ลี กวน ยิว รัฐบุรุษแห่งยุคสมัย(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                 (27 มีนาคม  2558 )

ลี กวน ยิว รัฐบุรุษแห่งยุคสมัย(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ข่าวคราวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  คงไม่มีข่าวใดที่อยู่ในความสนใจของผู้คนทั้งโลกได้เท่ากับ ข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของท่านอดีตผู้นำของประเทศสิงค์โปร  ที่เหลือทิ้งไว้แต่คุณงามความดีของเขาที่ได้ทำให้แก่ประเทศชาติเอาไว้เบื้องหลังให้คนจดจำ   

               ท่านลี กวน ยิว(LEE KUAN YEW) ผู้ได้รับการยกย่องจากประชาชนของตนเอง และ คนทั้งโลกให้เป็น  บิดาของประเทศสิงค์โปร


(ลี กวน ยิว บิดาแห่งประเทศสิงค์โปร ที่คนทั้งโลกอาลัย)  

               คนที่สร้างประเทศขึ้นมาจากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ  ให้กลายเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจชาติหนึ่งของเอเชีย  ในเวลาเพียงชั่วอายุคนเดียวเท่านั้น

               ถ้าจะขนานนามว่าเป็น  “รัฐบุรุษ” ก็คงจะไม่เกินความจริง    

               ย้อนกลับไปดูรัฐบุรุษของโลกคนอื่นๆ   พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช(ALEXANDER THE GREAT) ผู้นำของกรีกโบราณเมื่อกว่า 2300 ปีที่แล้ว  ก่อนที่จะกลายมาเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่โลกจะไม่มีวันลืม  เขาเป็นลูกชายของผู้นำของนครรัฐมาซิโดเนีย  ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งในแผ่นดินกรีซในปัจจุบันนี้


(ภาพโมเสก ที่ทำเป็นรูปของอเล็กซานเดอร์มหาราช)

               บิดาของเขา คือ พระเจ้าฟิลิปที่ 2 (PHILIP II) กษัตริย์นักรบที่ประสบความสำเร็จมาก  สามารถทำสงครามได้ชัยชนะหลายครั้ง   และ ขยายอาณาเขตของมาซิโดเนียออกไปมากมาย  ไม่ว่าจะเป็น  นครรัฐเอเธนส์   นครรัฐสปาร์ต้า และ  นครรัฐธีปส์


(รูปสลักหินอ่อนของอเล็กซานเดอร์มหาราช)

               บันทึกประวัติศาสตร์ระบุว่า   อเล็กซานเดอร์ เองรู้สึกอิจฉาบิดาของเขาอย่างยิ่ง   ที่ประสบความสำเร็จในการทำสงครามและสามารถยึดดินแดนต่างๆได้มากมาย 

               อเล็กซานเดอร์ รำพึงว่า   หากบิดาของเขาทำสงครามยึดครองดินแดนได้แบบนี้ไปเรื่อยๆ   เมื่อถึงวันของเขา  จะไม่เหลือดินแดนอะไรให้เขาได้ทำสงครามเพื่อยึดครองดินแดนได้อีก


(รูปสลักของพระเจ้าฟิลิปที่ 2  แห่งมาซิโดเนีย  บิดาของ อเล็กซานเดอร์มหาราช)

               แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น  แน่วแน่ในเป้าหมายของชีวิต  ของ อเล็กซานเดอร์ มหาราชอย่างยิ่ง  

               เพราะเป้าหมายในชีวิตของอเล็กซานเดอร์ ก็คือ   การเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้กลายเป็นโลกแห่งกรีก  ให้โลกทั้งใบมีวัฒนธรรมเดียว คือ  วัฒนธรรมกรีก 

               ดังนั้น   เมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราช  ยกทัพไปยึดครองที่ใดก็ตาม   เขามักจะส่งเสริมให้ทหารชาวกรีกของเขาแต่งงานกับผู้หญิงของท้องถิ่นนั้นๆ  เพื่อกลืนทั้งแผ่นดิน   ผู้คน และ วัฒนธรรมให้กลายเป็นกรีกจนหมดสิ้น 

