อาหารเคจุ้น เคล้าดนตรีแจ๊ส ที่นิวออร์ลีน

ซอกซอนตะลอนไป    (24 มกราคม 2557)

อาหารเคจุ้น เคล้าดนตรีแจ๊ส ที่นิวออร์ลีน

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               อาหารที่มีชื่อเสียง ของ มลรัฐหลุยส์เซียน่า ของสหรัฐอเมริกา  และ  เมืองนิวออร์ลีน ซึ่งเป็นเมืองหลวง มีชื่อเรียกรวมๆว่า  อาหาร เคจุ้น (CAJUNS)  

ผมจะใช้คำว่า  “อาหารที่มีชื่อเสียง” นะครับ   เพราะ คำว่า “อร่อย” จะขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละบุคคล

               คำว่า  เคจุ้น นั้นหมายถึง ชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า  ชาติพันธุ์อะคาเดียน(ACADIAN) พูดภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก  ชาติพันธุ์อะคาเดียน นั้นอพยพมาจากดินแดนที่เรียกว่า  เดอะ มาริไทมส์(THE MARITIMES) 

               ดินแดนที่เรียกว่า เดอะ มาริไทมส์ นั้นก็คือ ดินแดนริมชายฝั่งทะเล  และนอกชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของทวีปอเมริกา  หรือ ดินแดนในทะเลด้านตะวันออกของประเทศแคนาดา และ อเมริกา


(โนวาสโกเทีย คือ พื้นที่สีแดง ซ้ายมือก็คือ แคนาดา  ต่ำจากแคนาดาลงมาก็คือ สหรัฐอเมริกา)

ดินแดนเหล่านี้ก็คือ  บางส่วนของรัฐนิวอิงแลนด์ ของอเมริกา  ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของรัฐควีเบค  และ ดินแดนโนวา สโกเทีย(NOVA SKOTIA) ของแคนาดา   หมู่เกาะ นิวฟาวนด์แลนด์ และ ลาบราดอร์ (NEW FOUNDLAND  AND  LABRADOR)  และอื่นๆ

ผู้คนที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส   แต่ต้องอพยพหนีออกมาตั้งหลักแหล่งทางตอนใต้ของมลรัฐหลุยส์เซียน่า  เพราะหนีภัยสงคราม ที่เรียกว่า  สงครามเจ็ดปี (SEVEN YEARS WAR)ระหว่างปีค.ศ. 1756 ถึง 1763

สงครามเจ็ดปี เป็นสงครามที่แย่งชิงดินแดนในอเมริกา เป็นส่วนใหญ่ ระหว่าง สหราชอาณาจักร กับ ฝรั่งเศสที่ร่วมกับสเปน เพื่อผลประโยชน์ของตนเองทั้งสิ้น 

เมื่อพวกเคจุ้น เดินทางลี้ภัยมาถึงรัฐหลุยส์เซียน่า  ก็ได้ปรับตัวเข้ากับกับคนที่อาศัยอยู่เดิมก็คือ  พวกสเปน   จึงทำให้อาหารเคจุ้นมีความหลากหลายมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง   รสชาติที่จัดจ้านมากขึ้น


(ทาบาสโก้  ซ๊อสพริกชื่อดังของ หลุยส์เซียน่า  ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อร้าน)

อาหารที่ว่ารสชาติจัดนั้น  ขออย่าได้นำมาเปรียบเทียบกับอาหารไทยนะครับ   เพราะถึงอย่างไร   ก็คงไม่จัดจ้านและเผ็ดเท่าอาหารไทย   ยกเว้น  ซ๊อสพริกที่เผ็ดจี๊ดจ๊าดจนรสเปรี้ยวพุ่งขึ้นจมูกเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก คือ  ซ๊อสพริกทาบาสโก้(TABASCO)  ซึ่งมีต้นกำเนิดที่ มลรัฐหลุยส์เซียน่า นี่เอง

เนื่องจากในเขตเมืองนิวออร์ลีน เต็มไปด้วยแหล่งน้ำ   ตั้งแต่ ทะเล   แม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย  และ น้ำจืด   หนองบึง และ ป่าชายเลน   จึงมีอาหารทะเลมากมายให้เลือกทาน   ตั้งแต่ กั้งแดงตัวเล็ก ที่ฝรั่งเรียกว่า CRAWFISH   กุ้ง  หอย  และปลา  จนกระทั่ง  จระเข้ที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญของที่นี่ด้วย


(กัมโบ ผสมหลายอย่าง  ขวามือคือ  ข้าวสกปรก)

อาหารที่ขึ้นชื่อของ หลุยส์เซียน่า อย่างหนึ่งก็คือ  กัมโบ(GUMBO) คล้ายๆกับ สะตูราดข้าวของบ้านเรา   เพียงแต่เขาใช้กุ้งและ ไส้กรอก มาทำเท่านั้น

กัมโบ สามารถจะทานกับข้าวขาวก็ได้   แต่ก็สามารถทานกับ ข้าวผัด  ซึ่งเขาเรียกว่า  ข้าวสกปรก ตามศัพท์ภาษาอังกฤษที่ว่า DIRTY RICE   ข้าวผัดที่ว่านี้   จะมีรสชาติจัดหน่อย   คือเผ็ดนิดๆพอให้คนอเมริกันทานได้   เป็นวัฒนธรรมที่รับมาจากชาวสเปนที่อาศัยอยู่ที่นี่มาก่อนพวกฝรั่งเศส  ที่ชาวสเปน  เรียกว่า  ข้าวไปลญ่า (PAELLA)  หรือ  ข้าวผัดสเปน นั่นเอง  


(บางร้านก็ขายอาหารทะเลสด  เช่นร้านนี้  ที่ขายหอยนางรมสด และ กุ้งสด) 

นอกจากสะตูแล้ว  อาหารอย่างอื่นไม่ค่อยจะมีอะไรนัก   จะมีก็เป็นพวกชุบแป้งทอด  ไม่ว่าจะเป็นกุ้งชุบแป้งทอด   ปลาหมึกชุบแป้งทอด  หอยนางรมชุบแป้งทอด  และ ไส้กรอกเนื้อจรเข้

อันหลังนี้ผมขอผ่านครับ


(นักดนตรีแจ๊ส ในร้านอาหาร  ตอนพักก็มีการเดินของทิปจากแขกของร้านอาหารด้วย)

ร้านอาหารที่ผมเลือกท่านก็คือ  MARKET CAFÉ  ที่อยู่ใกล้กับ ตลาดฝรั่งเศส   สาเหตุที่เลือกก็เพราะมีดนตรีแจ๊ส บรรเลงให้ลูกค้าฟังด้วย    แม้จะมีดนตรีแจ๊สให้ฟัง   สนนราคาก็ไม่ได้แพงว่าร้านทั่วไปนัก    ก็เลยมีนักท่องเที่ยวเต็มร้านเกือบตลอดเวลา


(ขนมพราไลน์ ซึ่งเป็นขนมพื้นเมืองของ นิวออร์ลีน)

ชิมอาหารเคจุ้นเรียบร้อยแล้ว   ใกล้ๆกันก็มีร้านขายขนมหวานของท้องถิ่นที่มีชื่อเสียง  เรียกว่า  พราไลน์ (PRALINE)  ซึ่งโฆษณาเป็นเรื่องเป็นราวว่า   เก่าแก่นักหนา

ทดลองชิมดูแล้วก็ขอผ่านอีกเช่นกัน   เพราะมีรสชาติไม่ต่างจากกินน้ำตาลปีปใส่ถั่ว ยังไงยังงั้นเลย    แต่ดูท่าว่า   คนอเมริกันคงจะชอบเพราะเห็นขายดีพอสมควร


(ผู้เขียนบน ถนนเบอร์เบิร์น ห้องแถวเล็กๆแบบนี้จะกลายเป็นบาร์แจ๊สในตอนกลางคืน)

ถนนเบอร์เบิร์น (BOURBON STREET) หรือ  บรูบอง ตามชื่อของราชวงศ์สุดท้ายของฝรั่งเศส  เป็นถนนที่คึกคักด้วยดนตรีสไตล์แจ๊ส  โดยเฉพาะในตอนกลางคืน   แต่มีระดับดีกว่า ถนนพัฒนพงศ์ บ้านเรา   เพราะทุกคนที่เข้าไปในร้านก็เพื่อฟังเพลง และ  สั่งเหล้ามาดื่มกันเท่านั้น


(ดนตรีแจ๊ส บนถนนเบอร์เบิร์น  เปลี่ยนแปลงแนวดนตรีไปบ้างแล้ว  แต่ก็ยังสนุกสนานแบบเดิม)

ไม่มีการขายบริการทางเพศ 

เพียงแต่ดนตรีในยุคสมัยนี้   ต่างจากดนตรีที่ผมเคยฟังเมื่อ 30 ปีที่แล้ว  เพราะเริ่มมีดนตรีแนวอื่นเข้ามานะเสนอมากขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย


(ขบวนแห่แบบงาน มาร์ดิ กราส์ พบเห็นได้บ่อยในนิวออร์ลีน  นี่เป็นขบวนเจ้าบ่าวเจ้าสาว คนที่เดินนำหน้านั่นแหละ) 

ทุกสิ่งล้วนอนิจจัง

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *