ซอกซอนตะลอนไป (8 เมษายน 2559 )
กษัตริย์ลุดวิก ที่ 2 แห่งบาวาเรีย(ตอน 1)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ผมกำลังพากรุ๊ปเดินทางไปเที่ยวเยอรมันตอนใต้ตามโปรแกรม “เจาะเกราะบาวาเรีย” ของบริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ก็เลยคิดว่า น่าจะเอาเรื่องราวที่น่าสนใจของ กษัตริย์ ลุดวิกที่ 2 แห่ง บาวาเรีย (LUDWIG II OF BAVARIA)มาเล่าให้ฟัง เปลี่ยนบรรยากาศจากการพูดถึงชีวิตของคุณหญิงมณี สิริวรสาร ผ่านทางหนังสือ “ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี สิริวรสาร”
เมื่อพูดถึงแคว้นบาวาเรีย ก็ต้องรู้จักกับตระกูลวิทเทลสบาค (HOUSE OF WITTELSBACH) ซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ที่ปกครองแคว้นบาวาเรียมาเป็นเวลาช้านาน เริ่มตั้งแต่ประมาณปีค.ศ. 1180 เรื่อยมาจนกระทั่งปีค.ศ. 1918 หรือ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง
เมื่อเป็นตระกูลเก่าแก่ ก็ย่อมจะต้องมีสมาชิกของตระกูลหลายคนที่ขึ้นไปดำรงตำแหน่งสำคัญๆของยุโรปมากมาย บางคนก็ได้รับตำแหน่ง ผู้เลือกตั้งตำแหน่งจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ , บางคนได้ดำรงตำแหน่ง อาร์คบิชอปแห่งโคโลจญ์ ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งที่เป็นผู้เลือกตั้งจักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์
นอกจากนี้ ก็ยังมีสมาชิก 2 คน ได้ดำรงตำแหน่ง จักรพรรดิแห่งอาณาจักรโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ และยังไปเป็นกษัตริย์ของประเทศต่างอีกหลายประเทศ เช่น โบฮีเมีย(ปัจจุบันคือ สาธารณรัฐเช็ก) , ฮังการี , เดนมาร์ก นอร์เวย และ กรีซ
ความรุ่งเรืองของตระกูลวิทเทลสบาค ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ จนถึงปลาย ค.ศ. 1400 จากนั้นก็ค่อยๆเสื่อมถอยอำนาจลงเรื่อยๆ จนมีฐานะเป็นผู้ปกครองแคว้นเล็กๆที่ไม่มีอำนาจอะไรในยุโรป
กษัตริย์ลุดวิก ที่ 2(LUDWIG II) เป็นชื่อที่เรียกกันในภาษาเยอรมัน หรือที่เรียกอีกอย่างว่า พระเจ้าหลุยส์ ที่ 2 แห่งบาวาเรีย(LOUIS II OF BAVARIA) มีชีวิตอยู่ในช่วงปีค.ศ. 1845 สิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1886 (พ.ศ. 2388 ถึง พ.ศ. 2429) ประมาณสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงต้นรัชกาลที่ 5 ของไทย
สิ่งที่ทำให้พระนาม “ลุดวิก ที่ 2” เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก มิใช่เพราะความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่เป็นเพราะจินตนาการที่สุดบรรเจิดจนเกินเหตุ ในเรื่องของสถาปัตยกรรม และ การก่อสร้าง
เพราะพระองค์เป็นผู้สร้างพระราชวังที่สวยงามไว้หลายแห่งในแคว้นบาวาเรีย เช่น พระราชวังนอยชวานสไตน์(NEUSCHWANSTEIN) , พระราชวังลินเดอร์ฮอฟ(LINDERHOF) และ พระราชวังเฮอร์เรนคิมเซ(HERRENCHIEMSEE)
