ฮัลล์สตัต – หมู่บ้านที่สวยที่สุดในโลก

ซอกซอนตะลอนไป   (27 กันยายน 2556)

ฮัลล์สตัต – หมู่บ้านที่สวยที่สุดในโลก

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณท่านผู้อ่านที่แสดงความคิดเห็นเข้ามา  และตอบคำถามในสัปดาห์แล้ว  แต่ท่านหนึ่งเขียนชื่อเป็นภาษาที่เข้าใจว่าเป็นภาษากรีก  เลยอ่านไม่ได้ กับคุณ JADE JUMROONROJANA  คำตอบที่ถูกก็คือ  เดวิด ไม่ได้คลิปลายอวัยวะเพศครับ

ถูกต้องครับ  คนอิตาเลียน จะเรียก ไมเคิลแองเจโล ว่า มิเคลันเจโล  แต่ผมเลือกที่จะเรียกตามแบบภาษาอังกฤษว่า ไมเคิลแองเจโล  เพราะฟังง่ายกว่า    ด้วยเหตุนี้  ผมจึงใส่ภาษาอังกฤษกำกับไว้ด้วย 

ยังไงก็ตาม  ก็ต้องขอขอบคุณที่ท้วงติงเข้ามาครับ  ส่วนหนังสือก็จะจัดส่งให้ครับ

               เรามาร่วมเดินทางในออสเตรียกันต่อครับ  

               เสน่ห์ที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้เดินทางมาเยือนออสเตรีย  ก็คือ  ทะเลสาบ  และ  ขุนเขา   และ จุดที่นักท่องเที่ยวชอบมาพักผ่อนก็คือ เขต ซาลส์คามเมอร์กุต(SALZKAMMERGUT)

               ที่แปลว่า  เหมืองเกลือของราชสำนักนั่นเอง

               ซาลส์คามเมอร์กุต  กินอาณาบริเวณที่กว้างขวางพอสมควร  เต็มไปด้วยหมู่บ้านเล็กๆริมทะเลสาบที่สวยงาม   ไม่ว่าจะเป็น  หมู่บ้านเซนต์ วูลฟ์กัง  ที่ผมได้นำชมไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้ 

               หรือหมู่บ้าน บาด อิชเชิล  ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ให้กำเนิด  เจ้าชายเกลือของออสเตรีย 

               หรือหมู่บ้าน มูนเซ  ที่มีโบสถ์หลังหนึ่งถูกใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ชื่อดัง คือ “THE SOUND OF MUSIC ”  นำแสดงโดยจูลี่  แอนดรูย์ และ  คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์


(ผู้เขียนที่หน้าโบสถ์ในหมู่บ้านมุนเซ  ซึ่งเป็นฉากหนึ่งในภาพยนตร์เรื่อง THE SOUND OF MUSIC )

               ปกติ   เวลากองถ่ายทำภาพยนตร์ของฮอลลีวูด ยกกองไปถ่ายทำนอกสถานที่  หรือ นอกอเมริกา   เขามักจะถ่ายทำเพียงฉากภายนอกเท่านั้น   ส่วนฉากภายในจะกลับไปถ่ายทำกันในโรงถ่าย

               แต่มีอยู่เพียงฉากเดียวในภาพยนตร์เรื่องนี้  คือ ฉากที่มาเรีย  นางเอกของเรื่องเข้าพิธีแต่งงานในโบสถ์   ฉากนี้ถ่ายทำกันในสถานที่จริงในโบสถ์แห่งนี้เลย  

               ใครผ่านไปก็เข้าไปดูนะครับ

               อีกหมู่บ้านหนึ่งที่ขาดไม่ได้   และกำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกก็คือ  หมู่บ้านฮัลล์สตัตต์


(ภาพที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกของหมู่บ้านฮัลลสตัต)

               หมู่บ้านฮัลล์สตัตต์(HALLSTATT) ตั้งอยู่ริมทะเลสาบชื่อเดียวกัน  โค้งของทะเลสาบทำให้หมู่บ้านฮัลล์สตัตต์ มีชื่อเสียงรู้จักกันไปทั่วโลก   ฮัลล์สตัตต์  ยังกลายเป็นชื่อของอารยธรรมเก่าแก่กว่า 2,000 ปี ที่เพิ่งมีการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้


(บนถนนในหมู่บ้านฮัลล์สตัต ที่ทอดยาวไปตามแนวของทะเลสาบ)

               สิ่งที่นักโบราณคดีเรียกว่า  อารยธรรมฮัลสตัต(HALLSTATT CULTURE) นั้น   ค้นพบกันบนยอดเขาเหนือหมู่บ้านขึ้นไป  เป็นแหล่งขุดเกลือมาตั้งแต่โบราณกาล


(ลานกว้างหน้าโบสถ์ประจำหมู่บ้าน)

               สิ่งที่เขาค้นพบก็คือ  ซากของมนุษย์โบราณที่ถูกถ้ำถล่มทับขณะเข้าไปขุดหาเกลือ   ด้วยความเค็มของเกลือ  จึงทำให้ร่างกาย  เสื้อผ้า เครื่องใช้ต่างๆไม่เน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา

               เมื่อนักโบราณคดีใช้วิธีสืบหาอายุตามกรรมวิธี คาร์บอน 14  ก็ทราบว่า น่าจะมีอายุประมาณ 2,700 ปี


(ร้านค้าที่พลอยได้อานิสงค์  จากเหมืองเกลือที่นี่ด้วย)   

               ชนกลุ่มนี้ได้รับการระบุจากนักโบราณคดีว่า  เป็นชาวเซลต์(CELTS)  หรือ เคล์ท(KELTS) หรือที่เรียกกันว่า  ชาวเซลติค(CELTIC)   ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่อพยพมาจากทางตะวันออกของยุโรป

               กลุ่มชนเหล่านี้อพยพเรื่อยไปทางทิศตะวันตกของยุโรป  เข้าไปอาศัยอยู่ใน คาบสมุทรไอบีเรียน(IBERIAN PENNINSULA)  ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นที่ตั้งของประเทศสเปน และ โปรตุเกส และเป็นบรรพบุรุษของชาวสเปน  โปรตุเกส ทุกวันนี้  

บางกลุ่มก็ขึ้นไปไกลถึงเกาะอังกฤษโน่น 

               วัฒนธรรมที่โดดเด่นที่สุดของชาวเซลต์  ก็คือ  ที่ฮัลลสตัต เป็นยุคที่มนุษย์รู้จักใช้เหล็กแล้ว     

               การที่มนุษย์รู้จักขุดค้นเข้าไปในดินเพื่อหาเกลือ   เขาถือว่าเป็นพัฒนาการสำคัญ   จึงเรียกการยกระดับพัฒนาการของมนุษย์ในยุคนั้นว่า   อารยธรรมฮัลล์สตัต

               ต้องไม่ลืมนะครับว่า   ออสเตรียเป็นประเทศที่ไม่มีพื้นที่ส่วนใดติดทะเลเลย   และ  หมู่บ้านฮัลล์สตัตต์เองก็อยู่ห่างจากทะเลนับพันกิโลเมตร   และเหมืองเกลือก็อยู่ในภูเขาที่สูงมาก

               มนุษย์เมื่อ 2,700 ปีที่แล้วรู้ได้อย่างไรว่า   มีเกลืออยู่ในภูเขาสูงขนาดนั้น  ยังเป็นเรื่องที่ชวนให้คิดจนทุกวันนี้

               เหมืองเกลือกลายเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญให้แก่หมู่บ้านฮัลล์สตัต  และแก่ประเทศออสเตรีย   เพราะปัจจุบัน  ได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไปแล้ว


(เกลือ  ซึ่งในอดีตเรียกขานกันว่า   ทองคำสีขาว)

               ดูเหมือนว่า  รายได้จะดีกว่าการทำเหมืองเองด้วยซ้ำ   เพราะนักท่องเที่ยวที่ซื้อบัตรผ่านประตูเข้าไปชมเหมืองเกลือในแต่ละวันเป็นจำนวนนับพันๆคนทีเดียว   และราคาตั๋วต่อคนก็ไม่ถูก   

               ร้านค้าในหมู่บ้านฮัลล์สตัต  พลอยมีรายได้จากการขายผลผลิตจากเหมืองเกลือให้แก่นักท่องเที่ยว   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  เมื่อธุรกิจสปาหลายต่อหลายแห่งได้นำเอาสูตรการแช่น้ำเกลือไปใช้ในการบำบัดโรคต่างๆ 


(ซุปแพนเค้ก   อาหารประจำชาติของออสเตรีย)

               นักท่องเที่ยวหลายคนให้ข้อสังเกตว่า   เป็นเพราะยุโรปมีเหมืองเกลือขนาดใหญ่หลายแห่งนี่เอง   อาหารแทบทุกอย่างของยุโรป  จึงมีรสชาติเค็มเหลือหลาย    เริ่มตั้งแต่ซุปเรื่อยมาทีเดียว


(มาถึงทะเลสาบทั้งที  ก็ต้องทานปลาเทร้าท์ย่างกัน) 

               โชคดีที่ของหวานไม่พลอยเค็มไปด้วย 


(ปิดท้ายด้วย เค้กซัคเคอร์ เค้กชื่อดังจากเวียนนา)

               พบกันใหม่สัปดาห์หน้าครับ  

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *