ซอกซอนตะลอนไป (26 กุมภาพันธ์ 2559 )
“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 16)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
หม่อมมณี เริ่มต้นชีวิตใหม่กับพระองค์อาภัสในปีพ.ศ. 2486 คุณหญิงมณี ได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร” เอาไว้ว่า
“ข้าพเจ้าอดคิดในใจไม่ได้ว่า การแต่งงานครั้งที่สองของข้าพเจ้าครั้งนี้ ช่างผิดกับครั้งแรกเสียจริงๆ…………ข้าพเจ้านึกถึงการดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ครั้งแรกของข้าพเจ้าที่ฝรั่งเศส ความสุขหรรษาที่ไม่มีอะไรมาเปรียบปราน”
เพราะหลังจากที่ หม่อมมณี และ พระองค์อาภัส ได้ไปฮันนีมูนกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งในตำบลเมเดนเฮด เป็นเวลา 3 วัน ก็เดินทางไปฮันนีมูนต่อที่ตำหนัก TREDETHY ซึ่งเป็นของพระองค์จุลฯ หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ตามคำเชิญของท่านเป็นเวลา 7 วัน
แล้วคืนสุดท้ายของการพักที่ตำหนัก ก็กลายเป็นจุดขัดแย้งในการเริ่มต้นการแต่งงานของทั้งสอง เมื่อพระองค์จุลฯ ได้เอ่ยปากถามหม่อมมณีในเรื่องความคิดเห็นที่มีต่อระบอบคอมมิวนิสต์บนโต๊ะทานอาหาร
หม่อมมณี ตอบไปตามความเชื่อของตนเอง ซึ่งทำให้พระองค์จุลฯ ไม่พอใจ จนมีการปะทะคารมกัน บรรยากาศบนโต๊ะอาหารตึงเครียดมากจนหม่อมลิสบา ภริยาชาวอังกฤษของพระองค์จุลฯ และ หม่อมซีริล ภริยาชาวอังกฤษเช่นกันของพระองค์พีระ ต้องเข้ามาขัดจังหวะ และชักชวนให้ทุกคนเตรียมตัวเล่นเกมส์
เมื่อกลับเข้าห้องนอน พระองค์อาภัส ไม่พอใจหม่อมมณีเป็นอย่างยิ่ง และต่อว่าหม่อมมณีว่า ไม่ควรที่จะต่อปากต่อคำกับพระองค์จุลฯ เพราะไม่เคยมีใครกล้าพูดคัดค้านความคิดเห็นพระองค์จุลฯ แม้แต่คนเดียว
เป็นการขัดแย้งทางความคิดระหว่างพระองค์อาภัส กับ หม่อมมณี จนคุณหญิงมณี ได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ ว่า
“เป็นสาเหตุที่ทำลายบรรยากาศแห่งความสัมพันธ์ทางจิตใจ ที่ข้าพเจ้ามีต่อพระองค์อาภัสในการร่วมชีวิตใหม่เป็นครั้งแรก ซึ่งถือได้ว่าเป็นลางไม่ดีครั้งที่สาม”
หม่อมมณี เริ่มรู้สึกสังหรณ์ใจแล้วว่า
“ชีวิตการแต่งงานครั้งที่สองคงไม่ราบรื่นนัก และอาจสิ้นสุดลงได้ในวันข้างหน้า”
บุคลิกที่โดดเด่นของคุณหญิงมณีที่ปรากฏในหนังสือ และ ในดวงชะตาก็คือ เป็นคนที่มีใจนักเลง กล้าได้กล้าเสีย และ เป็นคนพูดจาโผงผางตรงไปตรงมา
ดังนั้น วันหนึ่ง หม่อมมณี จึงได้เริ่มพูดคุยแบบตรงไปตรงมากับสามีอย่างเปิดอก และ ต้องการจะรู้ว่า สามีของเธอต้องการจะดำเนินชีวิตอย่างไร ซึ่งเธอก็พร้อมที่จะปฎิบัติตาม
หม่อมมณีเขียนไว้ในหนังสือว่า
“เมื่อเราทั้งสองร่วมหัวจมท้ายเป็นครอบครัวเดียวกันแล้ว ข้าพเจ้าก็อยากทำทุกสิ่งทุกอย่างให้การแต่งงานของเราเป็นความสำเร็จ”
หลังจากพูดคุยกันแล้ว พระองค์อาภัสก็ตัดสินใจเลิกทำงานเขียนแบบในลอนดอน เพราะขณะนั้นยังเป็นช่วงสงครามโลกอยู่ ลอนดอนค่อนข้างจะเสี่ยงต่อภัยจากการทิ้งระเบิด
เมื่อได้รับอนุมัติเงินจากกองทุนจำนวน 3,000 ปนอด์ ทั้งคู่ก็เลือกซื้อบ้านในชนบทซัมเมอร์เซทหลังหนึ่งในนามของลูกชายทั้งสองคนของหม่อมมณี จากนั้น ทั้งคู่ก็ย้ายไปอยู่ที่บ้านไฮเออรฺมีด ที่อยู่ในชนบทที่ห่างไกลจากลอนดอนมากๆหลังนี้
ชีวิตใหม่ที่มี่งคู่ตัดสินใจที่จะเป็นก็คือชาวไร่ชาวสวน ตามความต้องการของพระองค์อาภัส และ บ้านหลังนี้ก็เหมาะสมในการทำไร่ทำสวนไร่มาก เพราะมีที่ดินกว้างขวางมากกว่า 6 เอเคอร์
ครอบครัวของหม่อมมณี ย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านไฮเออร์มีดหลังจากที่แต่งงานได้ 3 เดือน ซึ่งขณะนั้น เธอได้ตั้งครรภ์ลูกคนที่สามซึ่งเกิดแต่พระองค์อาภัสแล้ว
เป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวหม่อมมณี มีชีวิตแบบชาวฟาร์มอังกฤษอย่างแท้จริง ปลูกพืช เลี้ยงวัวนม เลี้ยงไก่ เลี้ยงห่าน แทบทุกอย่างต้องทำด้วยมือ กระทั่งพิธีรีตองหรูหราบนโต๊ะอาหารที่บ้านดอนฮิล ตอนหม่อมมณีมีชีวิตร่วมกับพระองค์จิรศักดิ์ ก็เลิกจนหมด
แม้แต่งานซักผ้า และ งานแม่บ้าน หม่อมมณีก็ต้องทำเอง
ตอนเย็นของวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2486 หม่อมมณีก็คลอดลูกคนที่ 3 เป็นผู้หญิงสมใจของพระองค์อาภัส เพราะพระองค์อาภัสคิดว่า หากเป็นลูกชายอาจจะเกิดปมด้อย เพราะเป็นลูกของพี่ชาย แต่อายุน้อยกว่าต้องเดินตามหลังน้อง
มีเรื่องที่น่าสนใจมากเรื่องหนึ่งในอังกฤษสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ที่คุณหญิงมณีได้เขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ว่า นายแพทย์ที่รักษาคนไข้จะคิดค่ารักษาตามฐานะของคนไข้
ค่าหมอในการทำคลอดลูกคนที่สาม ที่อยู่ในชนบทห่างไกลผู้คนมากๆนั้น มีราคาเพียง 5 ปอนด์ ในขณะที่ตอนที่หม่อมมณีคลอดลูกคนแรก ต้องจ่ายเงินค่าหมอถึง 500 ปอนด์ และ ตอนคลอดลูกคนที่สองต้องจ่ายค่าหมอ 100 ปอนด์
สาเหตุที่ต้องจ่ายค่าหมอในการคลอดลูกคนแรกค่อนข้างแพงมากก็เพราะว่า หมอที่ทำคลอดลูกสองคนแรก คิดค่าหมอตามฐานะของหม่อมมณีว่า เป็นลูกสะใภ้ของอดีตกษัตริย์ของเมืองไทย
แต่หมอแบแรต ผู้ทำคลอดลูกคนที่สามให้หม่อมมณี คิดค่าทำคลอดให้ในฐานะที่หม่อมมณีเป็นบุคคลธรรมดา ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆที่มีประชากรไม่ถึง 1 หมื่นคนด้วยซ้ำ
คุณหญิง เขียนเอาไว้ในหนังสือเล่มนี้ ตอนหนึ่งว่า
“ข้าพเจ้าคิดว่าในโลกนี้คงไม่มีใครอีกแล้ว ที่จ่ายค่าคลอดลูกแต่ละครั้งผิดแผกแตกต่างกันถึงเพียงนี้ และก็คงเป็นการแสดงถึงความขึ้นๆลงๆ การหมุนเวียนเปลี่ยนไปในชะตาชีวิตของข้าพเจ้าอย่างหนึ่งด้วย”
จากชีวิตนักเรียนทุนในมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ใช้ชีวิตในหอพัก ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด กลายมาเป็นลูกสะใภ้ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่ใช้ชีวิตแสนจะสุขสบาย แล้วกลายมาเป็นสาวชาวไร่ เป็นแม่บ้านของชาวฟาร์ม ที่ต้องซักผ้าด้วยตนเอง
ชีวิตช่างเหมือนฝันเสียนี่กระไร
พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ
(เชิญติดตามอ่านบทความ ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ด้วย ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)