ยุทธนาวีครั้งสุดท้ายของมาร์ก แอนโทนี และ คลีโอพัตรา(ตอน 1)

ซอกซอนตะลอนไป       (5 กันยายน 2557)

ยุทธนาวีครั้งสุดท้ายของมาร์ก แอนโทนี และ คลีโอพัตรา(ตอน 1)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               ทุกครั้งที่ไปยุโรป และพักในโรงแรมที่อยู่ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน   มองออกไปในทะเลอันกว้างใหญ่  ผมอดไม่ได้ที่จะย้อนไปคิดถึงอดีตในยุคสมัยของอาณาจักรโรมัน  หรือก่อนหน้านั้น  ซึ่งมักจะทำสงครามกันในท้องทะเล

               บังเอิญเมื่อวันที่ 2 กันยายน แต่ย้อนไปเมื่อประมาณ 2045 ปีที่แล้ว คือ ประมาณปีที่ 31 ก่อนคริสตกาล   เกิดสงครามทางทะเลที่สำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก   เรียกว่า  สงครามแห่งแอคเทียม(BATTLE OF ACTIUM) 


(รูปสลักของ จูเลียส ซีซาร์) 

               เมืองแอคเทียม ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลไอโอเนียน ทางทิศตะวันตกของประเทศกรีซ

               ยุทธนาวีครั้งนี้ได้เปลี่ยนโฉมหน้าของประวัติศาสตร์ยุคโบราณไปโดยสิ้นเชิง  เพราะเป็นการรบกันระหว่าง  กองทัพของ มาร์ก แอนโทนี(MARK ANTHONY) อดีตนายทหารคนสนิทของ จูเลียส ซีซาร์ ร่วมกับกองทัพของ พระนางคลีโอพัตราที่ 7(C;EOPATRA VII) แห่งราชวงศ์ปโตเลมี(PTOLEMY DYNASTY) แห่งอียิปต์  เพื่อรบกับกองทัพของ ออคเทเวียน(OCTAVIAN) แห่งสาธารณรัฐโรมัน   

               ขอเท้าความย้อนหลังสักนิด  เผื่อผู้ที่ยังไม่ทราบรายละเอียดของประวัติศาสตร์โรมันในช่วงนี้

               หลังจากที่จูเลียส ซีซาร์ ขึ้นครองอำนาจเบ็ดเสร็จในโรม ด้วยการโค่นคู่แข่งคนสำคัญคือ ปอมเปย์ ลงได้   โลกเมดิเตอร์เรเนียน ก็ตกเป็นของจูเลียส ซีซาร์ แทบจะแต่เพียงผู้เดียว


(ภาพจินตนาการตอนที่จูเลียส ซีซาร์  ถูกลอบสังหาร ผลงานของ วินเซนโซ คามุคชินี่ (VINCENSO CAMUCCINI) )

               โลกเมดิเตอร์เรเนียน ก็คือ ดินแดน หรือ ประเทศต่างๆที่อยู่รายรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  อาทิเช่น  กรีซ  อียิปต์  ตุรกี  สเปน   เลบานอน  อิสราเอล   ตูนีเซีย หรือ ที่รู้จักกันในยุคโบราณว่า  อาณาจักรคาร์เธจที่เคยยิ่งใหญ่   วันหลังจะเอาเรื่องอาณาจักรคาร์เธจ  และ ฮานนิบาล มาเล่าให้ฟังครับ   

               (ผมจะนำทัวร์ไปเที่ยว ตูนีเซีย ระหว่างวันที่ 19 ถึง 26 พฤศจิกายน นี้  สนใจติดต่อได้ที่ บริษัท ไวท์ เอเลแฟนท์ ทราเวล เอเยนซี่ เบอร์โทร 02 651 6900  ครับ)


(ภาพเขียนในจินตนาการการพบกันครั้งแรกระหว่าง พระนางคลีโอพัตรา กับ จูเลียส ซีซาร์ ผลงานของ ฌอง ลีออง เจอโรเม(JEAN LEON GEROME)  ซึ่งประวัติศาสตร์กล่าวว่า  นางถูกม้วนไว้ในพรมที่ถูกแบกเข้ามาในห้องของจูเลียส ซีซาร์)   

               ในระหว่างนั้น   เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในดินแดนอียิปต์  ซึ่งมีสภาพเป็นเหมือนเมืองขึ้นของโรม  ทำให้โรมเกิดความเป็นห่วง   เพราะอียิปต์เป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญให้แก่โรม  เช่น  ข้าว  และ  ธัญพืช อื่นๆทั้งหลาย 

               จูเลียส  ซีซาร์ จึงต้องเดินทางมาจัดการด้วยตนเอง    


(รูปสลักใบหน้าของพระนางคลีโอพัตรา แห่งอียิปต์) 

               ทันทีที่จูเลียส ซีซาร์ มาถึงอียิปต์ เพื่อจัดการกับความขัดแย้งระหว่าง ฟาโรห์ปโตเลมีที่ 13 ซึ่งครองราชย์ร่วมกับ พระนางคลีโอพัตรา ที่ 7 พี่สาวของพระองค์ และเป็นมเหสีของพระองค์ด้วย 

               แต่เนื่องจาก คลีโอพัตรา  คงจะฉลาดกว่าฟาโรห์ ผู้เป็นน้องชาย  จึงเกิดความไม่ลงรอยกันในเรื่องการปกครองแผ่นดินจนเกิดสงครามย่อยๆขึ้น   พระนางคลีโอพัตรา เพลี่ยงพล้ำจนต้องหนีออกไปอยู่นอกเมือง 


(พระนางคลีโอพัตรา ที่ 7 จากจินตนาการของ นักสร้างภาพยนตร์)

               เมื่อจูเลียส ซีซาร์ มาถึงอเล็กซานเดรีย  เมืองหลวงของอียิปต์ในขณะนั้น   คลีโอพัตรา แอบเข้ามาพบจูเลียส ซีซาร์  และมีสัมพันธ์กัน 

โดนมนต์สวาทจากสาวสวยเช่นนี้เข้า   จูเลียส ซีซาร์ จึงหันมาถึงหางฝ่ายของคลีโอพัตรา และช่วยพระนางในการทำสงครามกับน้องชาย 

               ฟาโรห์ปโตเลมี ที่ 13 ถูกสังหาร  และ โรมันก็สถาปนาให้คลีโอพัตรา ที่ 7  เป็นผู้ครองบัลลังก์ของอียิปต์สืบต่อมา   จากนั้นไม่นาน  พระนางก็ตั้งครรภกับ จูเลียส ซีซาร์ และให้กำเนิดโอรส มีนามว่า ซีซาเรียน(CAESARION) 


(รูปสลักของ มาร์ก  แอนโทนี)  

               จูเลียส ซีซาร์ ถูกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า  “ผู้ปลดปล่อย” ที่นำโดย ไกอุส แคสซิอุส ลองจินุส(GAIUS CASSIUS LONGINUS)  และ  มาร์คัส จูนิอุส บรูตุส(MARCUS JUNIUS BRUTUS)    ลอบสังหารตอนจะกำลังเดินเข้าไปประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 44ปีก่อนคริสตกาล

               ความผิดพลาดที่ร้ายแรงของกลุ่มผู้ก่อการสังหารจูเลียส ซีซาร์ เรื่องเดียวก็คือ  ไม่สังหารมาร์ก แอนโทนี ไปด้วย  แต่กลับปล่อยให้มาร์ก แอนโทนี เป็นอิสระด้วยการเอาลูกชายคนหนึ่งของมาร์ก แอนโทนี มาเป็นตัวประกันเท่านั้น     

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังการตายของ จูเลียส ซีซาร์    มาร์ก แอนโทนี ก็พลิกสถานการณ์ที่เป็นรองต่อกลุ่มผู้ร่วมกันสังหาร จูเลียส ซีซาร์ให้กลายมาเป็นต่อ   ด้วยคำพูดสดุดีต่อหน้าร่างของจูเลียส ซีซาร์ ก่อนที่จะทำพิธีเผาศพในโรมัน ฟอรัม  จนทำให้ประชาชนชาวโรมเป็นเดือดเป็นแค้นต่อผู้ร่วมสังหาร  และออกไล่ล่าผู้ร่วมกันก่อการจนต้องหนีกระเจิดกระเจิงออกไปจากโรม  


(รูปสลักของ ออคเทเวียน ในตอนเป็น จักรพรรดิ  ออกุสตุส) 

               ออคเทเวียน หลานของ จูเลียส ซีซาร์เดินทางเข้ามาในโรมเพื่อสานต่ออำนาจจากจูเลียส ซีซาร์   ได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มที่เรียกว่า  “สามพันธมิตร” อันประกอบด้วย  มาร์ก แอนโทนี่ , มาร์คัส เอมิลิอุส เลปิดุส        (MARCUS AEMILIUS LEPIDUS)  และ  ออคเทเวียน เพื่อสานผลประโยชน์ร่วมกัน

               เนื่องจาก พินัยกรรมของจูเลียส ซีซาร์ ได้ยกทรัพย์สมบัติ และ สิทธิ์ทางการเมืองต่างๆให้แก่ ออคเทเวียน   ปลายทางที่จะขึ้นสู่อำนาจของออคเทเวียน จึงอยู่แค่เอื้อม 

               แต่ปัญหาก็คือ  จูเลียส ซีซาร์ ยังมีลูกชายสายเลือดโดยตรงของตัวเองที่เกิดจาก พระนางคลีโอพัตรา ที่อยู่ในอียิปต์   ซึ่งถ้าจะว่าไป   ซีซาเรียน ยังมีสิทธิที่จะกลับมาเรียกร้องสิทธิของตัวเองในฐานะลูกของจูเลียส ซีซาร์ได้เช่นกัน 

               เป็นหนามยอกอกของ ออคเทเวียนตลอดเวลา  ที่ต้องขจัดออกไปให้พ้นทาง   แต่ยังไม่สบโอกาส 

               การแบ่งสันปันส่วนดินแดนต่างๆรอบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนให้ “สามพันธมิตร” ไปปกครอง ทำให้มาร์ก แอนโทนี ได้ปกครองเอเชียที่รวมอียิปต์ไปด้วย  ทำให้เขาได้มาพบกับ พระนางคลีโอพัตราอีกครั้ง   แต่ในฐานะที่ต่างจากตอนที่เขาเป็นทหารคนสนิทของจูเลียส ซีซาร์ 

               เพียงไม่นานนัก  มาร์ก แอนโทนี ก็มีสัมพันธ์กับ คลีโอพัตรา ในฐานะสามีภรรยากัน   และทิ้งภรรยาที่ถูกต้องตามประเพณีของเขาเอาไว้ที่โรมโดยไม่ใยดี 

               ภรรยาคนนี้ไม่ใช่ผู้หญิงไร้หัวนอนปลายเท้า    หากแต่เป็น ออคเทเวีย(OCTAVIA) พี่สาวของออคเทเวียน 

               มาถึงจุดนี้   ออคเทเวียน ก็เลยได้โอกาสที่จะเอาสองเรื่องมารวมกันเป็นเรื่องเดียว แล้วสะสางทุกอย่างให้จบลงในคราวเดียว

               คือจัดการทั้ง ซีซาเรียน และ มาร์ก แอนโทนี  ที่เป็นก้างขวางคอทั้งคู่    รอพบกันในตอนต่อไปครับ   

               สวัสดี   

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *