รับลมหนาวบนแม่น้ำไนล์อียิปต์(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป                    (21 พฤศจิกายน 2557)

รับลมหนาวบนแม่น้ำไนล์อียิปต์(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ   ฤดูกาลของการท่องเที่ยวอียิปต์ก็เริ่มอีกครั้ง   เพราะการเที่ยวอียิปต์ในช่วงที่ดีที่สุดก็คือในช่วงหน้าหนาว    หาไม่แล้วอากาศจะร้อนมาก  และแมลงวันจะมากเป็นพิเศษ

               เนื่องจากอีกไม่กี่วันข้างหน้า   ผมจะนำคณะนักท่องเที่ยวที่บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ ฟ้าวันใหม่ ไปชมอียิปต์อย่างเจาะลึก  ก็เลยขอถือโอกาสนำเรื่องราวของอียิปต์โบราณมาเล่าสู่กันฟังครับ  

               ประเทศที่ผมหลงใหลใฝ่ฝันอยากไปเยือนทุกปีก็คือ  อินเดีย และ อียิปต์   เพราะสองประเทศนี้เป็นอู่อารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  นอกเหนือจาก  อารยธรรมเมโสโปเตเมีย และ อารยธรรมจีน


(ปัจจุบัน  การเดินทางตามลำน้ำไนล์แสนสะดวกสบาย  ด้วยเรือสำราญแบบนี้  ซึ่งบริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่  เลือกเอาเฉพาะระดับ 5 ดาวดีลักซ์เท่านั้น)

               นอกเหนือจากไคโร และ อเล็กซานเดรีย ที่อยู่ทางเหนือสุดแล้ว   หากจะเที่ยวชมโบราณสถานที่สำคัญของอียิปต์  การเดินทางที่ดีและสะดวกสบายที่สุดก็คือ  การเดินทางโดยเรือสำราญที่ล่องไปตามแม่น้ำไนล์

               เพราะแม่น้ำไนล์ เป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญที่สุดของผู้คนที่อาศัยอยู่ในอียิปต์ตั้งแต่ยุคโบราณกาลเมื่อกว่า 6000 ปีที่แล้ว   สิ่งก่อสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิหาร  เมือง  และ สุสานของฟาโรห์ จึงเกิดขึ้นตามสองฟากฝั่งแม่น้ำไนล์ไปตลอดความยาว   

               เป็นเรื่องน่าแปลก  และ ท้าทายความคิดของคนในยุคนี้อย่างยิ่งว่า  วิหารขนาดใหญ่โต  สุสานที่ลึกลับ  มัมมี่  และโลงศพที่สร้างอย่างวิจิตรพิสดารนั้น  สร้างขึ้นจากความเชื่อที่เข้มแข็งของชาวอียิปต์โบราณในเรื่อง  ชีวิตหลังความตาย


(พาหนะในการเดินทางของชาวอียิปต์โบราณเมื่อกว่า 4500 ปีที่แล้ว   พบในหลุมฝังศพใกล้กับพีระมิด 3 องค์)

               ทำไม  ชาวอียิปต์โบราณจึงหมกมุ่นในเรื่องความตาย และ ชีวิตหลังความตายเหลือเกิน

               ถ้าหากศึกษาจากภาพสลักบนฝาผนังในสุสานของฟาโรห์  ไม่ว่าจะเป็น  คัมภีร์คนตาย หรือ BOOK OF DEAD  หรือ ภาพเขียนในสุสานของชนชั้นสูงยุคนั้นจะรู้ได้ทันทีว่า   ชาวอียิปต์โบราณมีความเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษพอสมควร 


(วิหารอาบูซิมเบล  ที่อยู่ตอนใต้สุดของอียิปต์  สร้างขึ้นอย่างอลังการ์)

               และเชื่อในเรื่องนรก และ สวรรค์ ด้วย   แต่อาจจะในรูปแบบที่ไม่เหมือน นรกสวรรค์  ตามความเชื่อของผู้คนในยุคนี้

               ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า   ฟาโรห์(PHARAOH)) ซึ่งก็คือชื่อที่ชาวอียิปต์โบราณใช้เรียกกษัตริย์ของพวกเขา  ได้รับบัญชาจากพระเจ้าสูงสุดของเขา  คือ  เทพเจ้า “รา” (RA) หรือ สุริยะเทพ หรือ  เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์  ให้ลงมาปกครองโลกในนามของพระองค์  


(วิหารเอ็ดฟู  ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำไนล์เช่นกัน   แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวอียิปต์โบราณที่ผูกพันกับแม่น้ำไนล์อย่างแยกไม่ออก)

               แนวความเชื่อเรื่อง  กษัตริย์เป็นอวตานของเทพเจ้าลงมาจุติในโลกมนุษย์เพื่อทำหน้าที่ปกครอง มนุษย์โลก  พบเห็นอยู่ทั่วไปทั้งในอียิปต์โบราณ  ,  ศาสนาฮินดูของอินเดียโบราณ  ความเชื่อของชาวจีนโบราณ  จนแม้กระทั่ง   ความเชื่อของชาวญี่ปุ่นโบราณและในปัจจุบัน   

               เมื่อปกครองโลกมนุษย์จนหมดอายุขัยของการเป็นมนุษย์  วิญญาณของฟาโรห์ ก็จะต้องเดินทางกลับไปหาเทพเจ้าอีกครั้ง 

               การเดินทางของดวงวิญญาณของฟาโรห์ไปสู่ โลกของเทพเจ้า  ซึ่งนักอียิปต์ศึกษา เรียกว่า  “โลกใต้พิภพ” หรือ “ UNDERWORLD”  นั้น   ฟาโรห์จะใช้เรือเป็นพาหนะในการเดินทาง


(ภาพที่เขียนบนประดาษปาปิรุส  แสดงเหตุการณ์ตอนที่ฟาโรห์ต้องพิสูจน์ความดีของตัวเองด้วยการชั่งน้ำหนักหัวใจ เปรียบเทียบกับขนนก)

               สาเหตุที่ใช้เรือในการเดินทาง  ก็เพราะการเดินทางในชีวิตประจำวันของชาวอียิปต์โบราณส่วนใหญ่   จะใช้เรือที่ทำจากไม้กระดาน หรือไม่ก็เรือที่ทำจากต้นกก  หรือ ต้นปาปิรุส ที่พบได้ทั่วไปในอียิปต์

               ด้วยเหตุนี้   เมื่อทำพิธีฝังพระศพของฟาโรห์ในสุสานต่างๆ   ก็มักจะต้องเอาเรือฝังลงไปในหลุมฝังศพของฟาโหห์ด้วย   เพื่อว่า  เมื่อไปถึงโลกหน้า  หรือ  โลกใต้พิภพ  ฟาโรห์ก็จะได้อาศัยเรือลำนี้เป็นพาหนะในการเดินทางไปพบกับเทพเจ้า

               เรือลำนี้เรียกว่า  สุริยะยาน  หรือ SOLAR BOAT

               เมื่อฟาโรห์เดินทางไปสู่ปรโลกแล้ว  ก็จะต้องผ่านด่านต่างๆที่มีเทพเจ้าแต่ละองค์เป็นผู้รักษา   การจะผ่านด่านเหล่านี้  ฟาโรห์จะต้องท่องมนตราต่างๆ หรือตอบคำถามที่เทพเจ้าเหล่านี้ถามให้ได้เสียก่อน

               หากผ่านได้ทุกด่าน  สุดท้าย  ก็จะไปพบกับ เทพอนูบิส(ANUBIS)  หรือ เทพเจ้าหัวหมาป่า  หรือ เทพเจ้าแห่งการทำมัมมี่   เทพอนูบิส ก็จะเอาหัวใจของฟาโรห์ออกมาชั่งเพื่อเปรียบเทียบกับขนนก 

               หากหัวใจของฟาโรห์  มีน้ำหนักมากกว่าขนนก   ก็แสดงว่า  ฟาโรห์ เป็นคนบาปหยาบช้า  ไม่สมควรที่จะผ่านไปพบเทพโอไซริส(OSIRIS)  ซึ่งเป็นเทพเจ้าที่ปกครองโลกใต้พิภพ หรือ  โลกของคนตาย 


(เทพเจ้าโอไซริส นั่งอยู่บนบัลลังก์)

               เทพอนูบิส ก็จะเคี้ยวหัวใจของฟาโรห์กินซะ   ทำให้ฟาโรห์ไม่มีโอกาสที่จะไปพบเทพเจ้า  หรือ จะไปไหนได้อีกเลย    กลายเป็น สัมพะเวสี หรือ วิญญาณเร่ร่อนต่อไป 

               แต่หากหัวใจของฟาโรห์เบากว่าขนนก    ก็แสดงว่า   ฟาโรห์ผู้นี้เป็นคนดี   ตอนมีชีวิตอยู่ได้ทำความดีเอาไว้มากมาย   สมควรที่จะเข้าไปพบกับเทพโอไซริส

               เทพอนูบิส ก็จะเปิดทางให้แก่ฟาโรห์เพื่อเดินทางต่อไป   

               ไม่น่าเชื่อนะครับว่า  ชาวอียิปต์เมื่อกว่า 4 – 5 พันปีที่แล้ว   ตระหนักถึงบาปบุญคุณโทษ  นรกสวรรค์แล้ว  หรือแม้กระทั่งวิธีคิดว่าหัวใจจะต้องเบากว่าขนนก

แล้วทำไมชาวอียิปต์โบราณจะต้องสร้างมัมมี่     ตอนหน้าผมจะมาเล่าต่อนะครับ  

สนใจทัวร์ ท่องอียิปต์แบบ เจาะลึก  ติดต่อได้ที่เบอร์  02 65 1 6900  ครับ  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *