พระราชวังสวนกุหลาบ ของอิหร่าน

ซอกซอนตะลอนไป    (20 ธันวาคม 2556)

พระราชวังสวนกุหลาบ ของอิหร่าน

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ 

               อิหร่าน มีสิ่งที่โดดเด่น และ น่าชม อยู่ 2 กลุ่มด้วยกัน คือ  พระราชวัง  และ  สุเหร่า

               และสิ่งก่อสร้างเหล่านี้   ส่วนใหญ่เป็นสิ่งตกทอดมาจากสมัยราชวงศ์ กาจาร์(QAJAR DYNASTY) แทบทั้งสิ้น  เพราะราชวงศ์กาจาร์ ถือว่าอยู่ใกล้ยุคปัจจุบันมากที่สุด  รองลงมาจากราชวงศ์ปาห์ลาวี

               เพราะราชวงศ์กาจาร์ ปกครองประเทศอิหร่านมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1796 จนถึง ปีค.ศ. 1925  จนถูกปฎิวัติโค่นล้ม โดย เรซา ชาห์ ปาห์ลาวี(REZA SHAH PAHLAVI)  จากนั้น   เรซา ชาห์ ก็ได้สถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นมาเรียกว่า  ราชวงศ์ปาห์ลาวี (PAHLAVI DYNASTY)

               ศิลปะทางด้านสถาปัตยกรรมในแบบโบราณที่สวยงามส่วนใหญ่ที่ได้ชมกันในประเทศอิหร่านนั้น   ล้วนมาจากสมัยของราชวงศ์กาจาร์ทั้งสิ้น   อาทิเช่น  พระราชวังโกเลสตาน(GOLESTAN PALACE) ที่อยู่ในกรุงเตหะราน


(หน้าพระราชวังโกเลสตาน  ที่ใช้เป็นท้องพระโรงเพื่อรับรองแขกบ้านแขกเมือง)

               พระราชวังโกเลสตาน  หรือ บางทีก็เรียก พระราชวังกูลิสตาน(GULISTAN PALACE)  ที่แปลว่า  พระราชวังสวนกุหลาบ (ROSE GARDEN PALACE) 

               เมื่อพูดถึงชื่อ พระราชวังสวนกุหลาบแล้ว   ก็ขอพูดถึง  คำว่า กุหลาบ ในภาษาไทยเสียหน่อย 


(ดอกกุหลาบ ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากอิหร่าน  มีหลากหลายสี)

               คำว่า “กุหลาบ” ที่เราใช้เรียกชื่อดอกไม้พันธุ์หนึ่งที่มีกลิ่นหอมมากนั้น   คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเป็นคำที่มีต้นกำเนิดเป็นภาษาไทย  แบบที่มีคนมักเล่ากันต่อๆว่า   เพราะต้นกุหลาบมีหนาม  พอคนเอามือไปจับก็ถูกหนามตำ   จึงร้องว่า   กูหลาบแล้ว   จนกลายเป็นชื่อของ ดอกกุหลาบ   

ซึ่งไม่ใช่

               เพราะ“กุหลาบ”  มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเปอร์เชีย  ซึ่งเรียกดอกกุหลาบว่า  โกหลาบ  ทำให้บางเมืองเช่น เมือง คาชาน(KASHAN)  ซึ่งเป็นเมืองแห่งดอกกุหลาบอีกเมืองหนึ่งของอิหร่าน  มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับดอกกุหลาบวางขายมากมาย   ไม่ว่าจะเป็นน้ำดอกกุหลาบ  ชาดอกกุหลาบ เป็นต้น

               ที่ตั้งของ พระราชวังโกเลสตาน แต่เดิมเคยเป็นป้อมปราการ ของราชวงศ์ซาฟาวิด(SAFAVID DYNASTY) ที่สร้างโดย กษัตริย์ ทาห์มาสพ์ ที่ 1 (TAHMASP I) ในช่วงศตวรรษ ที่ 16 มาก่อน  


(บัลลังก์ของกษัตริย์  เบื้องหลังคือพระราชวังที่ตกแต่งด้วยกระจกเงา  สวยงามมาก)

และเมื่อราชวงศ์กาจาร์(ปี ค.ศ. 1794 – 1925) โดย อักฮา โมฮาหมัด ข่าน(AGHA MOHAMAD KHAN) ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ปีค.ศ. 1742 ถึง 1797  ได้เลือกเอา เมืองเตหะราน เป็นเมืองหลวง   ก็ได้บูรณะป้อมปราการดังกล่าวขึ้นมาเป็นพระราชวังของตนเอง

               และพระราชวังแห่งนี้ก็อยู่คู่กับราชวงศ์กาจาร์มาโดยตลอดจนกระทั่งถูก เรซา ชาห์ ปาห์ลาวี(REZA SHAH PAHLAVI) ปฎิวัติ โค่นล้มอำนาจลงไป


(พระอาทิตย์บนหลังสิงโต สัญลักษณ์ของประเทศอิหร่าน ที่ใช้มาจนกระทั่งปฎิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นรัฐอิสลาม)

               ที่น่าสนใจก็คือ  พระราชวังโกเลสตาน ซึ่งใช้ในการต้อนรับราชทูต หรือ แขกบ้านแขกเมือง  ตลอดจนประชาชนที่มาเข้าเฝ้า   มิได้กระทำกันในห้องท้องพระโรง    แต่จะกระทำกันในลานกลางแจ้งด้านหน้าของพระราชวัง

               เหมือนกับราชพิธีของบรรดาสุลต่านของราชวงศ์ออตโตมาน(OTTOMAN EMIRE) ของตุรกี

               ทั้งนี้เพราะ  ราชวงศ์กาจาร์ มีต้นกำเนิดที่แท้จริงเป็นชาว เติร์ก(TURKS)  เช่นเดียวกับ สมาชิกของราชวงศ์ออตโตมาน  ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากชาวมองโกล


(นาสเซอร์ อัล-ดิน ชาห์)

               ประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของราชวงศ์กาจาร์ ที่เกี่ยวข้องกับพระราชวังโกเลสตาน ก็คือ  นาสเซอร์ อัล ดิน ชาห์(NASSER AL-DIN SHAH)  พระองค์ครองราชย์ยาวนานตั้งแต่ปีค.ศ.  1848  ถึง 1896 

               เนื่องจากขึ้นครองราชย์ตั้งแต่อายุยังน้อย  คือขณะอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น   พระองค์จึงต้องพึ่งพาผู้ที่มีประสบการณ์ให้ช่วยเป็นที่ปรึกษา และ บริหารราชการ


(อาเมียร์ กาเบอร์  นายกรัฐมนตรีของ นาสเซอร์ ชาห์)

               พระองค์ได้ อาเมียร์ คาเบอร์ (AMIR KABIR) ที่มีกำเนิดมาจากตระกูลที่ต่ำต้อย  และ เคยรับราชการในรัชสมัยของบิดาของพระองค์ มาก่อนมาช่วยดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีให้   

               อาเมียร์ คาเบอร์ เป็นคนเก่ง และมีแนวคิดปฎิรูปหลายอย่าง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  การปฎิรูปทางการคลัง และ เศรษฐกิจ   ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้บรรดาชนชั้นสูง หรือชนชั้นขุนนาง ที่อยู่ในแวดวงสังคมชั้นในของ นาสเซอร์ ชาห์  ไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง    เพราะการปฎิรูปดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายต่อชนชั้นเหล่านี้

               ยิ่งไปกว่านั้น  ชาวต่างประเทศที่สูญเสียผลประโยชน์ต่างๆจากการปฎิรูปของ อาเมียร์ คาเบอร์  ก็เข้าร่วมสนับสนุนชนชั้นสูงเหล่านี้ในการโค่นล้ม อาเมียร์ ออกไปจากตำแหน่ง

               หลังจากเป่าหูกษัตริย์แห่งราชวงศ์กาจาร์ เป็นเวลานาน   ในที่สุด นาสเซอร์ ชาห์  ก็หลงเชื่อ  และสั่งให้ อาเมียร์ กาเบอร์  ไปฆ่าตัวตายซะ


(อาเมียร์ กาเบอร์ ยอมสละชีวิตเพื่อกษัตริย์ของเขา)

               เมื่อหนทางตีบตัน   อาเมียร์ กาเบอร์ จึงตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการให้ทหารใช้มีดกรีดข้อมือตัดเส้นเลือดจนตัวตาย ที่เมืองคาซาน 

               ปัจจุบัน  ยังมีรูปหุ่นขี้ผึ้งจำลองภาพเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงไว้ที่ สวนฟิน (FIN GARDEN)  ที่เมืองคาชาน ให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาชมกัน

               จบเรื่องพระราชวังโกเลสตานเอาไว้แค่นี้ครับ

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *