ทัวร์กราบไหว้สุสานบรรพบุรุษ ที่เหมยเสี่ยน(ตอน 2)

ซอกซอนตะลอนไป    (25 กรกฎาคม  2557)

ทัวร์กราบไหว้สุสานบรรพบุรุษ ที่เหมยเสี่ยน(ตอน 2)

โดย   เสรษฐวิทย์  ชีรวินิจ

               บ้านทรงกลมที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอากุง อาผ่อ หรือ สมัยคุณปู่คุณย่าของผมนั้น   จะเป็นแค่วงกลมวงเดียวล้อมรอบพื้นที่ตรงกลางซึ่งอาจจะเป็นลานกว้าง หรือ มีอาคารอื่นอยู่ด้วย 

               ห้องแถวทรงกลมจะแบ่งซอยเป็นห้องให้สมาชิกในครอบครัวได้อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์  เป็นห้องนอน  ห้องอาหาร  ห้องครัว  หรือ แม้แต่ห้องเก็บพืชพันธุธัญญาหารที่เก็บเกี่ยวได้ในปีนั้นๆ

               จำนวนห้องมีจำกัด   เมื่อสมาชิกในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น  จึงไม่เพียงพอต่อสมาชิกใหม่   จึงมีการต่อเติมเพิ่มขยายห้องพักออกไป   แต่ก็ยังสร้างในรูปแบบเดิม  คือ เป็นวงกลมวงนอกอีกวง  ล้อมรอบวงกลมเดิมที่อยู่ด้านใน

               และขยายอย่างนี้ออกไปเรื่อยๆ  โดยไม่มีใครหาญกล้าที่จะทุบทิ้ง หรือ รื้ออาคารเก่าเพื่อสร้างบ้านใหม่เลย 


(ภาพจากอาคาร 3 ชั้น  ลูกศรชี้ก็คือ ศาลเจ้าบรรพบุรุษ จะเห็นอาคารทรงกลมเป็นวงรอบแต่ละชั้นถัดออกมา) 

               กระนั้น  อาคารที่สร้างต่อเติมรุ่นหลัง  ซึ่งขณะนี้ได้ขยายออกมาเป็นวงรอบที่ 3 แล้ว  กลับไม่ค่อยมีศิลปะ  หรือ มีความประณีตเท่ากับบ้านรุ่นก่อนๆ   เพราะบ้านรุ่นใหม่เน้นประโยชน์ใช้สอยมากกว่า

               เมื่อกาลเวลาผ่านไป  จะหวังให้ทุกสิ่งรอบตัวไม่เปลี่ยนแปลงนั้นคงยาก   เพราะเราเองก็ยังแก่ลง   


(ด้านขวามือก็คือ  ห้องแถววงกลมรอบที่สอง   ซ้ายมือก็คือ  ห้องแถววงกลมวงแรกที่ อากุง อาผ่อ หรือ คุณปู่คุณย่า ของผมได้สร้างขึ้น  ถนนปูด้วยหินแบบถนนยุคโบราณของพวกโรมัน   ถนนสมัยใหม่กลายเป็นซีเมนต์หมดแล้ว)   

               ประตูทางเข้าบ้านวงกลมจะมีสองประตูหลัก  อยู่ห่างกันไม่มาก  ประตูหนึ่งจะเป็นประตูเข้าหมู่บ้าน   ส่วนอีกประตูหนึ่ง  เป็นประตูที่เข้าสู่ศาลเจ้าบรรพบุรุษ


(ประตูทางเข้าบ้าน  เจ้าสาวจะเดินผ่านประตูนี้เข้าไป  แล้วเดินออกทางซ้ายมือไปเข้าประตูศาลเจ้าบรรพบุรุษ)

               ประเพณีโบราณของชาวจีนแคะเหมยเสี่ยน    เมื่อเจ้าสาวจะเข้าบ้านเจ้าบ่าว  เจ้าสาวจะต้องเดินผ่านประตูเข้าหมู่บ้านเสียก่อน   จากนั้นก็เดินอ้อมไปนิดหนึ่งแล้วเดินเข้าประตูศาลเจ้าบรรพบุรุษ   เพื่อทำพิธีสักการะดวงวิญญาณของบรรพบุรุษของตระกูล 

               เป็นการบอกล่าวบรรพบุรุษว่า   จะมีสมาชิกใหม่ขอเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านนี้ และขอให้เขาอยู่เย็นเป็นสุข   


(ประตูทางเข้าศาลเจ้าบรรพบุรุษ   จะเห็นว่าซ้ายขวามีแผ่นกระดาษแดงสองแผ่น เขียนกลอนเอาไว้ 2 แถว  แถวละ 4 ตัว   เรียกกันว่า  กลอนคู่  หรือ “ตุ้ย เหลียน”  เป็นประเพณีนิยมที่เก่าแก่ช้านานของวัฒนธรรมจีน   โอกาสหน้าจะเอาเรื่องกลอน 2 แถวมาเล่าให้ฟัง)  

               เนื่องจากครอบครัวของเราเป็นชาวไร่ชาวนา   ศาลเจ้าจึงมิได้ตกแต่งประดับประดาให้หรูหราแต่ประการใด   

แต่ด้วยความเรียบง่ายนี่เอง  ที่สร้างความน่าเกรงขาม  เคร่งขรึมน่าเคารพให้แก่ลูกหลานที่มากราบไหว้  ประหนึ่งกำลังยืนต่อหน้าบรรพบุรุษผู้อาวุโสทั้งหลายของครอบครัว


