ซอกซอนตะลอนไป (11 ธันวาคม 2558 )
“ชีวิตเหมือนฝัน คุณหญิงมณี”จากเด็กไร้บ้าน มาเป็นสะใภ้หลวง(ตอน 10)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
แล้ววันนั้นก็มาถึง วันที่นางสาวมณี จะได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว อดีตรัชกาลที่ 7 ของประเทศไทย (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 หรือ ประมาณ 3 ปีก่อนวันนั้น)
“ทูลกระหม่อม” เป็นเจ้าชีวิตของ เจรี่ หากพระองค์ท่านตัดสินใจอย่างไร เจรี่ต้องยอมรับการตัดสินใจนั้นๆ
แม้ว่าจะเป็นการตัดสินใจที่จะไม่ยอมให้เจรี่แต่งงานกับนางสาวมณีก็ตาม
ขณะนั้น นางสาวมณี บุนนาค อายุประมาณ 22 ปี และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ทรงมีพระชนมายุ 42 พรรษา
คุณหญิงมณี ได้เขียนบันทึกเอาไว้ว่า
“ข้าพเจ้าไปถึงบ้านพักของเจรี่ประมาณบ่ายสามโมงครึ่ง พอเปิดประตูเข้าไปในห้องรับแขก ก็พบบุรุษร่างเล็กประทับอยู่บนเก้าอี้นวมข้างเตาผิง ข้าพเจ้าทรุดตัวลงกราบทันที”
แม้ว่านางสาวมณีจะรู้สึกประหม่าและเกรงขามมาก แต่เพียงเวลาไม่นาน เธอก็รู้สึกผ่อนคลายเพราะทูลกระหม่อมทรงรับสั่งอย่างเป็นกันเองมาก ไม่แสดงอาการรังกียจ หรือ โกรธนางสาวมณีตามที่นางสาวมณีหวั่นเกรง
แล้วทูลกระหม่อม ก็ทรงรับสั่งกับนางสาวมณี ถึงสิ่งที่เธอกำลังใจคอระทึก ว่า เธอรู้สึกอย่างไรที่จิรศักดิ์จะขอแต่งงาน
นางสาวมณีทูลว่า ทั้งสองยังไม่พร้อมที่จะแต่งงาน เพราะเธอเองก็ยังเรียนหนังสือไม่จบ
ทูลกระหม่อมทรงรับสั่งว่า
“เรื่องนี้ให้ฉันเป็นคนตัดสินใจเถิด ถ้ามณีเต็มใจแต่งงานกับเล็ก ฉันก็ยินดี และเต็มใจให้เล็กแต่งงาน……………….แต่กระนั้นก็ดี ทุกอย่างก็ต้องขึ้นอยู่ที่ว่า มณีรักเล็กแค่ไหน และ ต้องการแต่งงานกับเล็กหรือไม่”
นางสาวมณีหน้าแดง เมื่อถูกถามตรงๆ จึงอ้อมแอ้มกราบทูลไปว่า เธอรักและอยากแต่งงานกับเล็ก แต่ก็ยังรู้สึกว่า ตัวเองไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
ทูลกระหม่อม ทรงพระสรวล แล้วรับสั่งว่า
“งั้นเอาเป็นว่า ฉันตัดสินให้เองว่า การที่เล็กขอแต่งงานกับมณีนั้น เป็นการเหมาะสมที่สุด มณีมีการศึกษาที่ดี ชาติเชื้อกำเนิดก็มาจากตระกูลที่ดี แม้ว่าจะมีเลือดผสม แต่ก็ดีที่ลูกหลานของเล็กคงจะฉลาดเฉลียว……………..เคยมีคนมาฟ้องและกล่าวนินทาว่าร้ายมณีหลายอย่าง เพื่อให้ฉันหมดศรัทธาในตัวมณี แต่ฉันฟังเฉยๆ ฉันรักเล็กมาก และเชื่อใจเล็กว่า ผู้หญิงที่เล็กรักคงไม่เป็นอย่างที่คนอื่นๆใส่ความ”
เธอไม่สามารถปฎิเสธคำขอของ เจรี่ พรินซ์ ชาร์มมิ่ง และ เหนืออื่นใด คำขอกึ่งสั่งของ ทูลกระหม่อม
เป็นวินาทีที่เปลี่ยนชีวิตของนางสาวมณีไปอย่างสิ้นเชิง เหมือนยกภูเขาออกจากอก เพราะก่อนหน้านี้ เธอเกรงว่า ตัวเองจะเป็นที่รังเกียจ และ ไม่สบอารมณ์ของผู้ใหญ่ของเจรี่
ทุกอย่างเป็นไปตามดวงชะตาที่นายกิมซ้วน ได้เคยทำนายไว้ว่า ดวงชะตาของเธอเป็นทุกข์ลาภ หากได้สิ่งใดมา ก็จะต้องสูญเสียบางสิ่งไป
และตรงกับที่อาบังเคยทำนายเอาไว้ว่า คนที่เธอรักและหวังจะแต่งงานด้วย(หมายถึงคุณแมน) จะต้องพรากจากกัน แต่คนที่จะได้แต่งงานจะเป็นคนสูงศักดิ์ เป็นคนดี แต่จะอยู่ด้วยกันไม่ยืด
แม้จะดีใจที่ได้มีโอกาสแต่งงานกับคนที่เธอรัก และเหนืออื่นใด กับผู้ที่มีศักดิ์สูงส่งถึงโอรสบุญธรรมของพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย แต่นางสาวมณีก็อดนึกเสียดายไม่ได้ที่ต้องละทิ้งการเรียนที่ อ๊อกซ์ฟอร์ด ไปกลางคัน ทั้งๆที่อุตส่าห์สอบชิงทุนมาด้วยความยากลำบาก
นางสาวมณี แจ้งข่าวมาให้มารดาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทราบ และ แจ้งข่าวให้แก่ คุณเครือ ผู้เอื้ออารีของเธอได้ทราบเป็นคนต่อมา ซึ่งคุณเครือก็แสดงความยินดีกับเธอด้วย
จากนั้นเธอก็กลับไปเรียนหนังสือต่อที่อ็อกซ์ฟอร์ดให้จบเทอม ซึ่งจะเป็นเทอมสุดท้ายในชีวิตการเรียนของเธอ
เธอใช้เวลาช่วงปลายเทอม ร่ำลาครูบาอาจารย์ทุกคน ซึ่งทุกคนต่างก็แสดงความยินดี
มิสเกรีย(MISS GREIR) ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่ กล่าวกับเธอว่า
“ถึงแม้ฉันจะเสียใจที่เธอต้องลาออกไปกลางคันเช่นนี้ แต่ก็เห็นใจว่า การแต่งงานเป็นเรื่องสำคัญ…………..ที่จริงฉันคิดว่า เธอเหมาะสมจะเป็นเจ้าหญิง (PRINCESS) มากกว่าเป็นอาจารย์สอนหนังสือ”
นางสาวมณี กำลังจะเป็นเจ้าหญิง
มารี เพื่อนสนิทของนางสาวมณี ซึ่งเคยพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า ทุกคนควรทำงานเพื่อส่วนรวม และมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรับใช้ประเทศชาติ และเป็นพลเมืองดีในภายภาคหน้า ได้กล่าวอำลากับนางสาวมณีว่า
“เมื่อสบายแล้ว จงอย่าลืมตัวจนกลายเป็นพวกเศรษฐีขี้คร้าน (THE IDLE RICH) ก็แล้วกัน เพราะหากเธอกลายเป็นบุคคลพวกนั้น ก็จะเป็นข้อพิสูจน์ว่า การมียศ มีทรัพย์ มีทุกสิ่งทุกอย่างที่คนส่วนมากปรารถนาแล้ว ย่อมทำให้เกิดความเสื่อมทรามต่อคุณธรรม และศีลธรรมแห่งจิตใจของผู้โชคดีเหล่านั้นไม่มากก็น้อยเป็นธรรมดา”
อยู่ที่เธอจะเลือกเดินทางไหนแล้ว