ซอกซอนตะลอนไป (26 กันยายน 2557)
ยุทธนาวีครั้งสุดท้ายของมาร์ก แอนโทนี และ คลีโอพัตรา(ตอน 4)
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ปี 31 ก่อนคริสตกาล สงครามระหว่าง สาธารณรัฐโรมัน กับ กองทัพผสมของมาร์ก แอนโทนี และ กองทัพของพระนางคลีโอพัตรา ที่ 7 แห่งอียิปต์ ดูท่าจะเลี่ยงไม่พ้น
ก่อนหน้านั้นคือปี 32 ก่อนคริสตกาล มาร์ก แอนโทนี และ คลีโอพัตรา แล่นเรือจากเมืองอเล็กซานเดรีย เมืองหลวงของอียิปต์ไปยังเมือง เอฟฟิซัส เมืองท่าริมทะเลที่สำคัญของพวกกรีกที่อยู่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของตุรกีปัจจุบันนี้ และ พักอยู่ที่นั่นตลอดช่วงฤดูหนาว
จากนั้นกองเรือรบของทั้งสองซึ่งมีเรือรบทั้งสิ้นรวม 230 ลำก็แล่นมายังกรีซ
แรกทีเดียว แอนโทนี วางแผนที่จะแล่นเรือต่อไปยังอิตาลีและยกพลขึ้นบกที่อิตาลี แต่ก็ต้องเปลี่ยนแผนเมื่อกองเรือของออคเทเวียนที่ประกอบด้วยเรือรบ 100 ลำ แล่นลงมาขึ้นฝั่งที่ดัลเมเทีย(DALMATIA) ซึ่งก็คือตอนใต้ของประเทศโครเอเชียในปัจจุบัน ประมาณเมืองดูบรอฟนิค(DUBROVNIK)
กองทัพเรือของแอนโทนี จึงต้องเปลี่ยนแผน แล้วหันหัวเรือมาขึ้นฝั่งที่ปลายแหลมด้านทิศใต้ ประมาณเมืองแอคเทียม ซึ่งอยู่ตรงปากทางเข้าสู่อ่าว แอมบราเซีย (GULF OF AMBRACIA) แล้วให้เรือรบทั้งหมดเข้าไปอยู่ในอ่าวแอมบราเซี่ยนเพื่อหลบลม
หลังจากขึ้นบกที่ดัลเมเทียแล้ว กองทหารของออคเทเวียน ก็เดินเท้าต่อลงมาทางใต้ ปลายทางอยู่ที่ปลายแหลมทางด้านเหนือตรงกันข้ามกับเมือง แอ๊คเทียม แล้วตั้งแคมป์ลงที่ใกล้เมืองนิโคโปลิส(NICOPOLIS)
ขณะเดียวกัน อะกริปปา เพื่อนสนิทของ ออคเทเวียน ก็นำกองเรือรบจำนวน 300 ลำแล่นลงไปทางใต้ของเมืองแอคเทียม แล้วขึ้นฝั่งที่แหลมเพลลอปปอนเนส แล้วตั้งค่ายทหารกระจายอยู่หลายจุด
เท่ากับว่า กองทัพของอะกริปปา จะเป็นตัวสกัดกั้นไม่ให้อียิปต์ส่งกำลังบำรุงจากเมืองอเล็กซานเดรีย ขึ้นไปช่วยกองทัพของแอนโทนีได้
แอนโทนี ตระหนักว่าตัวเองตกอยู่ท่ามกลางวงล้อม และถูกสกัดกั้นการส่งกำลังบำรุง หากสถานการณ์ยืดเยื้อออกไปเท่าไร ย่อมไม่เป็นผลดีต่อกองทัพของเขาแน่นอน
เขาจึงพยายามที่จะดึงให้ออคเทเวียน มาทำสงครามทางภาคพื้นดินกับเขา ด้วยการสร้างสะพานข้ามช่องแคบระหว่างแหลมทั้งสอง เพื่อนำกองทัพข้ามไปยังแหลมตรงกันข้ามไปทำสงครามกับกองทัพของ ออคเทเวียน
แต่ ออคเทเวียน รู้ว่า แอนโทนี เป็นนักรบที่เก่งกาจในการรบภาคพื้นดิน ซึ่งแน่นอนว่า ความสามารถในการรบนั้นเหนือกว่าเขาอย่างเทียบกันไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม แอนโทนี ไม่เคยแสดงศักยภาพในการบัญชาการการรบทางทะเลที่โดดเด่นมากมาก่อนเลย
เขาจึงไม่ยอมตกหลุมของแอนโทนี ที่ต้องการจะดึงเขาไปทำสงครามภาคพื้นดิน ออคเทเวียน จึงได้แต่ถ่วงเวลา เพื่อให้ “เวลา” มาช่วยในการทำสงครามกับ แอนโทนี
เวลาผ่านไป เสบียงกรังต่างๆของกองทัพของแอนโทนี และ คลีโอพัตรา ก็ค่อยๆหร่อยหรอลง ทหารเริ่มอดอยาก ในที่สุด แอนโทนี ก็ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำสงครามทางทะเล เพื่อหนีออกไปให้พ้นจากการปิดล้อมของกองทัพโรมัน
ขณะเดียวกัน เกิดลางร้ายที่ไม่ค่อยดีต่อกองทัพของแอนโทนี คือทหารจำนวนมากของเขาป่วยด้วยโรคมาลาเรีย ที่ป่วยก็ป่วยไป ที่ตายก็ตายไป
ยุทธนาวีครั้งสุดท้าย ของ กองเรือของมาร์ก แอนโทนี และ คลีโอพัตรา ที่สู้กับกองเรือของโรมันที่นำโดย ออคเทเวียน และ อะกริปปา เกิดขึ้นในตอนบ่ายของวันที่ 2 กันยายน 31ปี ก่อนคริสตกาล บริเวณท้องทะเลนอกอ่าวของเมืองแอคเทียม
ซึ่งก็คือในเดือนนี้เมื่อ 2045 ปีที่แล้ว
เนื่องจากเรือรบของอียิปต์ค่อนข้างจะใหญ่โต เพราะเป็นเรือประเภท 5 ฝีพาย และ มีน้ำหนักมาก เพราะด้านหัวเรือมีเหล็กที่แข็งแรงหุ้มเอาไว้ เพื่อใช้การในการพุ่งชนเรือฝ่ายศัตรู ประมาณว่า น้ำหนักเรือแต่ละลำของอียิปต์น่าจะอยู่ที่ประมาณ 300 ตัน
ดังนั้น การจะขับเคลื่อนเดินหน้า ถอยหลัง เลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา จึงไม่อาจทำได้อย่างง่ายดาย
ผิดกันกับเรือรบของโรมันที่มีขนาดเล็กและเบากว่า ดังนั้น จึงสามารถขับเคลื่อนได้รวดเร็ว และสามารถที่จะหลบหลีกการพุ่งชนของเรืออียิปต์ได้ง่ายด้วย
นอกจากนี้ เรือรบของโรมันยังมีเครื่องดีดลูกกระสุน ซึ่งเป็นก้อนผ้า หรือ วัตถุติดไฟชุบด้วยน้ำมันยิงเข้าหาเรือของฝ่ายศัตรู ทำให้เรือเกิดไฟไหม้จนทหารบนเรือไม่เป็นอันสู้รบเพราะมัวแต่ดับไฟ
ดูเหมือนว่า กองทัพของโรมันกำลังได้เปรียบในการรบทางทะเลครั้งนี้
ภารกิจเฉพาะหน้าของ มาร์ก แอนโทนี ก็คือ ต้องพลิกสถานการณ์การที่เพลี่ยงพล้ำอยู่ให้ได้ ก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้
พบกันใหม่ตอนหน้าครับ สวัสดี