แม้ว่าตัวพระราชวังทั้งสาม จะเป็นที่กล่าวขานไปทั่วโลก ทั้งในแง่ความสวยงาม ความแปลกประหลาดพิสดาร และ ความมหัศจรรย์ในการสร้าง แต่สิ่งที่ได้รับการพูดถึงไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ
บุคลิกภาพของ กษัตริย์ลุดวิก ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สร้างพระราชวังทั้งสาม
ลุดวิก ที่ 2 ขึ้นครองราชย์ขณะอายุเพียง 18 ปี ซึ่งจะว่าเด็กก็ไม่ใช่ เพราะกษัตริย์ในยุโรปจำนวนไม่น้อยที่ขึ้นครองราชย์ขณะอายุประมาณนี้ อาทิเช่น จักรพรรดิฟร้านซ์ โจเซฟ(FRANZ JOSEPH) แห่งราชวงศ์ฮับส์เบิร์ก ของออสเตรียก็ขึ้นครองราชย์ขณะอายุ 18 ปีเช่นกัน
แต่ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ กษัตริย์ ลุดวิก ที่ 2 ก็คือ ทันทีที่ขึ้นครองราชย์ แทนที่จะเริ่มคิดวางแผนในการบริหารปกครองประเทศ พระองค์กลับสั่งให้ตามหาตัวคีตกวีชื่อดังของเยอรมัน คือ ริชาร์ด ว๊ากเนอร์(RICHARD WAGNER) ให้มาทำงานด้านดนตรีให้พระองค์
ว่ากันว่า พระองค์ต้องรับผิดชอบชดใช้หนี้สินต่างๆที่ ว๊ากเนอร์ ทำไว้ก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอสมควร เพื่อให้ว๊ากเนอร์สามารถมาทำงานให้พระองค์ได้
จากนั้น ก็ทรงใช้เงินส่วนพระองค์ (ว่ากันเช่นนั้น) ในการวางแผนก่อสร้างพระราชวังขึ้นมาใหม่ สองแห่งแรกที่วางแผนสร้างก็คือ พระราชวังนอยชวานสไตน์ และ พระราชวังเฮอร์เรนคิมเซ
พระราชวังนอยชวานสไตน์ นั้นตั้งอยู่บนยอดเขา ที่ความสูงประมาณ 800 เมตร ในขณะที่พระราชวังเฮอร์เรนคิมเซ ถูกวางแผนให้สร้างอยู่บนเกาะๆหนึ่งในทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดของแคว้นบาวาเรีย
นับว่าเป็นงานมหาโหดทั้งคู่ ที่ต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูงกว่าการสร้างในสถานที่ธรรมดาทั่วๆไปมากมายหลายเท่า
แล้วพระราชวังนอยชวานสไตน์ก็เริ่มก่อสร้างขึ้นก่อนในปี ค.ศ. 1869 ตามมาด้วยพระราชวังเฮอร์เรนคิมเซ ที่เริ่มก่อสร้างในอีก 9 ปีต่อมา
ทุกครั้งที่ผมพานักท่องเที่ยวไปชมพระราชวังนอยชวานสไตน์ แม้ว่าจะนั่งรถขึ้นไป แต่ก็ยังต้องมีช่วงสั้นๆที่ต้องเดินขึ้นเขา รวมทั้งการเดินชมภายในพระราชวังที่ต้องปีนบันไดหลายต่อหลายช่วง ทุกคนยังรู้สึกเหนื่อยเลย
นึกถึงพวกแรงงานที่ต้องแบกหิน ดิน ปูน ทราย ขึ้นมาก่อสร้างพระราชวังกันบนยอดเขานี้ จะยากลำบากสักขนาดไหน
แม้ว่า พระราชวังนอยชวานสไตน์ และ พระราชวังเฮอร์เรนคิมเซ ซึ่งเริ่มสร้างมาเมื่อเกือบ 150 ปีที่แล้ว จนแล้วจนรอดก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์จนกระทั่งวันนี้
แต่เนื่องจาก เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของแคว้นบาวาเรีย ที่ต้อนรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากทุกปี ทางการของแคว้นบาวาเรียจึงพอจะมีรายได้ที่จะทำการบูรณะ และ สร้างต่อให้เสร็จตามแผนการเดิมที่พระเจ้าลุดวิก ที่ 2 ได้วางเอาไว้
สัปดาห์หน้าค่อยพูดถึงพระเจ้าลุดวิกกันต่อครับ
(เชิญติดตามอ่านบทความ ดูดวงออนไลน์ ที่ผมเขียนใน แนวหน้าดอทคอม นี้ด้วย ในนามปากกา “ธรรมาธิปติ”)