ซอกซอนตะลอนไป (6 มิถุนายน 2557)
ทำไม แม่ค้าคนไทยปากจัด แต่แม่ค้าญี่ปุ่นใจดี
โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ
ความรู้สึกของนักท่องเที่ยวที่มีต่อชาวญี่ปุ่นตั้งแต่ย่างเท้าก้าวแรกลงสู่ประเทศญี่ปุ่นก็คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความมีมารยาท ความมีระเบียบวินัย ความเอื้ออารีมีน้ำใจต่อนักท่องเที่ยว
ทั้งหมดจะแสดงผ่านทางการโค้งคำนับอย่างจริงใจ และ กล่าวคำว่า อาริกาโต โกไซมัส ที่แปลว่า ขอบคุณ ในภาษาญี่ปุ่น
เริ่มตั้งแต่ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองที่เป็นผู้ต้อนรับนักท่องเที่ยวเป็นด่านแรก
ผมอาจจะโชคดีก็ได้ ที่ได้พบกับเจ้าหน้าที่ที่มีจิตใจดี อ่อนน้อม สุภาพ เวลาที่เขารับหนังสือเดินทางจากผม เขาจะรับด้วยสองมือเหมือนเด็กรับของจากผู้ใหญ่ และเช่นเดียวกัน เมื่อเขายื่นหนังสือเดินทางคืน เขาก็จะยื่นให้ด้วยสองมือเหมือนเด็กยื่นของให้ผู้ใหญ่เช่นกัน
ซึ่งเราจะไม่ได้เห็นอากัปกิริยาแบบนี้จากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองบ้านเรา
เอาเป็นว่า ไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตะคอกใส่ก็โชคดีแล้ว แค่โยนหนังสือเดินทางกลับมาให้นั้น เป็นปกติ
เมื่อออกจากสนามบินมาขึ้นรถชัตเทิลบัสเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ที่รอรับลูกค้าจะโค้งให้แล้วขอดูตั๋วที่ซื้อเพื่อให้มั่นใจว่า ผู้โดยสารจะขึ้นรถบัสไม่ผิดคัน จากนั้นก็จะติดแท็คกระเป๋าที่จะเอาเข้าใต้ท้องรถบัส เหมือนกับการเช็คอินของสายการบินทีเดียว
เจ้าหน้าที่ยังถามอีกว่า กระเป๋าใบไหนที่มีของที่อาจจะแตกหรือไม่ เขาจะได้ไม่วางอะไรทับ ลองนึกเปรียบเทียบกับบริการของสายการบินในประเทศของไทยดูซิครับ
เมื่อรถบัสวิ่งเข้ามาเทียบท่า เจ้าหน้าที่ก็จะโค้งให้กับรถบัส ตอนแรกผมก็แปลกใจว่า ทำไมต้องโค้งให้รถบัส ตอนหลังถึงได้รู้ว่า มีลูกค้าบางคนอยู่บนรถบัสอยู่แล้ว
เมื่อผู้โดยสารขึ้นรถเรียบร้อย รถเคลื่อนออกจากสถานี เจ้าหน้าที่ที่สถานีก็จะโค้งให้รถบัสอย่างนอบน้อม พร้อมทำกล่าวคำภาษาญี่ปุ่นตามหลัง เป็นการแสดงถึงการขอบคุณที่มาใช้บริการ
ยังไม่ทันได้เข้าเมือง ประเทศญี่ปุ่นก็ได้ใจนักท่องเที่ยวไปแล้วกว่าครึ่ง
โรงแรมที่ผมพักเป็นระดับ 3 ดาวบวกใกล้ย่านชินจูกุ ห้องก็เล็ก เตียงก็แคบ ตามแบบฉบับของญี่ปุ่น ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นใด ยกเว้นล็อบบี้ที่พอนั่งรอได้ และห้องน้ำ เท่านั้น
แต่ประสบการณ์จากโรงแรมนี้ เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยพบเห็นที่ไหนมาก่อนทั่วโลก แม้กระทั่งโรงแรม 5 ดาวที่เป็นโรงแรมเครือข่ายของอเมริกัน ก็ตาม
คืนหนึ่ง ผมกลับมาที่ห้องก็พบถ้วยน้ำชาวางอยู่บนโต๊ะ มีกระดาษแข็งสีขาววางปิดถ้วยอยู่ เปิดกระดาษสีขาวออกดูก็เห็นว่า เป็นถ้วยน้ำชาที่ผมทานเหลือตั้งแต่เช้า ถุงชายังอยู่ในถ้วย
กำลังรู้สึกฉุนว่า ทำไมเจ้าหน้าที่ไม่เอาไปล้างก็เหลือบเห็นกระดาษแผ่นเล็กๆเขียนด้วยภาษาญี่ปุ่น และ ภาษาอังกฤษวางอยู่ข้างๆ
มีรายละเอียดและเหตุผลชัดเจนว่า ทำไมเขาจึงไม่เอาถ้วยใบนั้นไปล้าง เพราะคิดว่าเราจะใช้ซ้ำอีก ทำให้เข้าใจถึงวัฒนธรรมของญี่ปุ่นลึกซึ้งขึ้นไปอีกว่า เขาคำนึงถึงลูกค้ามากเป็นพิเศษ แม้แต่สิ่งเล็กๆน้อยๆ
ทำให้คำขวัญของพวกฝรั่งที่ว่า CUSTOMER ARE GOD หรือ ลูกค้าคือเทพเจ้านั้น กลายเป็นแค่คำพูดลอยๆไม่มีความหมายไปเลย
ความน่ารักของญี่ปุ่นอีกอย่างก็คือ ร้านอาหารเล็กๆที่เจ้าของเป็นคนทำเอง ปรุงตรงนั้น ขายตรงนั้น เป็นประเพณีของญี่ปุ่นคือ หากร้านขายอาหารไม่มีที่นั่ง คนซื้อจะต้องยืนกินตรงหน้าร้านของเขาเลย จะไม่ถือเดินไปพลางกินไปพลางตามประเพณีของฝรั่ง
เขาให้เหตุผลว่า กลัวอาหารของเขาจะไปทำให้พื้นถนนเลอะเทอะ
หากนักท่องเที่ยวเข้าไปถามคนขาย เขาก็จะยินดีตอบคำถามให้ด้วยความเต็มใจ แม้ว่าบางทีเขาจะไม่เข้าใจภาษาอังกฤษของเราเลยก็ตาม
บางทีเราถาม แต่ไม่ซื้อ ซ้ำยังขอถ่ายรูปอีก เขาก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีหน้าบูดหน้าบึ้ง หรือด่าว่าเสียๆหายๆ
ผิดกับการซื้อของจากแม่ค้าบ้าน ถามมากอาจโดนด่าได้ง่ายๆ
ก็เลยมาคิดว่า ประเพณีที่แม่ค้าบ้านเราต้องปากจัดนั้น เพราะอะไร และ มีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็น่าสันนิษฐานว่า เป็นเพราะการศึกษาของเราต่ำประการหนึ่ง
ผมคิดเอาเองว่า ประเพณีแม่ค้าปากจัด น่าจะมีมานานแล้ว จากนิทานที่เขาเล่ากันต่อๆว่า
มีฝรั่งคนหนึ่งที่เพิ่งมาถึงเมืองไทย ชี้ไปที่มะม่วงของแม่ค้า แล้วถามว่า อะไร แม่ค้าอาจจะรู้ภาษาอังกฤษมาบ้างตอบว่า แมงโก้
ฝรั่งคนเดิมชี้ไปที่ มังคุด แล้วถามว่า แมงโก้ ใช่มั้ย แม่ค้าฉุนเฉียวตามระเบียบแม่ค้าไทย แล้วตอบว่า แมงโก้ส้นตีนนะซิ
ฝรั่งก็เลยเรียกมังคุดว่า MANGOSTEEN มาตั้งแต่นั้น
เห็นฤทธิ์เดชแม่ค้าไทยรึยัง ครับ