ซอกซอนตะลอนไป (9 กันยายน 2559 )
ก่อนจะมาเป็นกีฬาโอลิมปิค(ตอน 2)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ดังที่ได้พูดไปในตอนก่อนว่า ปรัชญากรีกโบราณกล่าวไว้ว่า จิตวิญญาณจะไม่สามารถคงอยู่ได้ หากปราศจากร่างกายที่เข้มแข็ง และ ร่างกายที่เข้มแข็งแต่ปราศจากจิตวิญญาณ ก็จะเป็นร่างกายที่หาค่าอะไรมิได้เช่นกัน
เด็กหนุ่มชาวกรีกจึงเข้ารับการอบรมทั้งทางกาย และ จิตวิญญาณ ในสถานที่แห่งหนึ่งที่เรียกว่า อะคาเดมี (ACADEMY)
อาคาร อะคาเดมี จะเป็นอาคารชั้นเดียวเหมือนห้องแถวติดกันเป็นทรงสี่เหลี่ยมล้อมรอบลานกลางแจ้งที่อยู่ตรงกลางที่เรียกว่า พาทิโอ (PATIO) ซึ่งมักจะเป็นพื้นดินเกลี้ยงๆไม่ปูด้วยหิน
บรรดาเด็กหนุ่มทั้งหลายจะฝึกฝนความแข็งแกร่งของร่างกายด้วยกีฬาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น มวยปล้ำ ชกมวย หรือ ฟันดาบ โดยที่เด็กหนุ่มเหล่านี้จะต้องเปลือยกาย แล้วชโลมตัวด้วยน้ำมันมะกอก
คำว่า เปลือยกาย ในภาษากรีก ก็คือ GYMNOS ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นคำว่า ยิมนีเซี่ยม (GYMNASIUM) ก็คือสถานที่ออกกำลังกายนั่นเอง
อันที่จริง เกมส์การแข่งขันเพื่อแย่งชิงการเป็นผู้เป็นเลิศเหนือทุกคนของชาวกรีก เท่าที่มีการบันทึกเป็นหลักฐานก็มีอย่างน้อยถึง 4 เกมส์การแข่งขัน ทั้งนี้ก็ด้วยเหตุผลว่า ชาวกรีกในยุค 2,700 ปีเศษขึ้นไป ยังไม่ได้มีการรวมตัวเป็นประเทศ แต่แบ่งเป็นนครรัฐ(CITI STATES) ต่างๆ เช่น นครรัฐเอเธนส์ นครรัฐสปาร์ตา นครรัฐมาซิโดเนีย นครรัฐคอรินธ์ เป็นต้น
กีฬาโอลิมเปียด(OLYMPIAD GAMES) เป็นเกมส์ที่จัดแข่งขันกันที่เมืองโอลิมเปีย(OLYMPIA) เพื่อถวายแด่เทพซุส(ZEUS) ประมุขแห่งเทพเจ้าทั้งมวลของกรีก
กีฬาไพเธียน(PHYTHIAN GAMES) จัดขึ้นที่เมืองเดลฟี่(DELPHI) เพื่อถวายแด่เทพอพอลโล(APOLLO) เทพเจ้าพระอาทิตย์ เทพแห่งดนตรี บทกวี ศิลปะ เทพแห่งการพยากรณ์ และ เทพเจ้าแห่งภูมิปัญญา
กีฬา อีสธ์เมียน(ISTHMIAN GAMES) จัดแข่งขันกันที่เมือง อีสธ์มัท(ISTHMUS) เพื่อถวายแด่เทพโพไซดอน(POSEIDON) เทพเจ้าแห่งท้องทะเล
และ กีฬานีเมียน(NEMEIAN GAMES) จัดแข่งขันกันในหุบเขานีเมีย(NEMIA) เพื่อถวายแด่เทพซุส เช่นกัน
แต่กีฬาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในยุคนั้นก็คือ กีฬาโอลิมเปียด
กีฬาทั้ง 4 ชนิดเหล่านี้ รวมเรียกว่า แพนเฮเลนนิค เกมส์ (PANHELLENIC GAMES) ซึ่งหมายถึง กีฬาของชาวกรีกทั้งมวล เพราะคำว่า เฮลเลน (HELLEN) แปลว่า ชาวกรีก
กีฬาเหล่านี้เริ่มต้นเมื่อใด และ ใครเป็นผู้สถาปนา ไม่สามารถยืนยันได้ แต่จากหลักฐานที่เป็นศิลาจารึกชื่อของผู้ชนะการแข่งขันกีฬาโอลิมเปียดที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ ศิลาจารึกของปี 776 ก่อนคริสตกาล หรือ ประมาณ 2,792 ปีที่แล้ว
จึงสันนิษฐานได้อย่างมีหลักฐานว่า กีฬาโอลิมเปียด เริ่มต้นอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่เมื่อ 2,792 ปีที่แล้ว
บางตำนานบอกว่า ผู้เริ่มสถาปนาการแข่งขันกีฬาโอลิมเปียด ก็คือ กษัตริย์เพลอปส์(PELOPS) ซึ่งชื่อของพระองค์ได้กลายมาเป็นชื่อแหลม เพลลอปปอนเนส(PELOPONESE) ของกรีซด้วย
ว่ากันว่า กษัตริย์เพลลอปส์ จัดการแข่งรถม้าเพื่อถวายแด่เทพเจ้า ที่ช่วยให้พระองค์ชนะศึกสงคราม และเพื่อเป็นเกียรติแก่ ออนโนมอส(OINOMAOS) ศัตรูที่พระองค์สังหารในสนามรบ
บางตำนานก็บอกว่า กีฬาโอลิมเปียด เริ่มขึ้นจากการที่เทพเจ้าต่างๆมาร่วมแข่งขันกีฬากัน มีทั้งเทพเจ้า และ กึ่งเทพ-กึ่งมนุษย์ด้วย เช่น เทพเฮอร์ลิวลิส เป็นต้น
บางตำนานบอกว่า ต้นกำเนิดของกีฬาโอลิมเปียด มาจากการละเล่นเพื่อถวายให้แด่เทพเจ้า เพื่อว่าเทพเจ้า จะประทานความอุดมสมบูรณ์ และ ความอุดมพันธุ์ให้แก่พืชพันธุ์ธัญญาหารของชาวกรีกโบราณ
ในแคว้นสปาร์ต้า เคยมีการละเล่นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “คาร์เนีย” โดยที่เด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มีองุ่นตะกร้าใหญ่มัดอยู่บนหลัง จะต้องวิ่งไล่เด็กหนุ่มอีกคนหนึ่งให้ทัน หากเขาสามารถวิ่งไล่ทัน ก็หมายความว่า ปีนั้นจะมีพืชพันธุธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
รางวัลสำหรับผู้ชนะการแข่งขันก็จะเป็น กิ่งมะกอก(OLIVE)สำหรับผู้ชนะของกีฬาโอลิมเปียด , รางวัลกิ่งสน(PINE)สำหรับผู้ชนะในกีฬาอีสธ์เมียน และ รางวัลกิ่งไม้ที่นำมาทำเป็นมงกุฎ เป็นรางวัลสำหรับผู้ชนะของกีฬาไพเธียน ส่วนผู้ชนะของกีฬานีเมียน จะได้รับกิ่งเซเลอรี่(CELERY) เป็นรางวัล
ด้วยรางวัลเพียงแค่กิ่งไม้เหล่านี้เท่านั้น ทำไมชาวกรีกโบราณถึงให้ความสำคัญกับกีฬาเหล่านี้เป็นอย่างมาก จนสามารถสืบสานต่อมาได้อีกหลายร้อยปี
แตกต่างจากแนวคิดของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคในทุกวันนี้ ที่หมายถึงการร่ำรวยเป็นเศรษฐีในฉับพลันของผู้เข้าแข่งขัน
ผมเขียนหนังสือประเภทประวัติศาสตร์ -ศิลปวัฒนธรรม ชื่อ “ท่องโลกศิลปวัฒนธรรม กับ เสรษฐวิทย์” เล่ม 2 อียิปต์-กรีซ-ตุรกี สนใจสั่งซื้อได้ที่ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ โทร 02 651 6900
พบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า
(ขอเชิญติดตามชม สารคดีท่องเที่ยว วัฒนธรรม และ ประวัติศาสตร์ ของผมได้ที่ลิงค์ https://www.youtube.com/watch?v=16ylGhCyyV0 หรือทาง youtube/whiteelephant2529 ได้ครับ)
(เชิญติดตามอ่านบทความ ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)