่ ฟิชเชอร์ ดารานักแสดงหญิงจากภาพยนตร์เรื่อง “สตาร์ วอร์ส” ได้เสียชีวิตในขณะบินจากลอนดอน ไปยัง ลอส แองเจลีส เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ด้วยอาการทางหัวใจ
รายละเอียดเกี่ยวกับอาการป่วย และเสียชีวิต ของเธอไม่ค่อยเป็นที่เปิดเผยนัก แต่ทราบว่า เธอมีอาการทางหัวใจตั้งแต่ก่อนที่เครื่องจะลงจอดไม่ต่ำกว่า 15 นาที และเมื่อไปถึงโรงพยาบาล ก็ไม่ทันการเสียแล้ว
ตามกฎของสายการบิน เครื่องบินทุกลำจะต้องตระเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ทางการแพทย์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคขั้นต้นบนเครื่องบิน อันประกอบด้วย สเตตโธสโคป(STETHOSCOPE) หรือ หูฟังการทำงานของอวัยวะภายใน และ เครื่องวัดความดันโลหิต และ การเต้นของหัวใจ และ ยาฉีดบางชนิดที่จำเป็นในการปฐมพยาบาลขั้นต้น
นี่คือมาตรฐานที่ทุกสายการบินจะต้องมี เพื่อให้ผู้โดยสารสักคนที่อาจจะเป็นแพทย์ หรือ เป็นผู้ที่พอจะมีความรู้ทางการแพทย์อยู่บ้าง ที่บังเอิญอยู่บนเครื่องบินลำนั้นจะได้ช่วยตรวจเช็ค และ วิเคราะห์อาการของผู้ป่วยฉุกเฉินบนเครื่องบิน เพื่อประกอบการตัดสินใจของกัปตันว่า จะเลือกเอาเครื่องลงฉุกเฉินเพื่อนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลหรือไม่
เครื่องมือทางการแพทย์ที่ว่านี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการอยู่รอดปลอดภัยของชีวิตผู้โดยสาร
เมื่อไม่นานมานี้ ลูกทัวร์ของผมท่านหนึ่งซึ่งเป็นแพทย์ ได้ประสบเหตุการณ์ฉุกเฉินบนเครื่องบินลำหนึ่ง ซึ่งผมจะไม่เอ่ยชื่อของสายการบินนั้น ได้เล่าให้ผมฟังว่า
เมื่อมีเสียงประกาศหาแพทย์บนเครื่องบินเพราะมีผู้ป่วยฉุกเฉินบนเครื่องบิน เพราะมีอาการเกี่ยวกับการหายใจ ท่านจึงรีบอาสากับเจ้าหน้าที่บนเครื่องบินช่วยตรวจผู้ป่วยทันที แต่ก็ประสบกับปัญหาอันเกิดจากเครื่องมือทั้งสองอย่างที่ว่ามา
เครื่องสเตตโธสโคป บนเครื่องบินลำนั้นคุณภาพค่อนข้างแย่ ไม่สามารถฟังเสียงการทำงานของอวัยวะภายในได้ถนัดนัก ซ้ำเสียงเครื่องยนต์ของเครื่องบินก็ยังดังรบกวนการฟังที่ว่านี้อีก จึงยากมากที่จะวินิจฉัยโรคขั้นต้นได้อย่างแม่นยำ
นอกจากนี้ เครื่องวัดความดัน และ การเต้นของหัวใจ ก็ยังทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร
กล่าวคือ แถบกาวรัดแขนเสื่อมสภาพ ทำให้เมื่ออัดลมเข้าไปที่เข็มขัดรัดแขนเพื่อดูผลของความดันโลหิต และ จำนวนครั้งของการเต้นของหัวใจ
ปรากฏว่า แถบกาวรัดแขนกลับไม่สามารถยึดตัวได้ ทำให้เข็มขัดหลุดออกจากกัน การวัดผลเต็มไปด้วยความทุลักทุเล การวัดความดันโลหิตไม่สามารถอ่านผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โชคดีที่ผู้ป่วยท่านนี้ มีอาการไม่หนักหนานัก จึงเพียงแค่ปฐมพยาบาลขั้นต้นก็หายเป็นปกติ
คุณหมอท่านนี้ จึงขอให้ผมช่วยเขียนบทความ เพื่อช่วยกระตุ้นทุกสายการบินว่า อย่าได้วางใจ หรือ ปล่อยปละละเลยเครื่องมือทางการแพทย์ทั้งสองชนิดที่ใช้บนเครื่องบิน ด้วยเพียงแค่จัดหาให้มีครบตามกฎของสายการบินเท่านั้น
หากแต่จะต้องดูแลว่า เครื่องมือนั้นๆได้มาตรฐานทางการแพทย์ ที่เรียกว่า MEDICAL STANDARD หรือ ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับที่หมอในโรงพยาบาลใช้กันหรือไม่ด้วย
อย่าสักแต่คิดว่า หาซื้อเครื่องมือราคาถูกตามท้องตลาดมาไว้บนเครื่องบิน แค่นั้นก็พอ เพราะเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นต้องใช้งานจริง เครื่องมือที่ว่า อาจจะทำงานไม่ได้ หรือ ทำงานไม่ได้ตามมาตรฐานทางการแพทย์
ชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินบนเครืองบิน จะรอด หรือ จะตาย อาจจะขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ว่านี้ก็ได้ครับ