ซอกซอนตะลอนไป (13 มิถุนายน 2557)
แม้จะก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ยังรักษาวัฒนธรรมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ ผมก็อดไม่ได้ที่จะคิดเปรียบเทียบกลับมาที่บ้านเรา
ปัจจุบัน มีเพียงไม่กี่ชาติในโลกที่ยังรักษาวัฒนธรรมการแต่งกายชุดประจำชาติของตัวเองเอาไว้ได้ จะเห็นก็เพียง อินเดีย , สก๊อตแลนด์ , ภูฎาน , ออสเตรีย และ เยอรมัน ซึ่งทั้งสองชาตินี้มีรากเหง้าวัฒนธรรมเดียวกัน
อีกชาติหนึ่งก็คือ ญี่ปุ่น
คนที่ไม่เคยไปญี่ปุ่นอาจจะคิดว่า ด้วยความที่ญี่ปุ่นเป็นชาติที่มีความก้าวหน้าทางวัฒนธรรม ผู้ชายชาวญี่ปุ่นทุกคนคงจะใส่สูทผูกเน็คไทกัน
และ ด้วยเหตุที่ญี่ปุ่นเป็นผู้นำทางแฟชั่นอีกชาติหนึ่ง ก็เลยอาจจะคิดว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นคงจะแต่งกายล้ำยุค ชะเวิบชะวาบ ยั่วน้ำลายของบรรดาเสื้อสิงกระทิงแรดกันไปทั้งหมด
แต่เมื่อไปถึงญี่ปุ่นแล้ว จะเห็นว่า เขายังคงรักษาวัฒนธรรมดั่งเดิมของตัวเองเอาไว้ได้อย่างเหนียวแน่น น่ายกย่อง
บ่อยครั้งที่เราจะเห็นผู้หญิงแต่งชุดกิโมโน หรือ ชุดยูกาตะ เดินตามท้องถนน แต่แทบจะไม่เคยเห็นผู้หญิงญี่ปุ่นแต่งกายชะเวิบชะวาบ ยั่วกิเลสแบบผู้หญิงไทยในกรุงเทพเลย
ประเภทหญิงสาวในชุดนักศึกษาใส่กระโปรงสั้นจู๋แทบจะนั่งไม่ได้ สวมเสื้อรัดติ้วจนกระดุมปริออกมองทะลุลึกเข้าไปจนเห็นหน้าอกหน้าใจ จนไม่รู้ว่า เธอจะมาเรียน หรือมาทำอะไรนั้น เกือบไม่มีให้เห็นในญี่ปุ่น
เลยตัดสินไม่ได้ว่า แฟชั่นของไทย กับของญี่ปุ่น ใครล้ำหน้ากว่ากัน
ในขณะที่พัฒนาการทางด้านวัตถุของญี่ปุ่นก้าวไปมาก แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมของตัวเอง และดูเหมือนจะไม่อายที่จะแสดงตัวตนความเป็นญี่ปุ่นด้วยซ้ำ
เห็นได้จากห้องน้ำสาธารณะสำหรับนักท่องเที่ยวตามที่ต่างๆ ซึ่งสะอาดสะอ้านตามแบบของญี่ปุ่นอยู่แล้ว เขาจะมีห้องน้ำสองชนิดให้เลือกใช้ แต่ละชนิดจะติดป้ายไว้ที่หน้าห้องชัดเจน
ห้องหนึ่งบอกว่า WESTERN STYLE ก็คือห้องน้ำแบบนั่งโถของตะวันตก อีกห้องติดกัน มีป้ายเขียนไว้ว่า JAPANESE STYLE คือ ส้วมแบบนั่งยอง
ที่ผมชื่นชมก็คือ เขากล้าใช้คำว่า JAPANESE STYLE เพื่อยืนยันว่า ห้องส้วมดั้งเดิมของชาติพันธุญี่ปุ่นก็คือ ส้วมนั่งยอง
บังเอิญเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเที่ยว วัดอาซากุสะ ในกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นช่วงที่เขามีเทศกาลเฉลิมฉลองต้อนรับฤดูร้อนกันพอดี
โดยรอบบริเวณของวัดอาซากุสะ เนืองแน่นไปด้วยชาวญี่ปุ่นที่มาทำพิธีเฉลิมฉลอง และ นักท่องเที่ยวที่มาชมพิธีกัน
แม้ว่าญี่ปุ่นจะเป็นชาติที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่เขาก็ไม่เคยทิ้งวัฒนธรรมพื้นบ้านดั่งเดิม ซึ่งผูกพันอย่างลึกซึ้งกับวัฒนธรรมแบบเกษตรกรรม ที่ต้องพึ่งพาฤดูกาล และ ธรรมชาติเป็นหลัก
ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงยังคงรักษา ประเพณีเทศกาลดอกซากุระบาน , ประเพณีเทศกาลต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ , วันมหาสุมทร และ ล่าสุดได้กำหนดให้วันที่ 11 สิงหาคม เป็นวันภูเขาขึ้นมาอีกวันหนึ่ง
ที่วัดอาซากุสะในวันนั้น เต็มไปด้วยชาย และ หญิง , ผู้ใหญ่ และ เด็ก มาร่วมงานเฉลิมฉลองต้อนรับฤดูร้อนกันอย่างคับคั่ง และ สนุกสนาน
ทุกคนอยู่ในชุดแต่งกายตามประเพณีโบราณของเขา
ผู้ชายจะสวมเสื้อคลุม ในขณะที่ท่อนล่างจะนุ่งผ้าชิ้นเล็ก คล้ายผ้าเตี่ยวแบบที่นักปล้ำซูโมสวมใส่กัน ผู้หญิงก็ใส่เสื้อคลุมแบบเดียวกัน แต่สวมกางเกงขายาวสีขาว
ทุกคนสวมใส่ชุดที่ว่าอย่างไม่มีอาการเคอะเขิน
ผมประทับใจตรงที่ ขนาดเมืองใหญ่ๆอย่างโตเกียว ซึ่งมีวิถีชีวิตแบบตัวใครตัวมันมากกว่าชนบท เขายังสามารถรวมตัวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อสืบทอดประเพณีกันอย่างพร้อมเพรียง
และที่สำคัญก็คือ ยังส่งเสริม และปลูกฝังให้เด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสานวัฒนธรรม เพื่อจะได้เป็นผู้สืบสานวัฒนธรรมในรุ่นต่อๆไปของเขา
น่าชื่นใจจริงๆ