               ความมุ่งมั่นอันแน่วแน่ของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ก็คือ  ต้องการจะฝากชื่อของตนเองเอาไว้ในโลก เพื่อให้คนรุ่นหลังได้จดจำและจารึกเอาไว้อีกนานแสนนาน 


(รูปหล่อด้วยบรอนซ์ ของ จูเลียส  ซีซาร์)

               รัฐบุรุษ อีกคนหนึ่งที่มีชีวิตหลังจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ประมาณ 200 ปีเศษก็คือ  จูเลียส ซีซาร์ (JULIUS CAESAR)แห่งโรม

               ถ้าจะว่าไปแล้ว   พื้นฐานตั้งแต่วัยเด็กของจูเลียส  ซีซาร์ ก็ไม่ต่างจากพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เท่าใดนัก 

               พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้รับการศึกษาในโรงเรียน ที่พระเจ้าฟิลิปที่  2 ผู้บิดาได้ตั้งขึ้นภายในพระราชวัง   โดยเชิญครูผู้มีความรู้ดีที่สุดของยุคนั้นมาสอน  คือ  อริสโตเติล

               ในขณะที่จูเลียส ซีซาร์  ก็ถือกำเนิดมาจากตระกูลชนชั้นปกครองเก่าเก่าที่ทรงอิทธิพลตระกูลหนึ่งของโรมันโบราณ  ก็คือ  ตระกูลจูเลีย(JULIA) 

               ดังนั้น   ในช่วงวัยเด็ก  จูเลียส ซีซาร์ จึงได้รับการศึกษาที่ดีพอสมควร  จนสามารถอ่านเขียนภาษาละตินที่เป็นภาษาของชนชั้นสูงได้ 

               จูเลียส  ซีซาร์ ขณะอายุประมาณ 25 ปีกำลังเป็นหนุ่มฉกรรจ์  ได้เดินทางไปศึกษาวิชาการพูดต่อหน้าสาธารณะ(ORATOR) กับอาจารย์โมโล (MOLO)  ที่เกาะโรดส์(ISLAND OF RHODES)ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

               ระหว่างเดินทางด้วยเรือยังเกาะโรดส์   พวกโจรสลัดชาวซิชิลี ได้จับตัวจูเลียส  ซีซาร์ เพื่อไปเรียกค่าไถ่จากครอบครัวของเขา 


(รูปสลักด้วยหินอ่อนของ จูเลียส  ซีซาร์)

               พลูทาร์ช(PLUTARCH)  นักประวัติศาสตร์ของโรมันได้บันทึกไว้ว่า   แรกทีเดียว   พวกโจรสลัดจะเรียกค่าไถ่เป็นมูลค่า 20 ทาเลนต์ของเงิน (20 TALENTS OF SILVER) (สกุลเงินของโรมัน) หรือคิดเป็นแร่เงินหนักประมาณ 620 กิโลกรัม 

               จูเลียส ซีซาร์ หัวเราะเยาะพวกโจรสลัด   และบอกให้พวกโจรสลัดเพิ่มค่าไถ่ให้มากขึ้นเป็น 50 ทาเลนต์ของเงิน หรือประมาณแร่เงินหนัก 1550 กิโลกรัม

               เขาให้เหตุผลว่า   เงินเพียง 20 ทาเลนต์ นั้นน้อยเกินไปสำหรับค่าตัวอย่างจูเลียส ซีซาร์ 

               แต่ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัว  จูเลียส ซีซาร์ ได้บอกกับพวกโจรสลัดว่า   ทันทีที่เขาเป็นอิสระ    เขาจะกลับมาตามล่าพวกโจรสลัด  และจะสังหารพวกโจรสลัดทุกคนที่จับตัวเขา

               และเขาก็ทำตามที่เขาพูดทุกอย่าง 

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *