ยุทธนาวีครั้งสุดท้ายของมาร์ก แอนโทนี และ คลีโอพัตรา(ตอน 5)

ซอกซอนตะลอนไป    (3 ตุลาคม 2557)

ยุทธนาวีครั้งสุดท้ายของมาร์ก แอนโทนี และ คลีโอพัตรา(ตอน 5)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               บ่ายวันที่ 2 กันยายน ปี 31 ก่อนคริสตกาล  ยุทธนาวีครั้งสำคัญที่โลกจะต้องจดจำไปอีกนานระหว่างกองทัพของ มาร์ก แอนโทนี และ กองทัพของอียิปต์ของพระนางคลีโอพัตรา  ที่ปะทะกับกองทัพของ ออคเทเวียน และ  อะกริปปา ก็เริ่มขึ้น

               แต่เทพีไนกี้  เทพีแห่งโชค ดูเหมือนว่าจะไม่เข้าข้างแอนโทนีเสียแล้ว   ด้วยเหตุผลหลายประการ คือ 


(เทพี ไนกี้ หรือ เทพีแห่งชัยชนะ ได้โบยบินหนีจากกองทัพของมาร์ก แอนโทนีไปแล้ว)

               เพราะเรือรบจำนวน 230 ลำของแอนโทนี ล้วนเป็นเรือขนาดใหญ่ที่มีป้อมปราการใหญ่สองป้อมอยู่หน้าเรือ  และ ท้ายเรือ เพื่อใช้ในการยิงธนู หรือ กระสุนชนิดอื่นเข้าหาคู่ต่อสู้ 

               แต่ข้อด้อยก็คือ   เรือรบดังกล่าวมีน้ำหนักมาก  จำต้องใช้ฝีพายในแต่ละพายมากถึง 5 คน ซึ่งมากกว่าเรือแบบ 3 ฝีพายของพวกโรมัน      


(ภาพจำลองเรือของกองทัพอียิปต์)

ซ้ำร้าย   ทหาร และ พวกฝีพายจำนวนมากของแอนโทนี  ก็ล้มป่วยด้วยโรคมาลาเรีย   ที่ป่วยก็ป่วยไป  ที่ตายก็ตายไป     

เมื่อฝีพายขาดหายไปบางส่วน   ก็สร้างปัญหาในการบังคับเรือให้แก่แอนโทนี ที่จะบังคับให้เป็นไปตามต้องการได้  


(ลักษณะของการพุ่งชน เรือที่ใหญ่กว่า  มีฝีพายมากกว่า จะปะทะได้แรงกว่า) 

               หากผิดพลาดในการบังคับเรือเพียงไม่กี่นาที   ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการแพ้ชนะได้ทันที 

               นี่คือปัญหาหนักของมาร์ก แอนโทนี 

               เช้าวันนั้น    กองทัพเรือของพวกโรมันได้เคลื่อนขบวนเข้ามาปิดล้อมทางออกจากอ่าวแอมบราเซียน  ซึ่งเป็นทางเดียวที่กองเรือของมาร์ก แอนโทนี จะต้องใช้ในการตีฝ่าออกไป   


(กระบวนทัพก่อนทำสงคราม  สีแดงคือทัพของโรมัน   สีม่วงคือทัพของแอนโทนี – ภาพจากวิกิพีเดีย)

               กองเรือของ อะกริปปาจะอยู่ทางปีกซ้าย(ด้านเหนือ)  ประจันหน้ากับกองเรือของมาร์ก แอนโทนี  

ส่วนปีกขวาของโรมันเป็นกองเรือของ ออคเทเวียนที่บัญชาการโดยติตุส สตาติลิอุส เทารุส (TITUS STATILIUS TAURUS)   ในขณะที่  ออคเทเวียน เองประจำอยู่ที่ค่ายทหารบนฝั่งตรงกันข้ามกับเมืองแอคเทียม    

ส่วนกองเรือของพระนางคลีโอพัตรา จะอยู่ท้ายขบวนสุด ใกล้กับเมืองแอคเทียม   

               แล้วทั้งสองกองทัพก็พุ่งเข้าหากัน   

               มีบันทึกเกี่ยวกับยุทธนาวีครั้งนี้ แยกออกเป็น 2 แนวทางก็คือ   ทางหนึ่งเชื่อว่า   อาจจะเป็นเพราะการติดต่อสื่อสารมีปัญหา   ทำให้กองเรือของพระนางคลีโอพัตราเข้าใจผิดคิดว่า   กองเรือของมาร์ก แอนโทนี พ่ายแพ้ต่อกองเรือของอะกริปปาไปแล้ว

               คลีโอพัตรา จึงออกคำสั่งให้กองเรือของพระนาง ล่าถอยหนีเพื่อกลับไปยังเมืองอเล็กซานเดรีย  โดยที่กองเรือของพระนางยังไม่ทันได้ปะทะกับกองเรือของโรมันด้วยซ้ำ    

               เมื่อมาร์ก แอนโทนี เห็นกองเรือของพระนางคลีโอพัตรา ล่าถอยกลับไปอเล็กซานเดรีย    ก็คิดว่ากองเรือส่วนหลังพ่ายแพ้อย่างย่อยยับแล้ว   จึงประเมินว่า  การรบคงจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้  เขาจึงหันหัวเรือหนีออกจากสมรภูมิ แล่นตามหลังพระนางคลีโอพัตราไปด้วย 


(ฉากในภาพยนตร์  ตอนที่มาร์ก แอนโทนี  ตัดสินใจทิ้งทหารของตนเอง หนีตามคลีโอพัตราไป  เป็นการปิดฉากอาชีพทหารของตนเองอย่างสิ้นเชิง)

               แต่อีกบันทึกหนึ่งบอกว่า   เมื่อมาร์ก แอนโทนีเห็นว่ากองทัพเรือของออคเทเวียนจัดขบวนทัพปิดล้อมอ่าวแอคเทียมเอาไว้หมดสิ้น   ก็ตระหนักว่า   ด้วยกำลังที่น้อยกว่า   เขาไม่มีทางที่จะเอาชนะกองเรือของออคเทเวียน ได้เลย  จึงสั่งการให้จัดทัพเรือให้เป็นรูปเกือกม้าหันปลายทั้งสองออกไปนอกอ่าว   โดยที่เรือของเขาและของพระนางคลีโอพัตราอยู่ท้ายขบวนสุดตรงท้องของรูปเกือกม้า

               จากนั้น   แอนโทนีก็ส่งกองเรือส่วนหนึ่งตีฝ่าขึ้นไปทางเหนือ  ดึงให้กองเรือของโรมันที่ควบคุมโดยอะกริปปา แยกตัวออกจากกองเรือหลักเพื่อไปปะทะกับกองเรือของแอนโทนี 

               จากนั้นก็ให้ ไกอุส ซอสซิอุส (GAIUS SOSIUS) นำกองเรืออีกส่วนหนึ่งทำทีตีฝ่าลงมาทางด้านทิศใต้  เพื่อดึงให้กองเรือของโรมันของออคเทเวียน ไล่ตามลงใต้ไปด้วย  

ด้วยยุทธวิธีนี้  ทำให้กองเรือของโรมันเปิดช่องว่างตรงกลางให้กว้างขึ้น 

               แอนโทนี  อาศัยช่วงจังหวะนี้พุ่งเรือออกไปตามช่องว่างที่เปิด พร้อมขบวนเรือของพระนางคลีโอพัตรา  แล้วแล่นเรือกลับไปยังเมืองอเล็กซานเดรีย

               ในความเห็นอันที่สองนี้   แสดงว่า   มาร์ก แอนโทนี ร่วมกันวางแผนที่จะหนีตั้งแต่ต้นโดยไม่สนใจที่จะทำสงครามกับกองทัพโรมันเลย

               เราไม่อาจรู้ได้ว่า   เหตุการณ์ที่แท้จริงเป็นอย่างไร  แต่ที่บันทึกตรงกันก็คือ  ทหารของมาร์ก แอนโทนี และ คลีโอพัตรา ต่างก็เสียขวัญอย่างยิ่งเมื่อเห็นผู้นำของตนเองหนีไป  กำลังใจในการสู้รบจึงไม่มี  ทำให้ทหารเหล่านี้ถูกสังหารเสียเป็นจำนวนมาก  

ที่จมน้ำตายก็เยอะ   ที่ยังสามารถหนีรอดปลอดภัยติดตามมาร์ก แอนโทนี ก็อีกส่วนหนึ่ง    

               เรือของอียิปต์ถูกเผาทำลายจนจมไปมากมาย    ทะเลหน้าอ่าวแอคเทียม กลายเป็นทะเลเลือด และ ทะเลเพลิง   


(ภาพจากภาพยนตร์ แสดงถึงยุทธนาวีครั้งสุดท้ายของ มาร์ก แอนโทนี และ  คลีโอพัตรา)

ทหารจำนวนมากที่เรือประจำการถูกไฟไหม้จนหมด   ต้องไปตกค้างอยู่บนฝั่ง  ส่วนหนึ่งที่เป็นชาวกรีก ก็หนีกลับถิ่นฐานบ้านเดิมของตัวเอง

               ทหารจำนวนมากยอมจำนน ถูกโรมันจับเป็นเชลย และ เป็นทาสในที่สุด 

               เรือของโรมันส่วนหนึ่งไล่ตามกองเรือของมาร์ก แอนโทนี และ  คลีโอพัตรา ไป  แต่ก็ไม่ได้ผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน    

หลังจากนั้น   ออคเทเวียน ใช้เวลาตลอดช่วงฤดูหนาวของปีนั้น   ตระเวนไปตามเมืองต่างๆของกรีซ  และ ยกทัพไปปราบการก่อการลุกฮือต่อต้านการปกครองของโรมันที่เมือง บรุนดิเซียม(BRUNDISIUM) ที่อยู่ทางภาคใต้สุดของอิตาลี


(เมืองบรุนดิเซียม  (ลูกศรชี้) ที่อยู่ตรงปลายเกือบสุดของอิตาลี  และอยู่ตรงกันข้ามกับเมืองแอคเทียม)

               จากนั้นก็เตรียมการปิดฉากความขัดแย้งระหว่างเขากับ มาร์ก แอนโทนี และ พระนางคลีโอพัตรา 

               ติดตามอ่านในตอนหน้าซึ่งเป็นตอนสุดท้ายครับ   สวัสดี

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *