ชีวิตเป็นของมีค่า 9
วันแห่งความรัก ของจีน
เดือนสิงหาคมปีนี้ (พ.ศ. 2558) เป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญทางฤดูกาลของจีน
ประเพณีความเชื่อของจีนแต่โบราณถือว่า วันที่ 23 สิงหาคม เป็นวันฉู่ซู่ ซึ่งมีความหมายว่า เป็นวันแห่งการจัดการ หรือ วันแห่งการปลดปล่อย ฤดูร้อน ชาวจีนจะถือว่า วันนี้จะเป็นวันที่ร้อนที่สุดของ 2 สัปดาห์สุดท้ายของฤดูร้อนของปี
ดังนั้น เมื่อเข้าสู่วันที่ 24 สิงหาคม จึงถือว่าเป็นวัน ยุชิว ที่มีความหมายว่า เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง จึงถือว่าหลังจากวันที่ 24 สิงหาคมเป็นต้นไป ก็จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงอย่างเป็นทางการ
แต่ย้อนกลับไปวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 ซึ่งชาวจีนเรียกว่า ชีเยียะ ชียึอ แปลว่า วันที่ 7 เดือน 7 หรือ วันขึ้น 7 ค่ำเดือน 7 ตามปฎิทินจันทรคติของจีน ก็เป็นวันที่มีความสำคัญต่อชาวจีนอีกเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ คนหนุ่มคนสาวที่กำลังมีความรัก เพราะถือกันว่าเป็น
วันที่ 7 เดือน 7 เป็นวันแห่งความรักตามประเพณีโบราณของจีน
และในวันที่ 28 สิงหาคม ซึ่งชาวจีนเรียกว่า ชีเยียะป้าน แปลว่า วันครึ่งเดือนของเดือนเจ็ด หรือ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 ตามปฎิทินจันทรคติของจีน ก็จะตรงกับ “วันสาร์ทจีน” หรือ วันไหว้ผี ซึ่งรวมทั้งผีบรรพบุรุษ และ ผีไร้ญาติต่างๆด้วย
เนื่องจากความเชื่อโบราณกล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ยมบาลจะตรวจบัญชีของคนตาย เพื่อจัดส่งวิญญาณที่ทำความดีไปขึ้นสู่สวรรค์ และ ส่งวิญญาณร้ายไปลงนรก
บรรดาลูกหลานที่ยังให้ความเคารพต่อบรรพบุรุษ จึงถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญในการไหว้เครื่องเซ่นให้แก่บรรพบุรุษ และ บรรดาวิญญาณที่ไม่มีญาติทั้งหลาย
อย่างไรก็ตาม วันเทศกาลที่กำหนดด้วยวันขึ้น-แรม ตามปฎิทินจันทรคติ ไม่ว่าจะเป็นของไทย หรือ จีนก็ตาม ล้วนแล้วแต่คลาดเคลื่อนไปจากการโคจรจริงของพระอาทิตย์ และ พระจันทร์ บนท้องฟ้าทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็นวันขึ้น 7 ค่ำเดือน 7 ซึ่งเป็นวันแห่งความรักของจีน หรือ วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 ซึ่งเป็นวันสาร์ทจีน ล้วนแล้วแต่เร็วกว่าความเป็นจริงอยู่ประมาณ 2 วัน
เรื่องการคลาดเคลื่อนของปฎิทินทางจันทรคตินั้น ผมได้เขียนบทความเรื่องนี้ไปก่อนหน้านี้แล้ว
กลับมาพูดถึงเรื่องวันแห่งความรักของจีนกันต่อ
ตำนานแห่งความรักนี้ ชาวจีนจะรู้จักกันในนาม “หนิวหลาง จือหนี่” แปลว่า เด็กเลี้ยงควาย กับ เทพธิดาทอผ้า เนื่องจากตำนานเรื่องนี้มีความแตกต่างกันตามแต่ใครจะเล่า ผมก็จึงขอเล่าในแบบของผมที่ได้เรียนมา
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเด็กเลี้ยงควาย ซึ่งก็คงจะประมาณวัยรุ่นแล้ว เอาควายออกไปเลี้ยงในที่ห่างไกลจากบ้าน เข้าใจว่า น่าจะเป็นช่วงเวลาหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว
คืนหนึ่ง เขาก็ได้เห็นนางฟ้านางหนึ่งลงมาเล่นน้ำ จึงแอบเอาเสื้อผ้าของนางฟ้าไปซ่อน และ เพื่อจะแลกกับเสื้อผ้า เด็กเลี้ยงควายก็ขอแลกเปลี่ยนด้วยการแต่งงานกับเธอ ซึ่งนางฟ้าก็ยอม
ทั้งคู่แต่งงานอยู่กินกันอย่างมีความสุข โดยมีควายเป็นสักขีพยาน
วันหนึ่ง ควายตัวนั้นซึ่งกำลังจะถึงอายุขัย ได้บอกกับเด็กเลี้ยงควายว่า เมื่อควายตายลง ก็ให้ถลกหนังออกแล้วเก็บรักษาเอาไว้ เพราะมันจะช่วยเขาได้ในยามคับขัน
เมื่อควายตายไป เด็กเลี้ยงควายก็ได้ทำตามที่ควายสั่งเอาไว้
นางฟ้า ซึ่งแต่งงานกับเด็กเลี้ยงควาย แท้ที่จริงเป็นนางฟ้าผู้มีหน้าที่ทอผ้าในสรวงสวรรค์ให้แก่ประมุขแห่งสวรรค์ เมื่อนางไม่อยู่ จึงไม่มีใครทำหน้าที่ทอผ้านี้ ประมุขแห่งสวรรค์จึงต้องมาตามตัวนางกลับไป
วันหนึ่ง ประมุขแห่งสวรรค์ได้ลงมาในโลกมนุษย์ แล้วพานางฟ้าขึ้นยานสวรรค์เหาะกลับขึ้นไปบนฟ้า เด็กเลี้ยงควาย นึกถึงคำเตือนของควายได้ ก็รีบเอาหนังควายมาห่มตัว ทำให้เขาสามารถเหาะตามไปเพื่อจะชิงตัวนางฟ้ากลับมา
จวนเจียนจะตามถึงตัวนางฟ้า ประมุขแห่งสวรรค์ก็ขีดเส้นขึ้นมาขวางเอาไว้ กลายเป็นลำธารขนาดใหญ่ ที่แม้แต่หนังควายก็ไม่อาจจะพาหนุ่มเลี้ยงควายเหาะข้ามไปได้
ทำให้ทั้งหนุ่มเลี้ยงควาย กับ นางฟ้าทอผ้า ต้องแยกจากกันชั่วนิรันดร์
ลำธารสายนี้เรียกกันว่า หยินเหอ แปลว่า แม่น้ำสีเงิน ภาษาไทยเรียกว่า ทางช้างเผือก ส่วนภาษาอังกฤษเรียกว่า MOON RIVER
เมื่อพูดถึง MOON RIVER ก็ทำให้นึกถึงเพลงในชื่อเดียวกันนี้ ขับร้องโดย แอนดี้ วิลเลียมส์ และเป็นเพลงประกอบในภาพยนตร์เรื่อง BREAKFAST AT TIFFANY’S นำแสดงโดย ออเดรย์ แฮปเบิร์น และ จอร์จ เปปปาร์ต
เพลง MOON RIVER มีความไพเราะขนาดไหน ผมคงไม่ต้องบรรยายสรรพคุณ แต่ก็คงจะไม่ไพเราะเท่ากับคำถอดความเป็นภาษาไทยในแบบร้อยกรองที่ คุณลุงพสาท นพพรรค์ เคยแปลบทเพลงนี้เอาไว้ ตีพิมพ์ในหนังสือเล่มเล็กที่แจกหน้าโรงภาพยนตร์ ว่า
ธารพระจันทร์ นั้นกว้างไกล กว่าไมล์หนึ่ง (MOON RIVER WIDER THAN A MILE)
ฉันข้ามถึง ห้วงนิมิต พิสมัย (I CROSSING YOU IN STYLE SOME DAY)
คุณลุงพสาท ช่างถอดความหมาย และ เรียบเรียงออกมาได้อย่างไพเราะ จนหาที่เปรียบไม่ได้
ลุงพสาท เป็นครูบาอาจารย์ของผมทางด้านโฆษณาภาพยนตร์ตอนที่ผมทำงานกับฝ่ายโฆษณาของบริษัท ไฟว์ สตาร์ โปรดักชั่น ท่านได้ถ่ายทอดความรู้ทางด้านโฆษณา และ ด้านภาษา ให้ผมอย่างมาก จึงขอนำบทประพันธ์ของลุงที่เขียนเอาไว้เมื่อตอนทำโฆษณาหนังเรื่องนี้ที่โรงหนังพาราเมาท์ หรือ ฮอลลีวู้ด มาให้อ่านกัน
น่าเสียดายว่า ผมไม่อาจหาต้นฉบับทั้งหมดได้ หากใครยังมีต้นฉบับนี้อยู่ ขอความกรุณาช่วยนำมาแชร์กันด้วยนะครับ และ ลุงพสาท นพพรรค์ ก็ได้เสียชีวิตไปกว่า 10 ปีแล้ว
ผมมีลิงค์เพลง Moon River ในเวอร์ชั่นของ ออร์เดรย์ แฮปเบิร์น มาฝากพร้อมด้วยภาพที่สวยงามจากภาพยนต์เรื่องนี้ครับ
ส่วนคำว่า ทางช้างเผือก นั้น เว็บไซต์ของ วิกิพีเดีย บรรยายความหมาย เอาไว้ ดังนี้ครับ
ทางช้างเผือก คือ ดาราจักร ที่มีระบบสุริยะ และ โลกของเราอยู่ เมื่อมองบนท้องฟ้าจะปรากฎเป็นแถบขมุกขมัวคล้ายเมฆของแสงสว่างสีขาว ซึ่งเกิดจากดาวฤกษ์จำนวนมากภายในดาราจักรที่มีรูปร่างเป็นแผ่นจาน ส่วนที่กว้างที่สุดของทางช้างเผือกอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนู ซึ่งเป็นทิศทางไปสู่ใจกลางดาราจักร
เว็บไซต์วิกิพีเดีย ยังได้บรรยายความหมายของคำว่า ดาราจักร เอาไว้ดังนี้
ดาราจักร หรือ กาแล็กซี เป็นกลุ่มของดาวฤกษ์นับล้านดวง กับสสารระหว่างดาวอันประกอบด้วยแก็ส ฝุ่น และ สสารมือ รวมอยู่ด้วยกันด้วยแรงโน้มถ่วง คำว่า กาแล็กซี่ มีที่มาจากคำในภาษากรีก GALAXIAS ที่หมายถึง น้ำนม (MILKY WAY)
เด็กเลี้ยงควาย และ นางฟ้าทอผ้า ที่ถูก “ทางช้างเผือก” แยกจากกันต่างก็ร้องไห้คร่ำครวญถวิลหากันอย่างน่าเวทนา ร้อนถึงประมุขแห่งสวรรค์ทนไม่ได้ต้องลงมาดู แล้วพิจารณาผ่อนปรนว่า
จะให้ทั้งคู่ได้มีโอกาสพบกันปีละครั้งเท่านั้น ด้วยสะพานที่เชื่อมสองฝั่งของแม่น้ำสีเงิน โดยกำหนดให้วันนั้นก็คือ วันขึ้น 7 ค่ำเดือน 7
สมัยก่อน วันขึ้น 7 ค่ำเดือน 7 ก็ไม่ได้สลักสำคัญอะไรมากมายในสังคมจีน แต่ทุกวันนี้ ด้วยแรงผลักดันจากกลยุทธของเศรษฐกิจแบบบริโภคนิยม ก็ทำให้วันนี้กลายเป็นวันที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในประเทศจีน
จึงกลายเป็นวันที่หนุ่มสาวชาวจีนจะต้องซื้อดอกกุหลาบให้กัน ออกไปทานอาหารค่ำด้วยกัน ไปดูหนังฟังเพลงกัน ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรจากวันวาเลนไทน์ หรือ วันเสียตัวแห่งชาติของประเทศไทย
ส่วนความหมายที่แท้จริงตามตำนานของวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ก็ไม่แน่ใจนักว่า หนุ่มสาวชาวจีนจะยังรู้หรือไม่
(24 สิงหาคม 2558)