ซอกซอนตะลอนไป (20 มกราคม 2560 )
คุณธรรมของพนักงานเสริฟอาหารจีน กับโรงพยาบาลเอกชนไทย
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
นักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ เมื่อไปเที่ยวอังกฤษมักจะต้องแวะไปที่ถนน BAYSWATER เพื่อหาอาหารจีนอร่อยๆทานกัน
ถนนสายนี้ เป็นที่รู้จักกันดีว่า เป็นแหล่งของร้านอาหารจีนหลายร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้าน FOUR SEASON ที่มีชื่อเสียงในเรื่องของ เป็ดย่าง ร้าน MANDARIN SEAFOOD , ร้าน NEW FORTUNE COOKIE และ ร้าน GOLD MINE เป็นต้น
ในสายตาของผม อาหารอังกฤษเป็นอาหารที่รสชาติค่อนข้างแย่ ทานยาก หากเทียบกับอาหารของประเทศยุโรปชาติอื่นๆ และ ยิ่งเทียบกันไม่ได้กับอาหารจีน
นอกจากรสชาติของอาหารจีนแบบกวางตุ้งที่อร่อยแล้ว สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจก็คือ คุณธรรมของพนักงานเสริฟของร้านอาหารจีนที่นี่
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่ไปถึงร้านอาหารจีนเหล่านี้ มักจะหิวกันสุดๆ ยิ่งได้กลิ่นที่หอมหวนจากอาหารโต๊ะข้างๆ ก็ยิ่งหิวหนักเข้าไปอีก จึงมักจะสั่งอาหารกันอย่างไม่ยั้งมือ
พนักงานเสริฟของร้านจึงมักจะเตือนลูกค้าเสมอว่า แค่นี้ก็น่าจะพอแล้ว สั่งมากเดี๋ยวกินไม่หมด ทั้งๆที่ยิ่งลูกค้าสั่งอาหารมากเท่าไหร่ ร้านอาหารก็จะมีรายได้มากขึ้นเท่านั้น ทิปของพนักงานเสริฟก็จะมากตามไปด้วย เพราะเขาจะคิดค่าทิปเป็นเปอร์เซนต์จากค่าอาหาร
แต่พนักงานเสริฟก็เลือกที่จะเตือนนักลูกค้า เพื่อลูกค้าจะได้ไม่ต้องเสียเงินมากเกินความจำเป็นแม้ว่าจะสามารถห่ออาหารกลับไปทานที่บ้านได้ก็ตาม
ดูจากจุดนี้ พนักงานเสริฟก็น่าจะมีคุณธรรมพอสมควร
ทำให้อดนึกถึงเรื่องที่บรรดาเพื่อนๆเล่าให้ฟังเกี่ยวกับการบริการของโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทย ที่เขาคิดว่า ค่อนข้างจะน้อยคุณธรรมสักนิดมาเล่าให้ผมฟัง
รายแรกบอกว่า คนใช้ในบ้านขาแพลง พาไปหาหมอที่โรงพยาบาลเอกชน หมอแค่จับดูนิดหน่อย ถามอีกสองสามคำ เฝือกก็ไม่ได้ใส่ เอ็กซเรย์ก็ไม่ได้ทำ แต่คิดค่า DF หรือ ค่าตรวจถึง 2000 บาท
อีกรายบอกว่า หลานท้องเสีย เอาเข้าโรงพยาบาลเอกชนแถวสุขุมวิท พักในโรงพยาบาล 4 คืน พอเห็นบิลค่ารักษา ผู้เป็นลุงหัวใจแทบวาย เพราะปาเข้าไป 4 แสนบาท
ซ้ำตอนที่ขอเอาหลานออกจากโรงพยาบาลเพราะเห็นว่าเขาเป็นปกติดีแล้ว หมอกลับบอกว่า จะให้นอนพักดูอาการในโรงพยาบาลต่อไปอีก 2 คืน ซึ่งก็คงอีกเป็นแสน
แต่เขายืนยันเอาเด็กออกจากโรงพยาบาล และ หลังจากกลับมาบ้าน อาการก็ปกติหายดี
อีกราย เจ้าตัวปวดท้องอย่างแรง เพราะเคยผ่าตัดลำไส้มาก่อน ทนไม่ไหวจึงรีบเข้าโรงพยาบาลเอกชนใกล้บ้าน หมอแห่กันมาตรวจแทบจะหมดโรงพยาบาล คนหนึ่งบอกว่าต้องผ่าท้อง อีกคนบอกว่า หัวใจเต้นไม่ปกติ ต้องตรวจหัวใจเพิ่มอีก
เจ้าตัวทนไม่ไหว นึกขึ้นได้เลยโทรหาหมอเจ้าของไข้ผู้ผ่าตัดลำไส้ของเขาปีสองปีก่อน หมอสั่งให้ออกจากโรงพยาบาลไปหาหมอผู้ผ่าตัดทันที เขาให้ยามากิน ไม่กี่วันหายเป็นปกติ และ ไม่มีอาการโรคหัวใจแต่ประการใด แม้จนทุกวันนี้
หากเขายอมผ่าท้องตามคำแนะนำของหมอ และ ให้หมอโรคหัวใจทำการตรวจรักษาด้วย ซึ่งอาจจะลงเอยด้วยการผ่าตัดหัวใจ ก็ถือว่าเป็นคราวซวยของตัวเอง
แต่ที่ซวยในทันทีก็คือ แค่นอนโรงพยาบาลคืนเดียว โดนค่ารักษาไป 4 หมื่นบาท เฉพาะหมดที่เดินเข้ามาถามไถ่อาการคำสองคำแล้วออกไป ก็เป็นเงินหลายอยู่
อีกราย แม่อายุ 80 กว่า แพทย์แนะนำให้ผ่าโน่นผ่านี้ไปเรื่อย จนในที่สุดคนไข้เสียชีวิต และ ทิ้งค่ารักษาให้คนลูกหลานต้องรับผิดชอบอีก 3 ล้านกว่าบาท
อีกราย หมอพยายามจะให้คนไข้สูงอายุตรวจรักษาด้วยเครื่องมือที่ค่ารักษาแพงมาก และเสี่ยงต่อชีวิตของคนไข้สูงอายุ เมื่อญาติคนไข้ไม่ยอมเซ็นชื่ออนุญาตให้เดี๋ยวนั้น หมอก็แสดงอาการไม่พอใจอย่างเห็นได้ชัด
สรุปจากเสียงบ่น ตำหนิ ของผู้ใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนแล้วเห็นว่า มีทิศทางใกล้เคียงกันก็คือ ไม่ว่าจะเป็นนายแพทย์ พยาบาล หรือ แม้กระทั่งเจ้าหน้าธุระการ ของโรงพยาบาลเอกชน ต่างก็พยายามกระตุ้นให้ญาติของคนไข้ หรือ ตัวของคนไข้เอง ใช้บริการเครื่องมือในการตรวจของโรงพยาบาลให้มากที่สุด
หากคนไข้ไม่ยอมตามที่หมอแนะนำ เจ้าหน้าที่ทั้งหลายในโรงพยาบาลก็มักจะชักสีหน้า แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไม่พอใจ และบางครั้งก็ยังพูดจาข่มขู่ว่า จะไม่รับผิดชอบหากเช็ค เอาท์ออกจากโรงพยาบาล
ทำให้อดเปรียบเทียบกับคำพูดของพนักงานเสริฟของร้านอาหารจีนในลอนดอนไม่ได้ ว่า พนักงานเสริฟช่างมีคุณธรรม เห็นอกเห็นใจลูกค้ายิ่งนัก
หมอไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้วหรือ ที่จะแนะนำคนไข้ให้สามารถเลือกรักษาในแนวทางที่มีราคาถูกกว่า หรือ ตัดการตรวจด้วยเครื่องมือบางอย่างที่ไม่จำเป็นหรือจำเป็นน้อยกว่าออกไปเพื่อว่าเขาจะได้ไม่ต้องจ่ายเงินแพงมาก
ไม่ใช่ว่า คนไข้เข้ามาในโรงพยาบาลด้วยอาการปวดหัว หมอก็ส่งเข้าตรวจด้วยเครื่อง MRI ซึ่งมีราคาแพงมาก หรือ ในบางกรณีที่ต้องเพาะเชื้อนั้น มีความจำเป็นที่จะต้องให้เขาพักในโรงพยาบาลหรือไม่ จะให้เขาไปพักที่บ้านเพื่อรอผลการเพาะเชื้อได้หรือไม่
คนไข้จำนวนมากที่ไม่ยอมรับการตรวจตามที่หมอแนะนำ และ หมอก็ได้ขู่ว่า ถ้ากลับบ้านแล้วเกิดตายจะไม่รับผิดชอบนั้น ก็ยังไม่เห็นกรณีการตายแบบนี้เลย
ในทางตรงกันข้าม คนไข้ที่รักษาตามแนวทางของหมอทุกอย่าง และ สิ้นเปลืองเงินจำนวนมหาศาลจนครอบครัวแทบล้มละลาย แต่ก็ต้องตายในโรงพยาบาลด้วยซ้ำนั้น หมอก็ไม่สามารถรับผิดชอบอะไรได้
หากหมอเห็นว่า โรคที่คนไข้เป็นอยู่นั้น หนักหนาสาหัสมากจนถึงจะรักษาไปก็ไม่รอดอยู่ดี หมอน่าจะมีทางเลือกที่ครอบครัวของคนไข้ไม่ต้องเดือดร้อนสิ้นเปลืองจนเกินไปนัก แต่ก็ต้องอธิบายให้ญาติฟังด้วย
เช่นเดียวกับที่พนักงานเสริฟในร้านอาหารจีนในลอนดอน ที่มีคำแนะนำ และมีทางเลือกแก่ลูกค้าของตนเอง
ผมรู้ดีว่า ทุกแวดวง ทุกอาชีพ ย่อมมีทั้งคนดี และ คนเลว มีทั้งคนมีคุณธรรม และ คนไร้คุณธรรม แต่ก็น่าแปลกใจที่โรงพยาบาลที่เพื่อนๆของผมประสบเหตุร้ายมา ล้วนเป็นโรงพยาบาลเอกชนทั้งสิ้น
ก็เลยคิดว่า ผมอาจจะโชคดี ที่ได้เจอพนักงานเสริฟที่มีคุณธรรม แต่เพื่อนๆหลายคนที่โชคไม่ดี ต้องมาเจอหมอ และ โรงพยาบาลที่ไม่ค่อยมีคุณธรรมก็เป็นได้
ถือว่า โชคใครโชคมัน