(ศาลเจ้าบรรจุป้ายชื่อของบรรพบุรุษ เป็นแผ่นไม้สองแผ่นคลุมด้วยผ้าแดง  ข้างใต้ก็คือ ศาลเจ้าที่ หรือที่เรียกว่า  “ที้จู”) 

ประธานในห้องโถงของศาลเจ้าบรรพบุรุษ   จะมีศาลเจ้า  ที่เราเรียกเป็นภาษาจีนแคะว่า  จื่อกุงจื่อผ่อ   ซึ่งแปลได้ความว่า   ป้ายชื่อบรรพบุรุษ 

ในศาลเจ้าที่ทำด้วยไม้  มีแผ่นป้ายไม้วางคู่กัน 2 แผ่น  แผ่นไม้ดังกล่าวสลักชื่อของบรรพบุรุษเอาไว้  เพื่อให้คนรุ่นหลังได้กราบไหว้   คล้ายๆกับที่ชาวพุทธเก็บอัฐิของบรรพบุรุษไว้บนหิ้งพระเพื่อให้ลูกหลานกราบไหว้นั่นเอง


(ศาลเจ้าแม่กวนอิม) 

ด้านขวามือเหนือศาลเจ้าของบรรพบุรุษ ก็คือ  ศาลเจ้าแม่กวนอิม ที่ชาวจีนส่วนใหญ่ให้ความเคารพนับถือ    

ที่มุมห้องด้านหลังศาลเจ้าบรรพบุรุษจะมีท่อนไม้คลุมด้วยผ้าแดง วางไว้ในกระถาง เรียกว่า “เซียนซือ”  หมายถึง ครูบาอาจารย์ของบรรพบุรุษ  

ดูเหมือนว่า  ประเพณีการให้ความเคารพต่อ “เซียนซือ”จะมีเฉพาะเพียงชุมชนชาวจีนแคะเท่านั้น  


(เซียนซือ ที่มีความหมายถึง  ครูบาอาจารย์ของบรรพบุรุษ   จะเห็นว่า   คนโบราณให้ความเคารพต่อครูบาอาจารย์มาก)   

ชาวจีนแคะมีประเพณีมาช้านานว่า   ผู้หญิงจะเป็นคนทำงานในท้องไร่ท้องนา  ในขณะที่ผู้ชายจะท่องหนังสือ หรือ เรียนหนังสือ  เพื่อสอบเข้ารับราชการ  

ดังนั้น   จึงไม่น่าแปลกใจที่จะต้องมี “เซียนซือ” กันทุกบ้าน เพราะเปรียบเสมือนครูบาอาจารย์ที่สมาชิกทุกคนในครอบครัวให้ความเคารพ 

ด้านหลังที่อยู่นอกชายคาของศาลเจ้าบรรพบุรุษ   มีป้ายเล็กๆวางอยู่ติดพื้นผนึกติดกับเนินดินเรียงกันอยู่ 5 ป้าย  มีขนาดแตกต่างกันไป   เรียกว่า “อึ้งฟองหลุ่งซึ่น”   แปลว่า   ป้าย 5 ป้ายของเทพเจ้ามังกร (อึ้ง แปลว่า  ห้า , ฟอง แปลว่า แผ่นป้าย , หลุ่งซุ่น  แปลว่า  เทพเจ้ามังกร)


(“อึ้งฟองหลุ่งซึ่น” แผ่นป้าย 5 แผ่นของเทพเจ้ามังกร)  

เป็นเทพเจ้าที่คอยคุ้มครองหมู่บ้านทั้งหมู่บ้าน   ในขณะที่ “เซียนซือ” จะเป็นเทพเจ้าที่คอยคุ้มครองบ้านแต่ละครอบครัว   

ขั้นตอนการไหว้เจ้าก็คือ  เริ่มจากไหว้แสดงความเคารพต่อเทวดาฟ้าดิน   โดยจะหันหน้าออกไปสู่ด้านนอกของศาลเจ้าบรรพบุรุษไป เสมือนบอกกล่าวให้เทวดาฟ้าดินได้รับรู้    

จากนั้นก็ไหว้เจ้าแม่กวนอิม   แล้วก็ศาลเจ้าบรรพบุรุษ  ต่อไปก็ไหว้ “เซียนซือ”  ปิดท้ายด้วยการไหว้ “อึ้งฟองหลุ่งซึ่น”  เป็นอันจบพิธี   หลังจากนั้นก็จะจุดประทัด   เผากระดาษเงินกระดาษทอง ถวายแด่เทพเจ้า และแด่บรรพบุรุษ      


(บ่อน้ำ หรือ  สระน้ำ หน้าหมู่บ้านที่ผูกพันกับวิถีชีวิตของ ชาวจีนแคะมาโดยตลอด)

ด้านหน้าของศาลเจ้าบรรพบุรุษก็คือ บ่อน้ำ ขนาดปานกลาง   ใช้ประโยชน์กันมายาวนานหลายชั่วคน   ตั้งแต่ล้างผัก  รดน้ำผัก   จนกระทั่งเลี้ยงปลา  ซึ่งปลาส่วนใหญ่ที่เลี้ยงก็คือ  ปลาหลี หรือ ปลาลี่   ที่ชาวแต้จิ๋วเรียกว่า   หลีฮื้อ

เข้าใจว่า  น่าจะเป็นตระกูลปลาคราฟ  เพราะมีก้างเยอะ     

ตั้งแต่เด็กๆ  ผมได้ฟังเพลงอยู่เพลงหนึ่งที่ อาปา อาแม มักจะร้องกล่อมนอนเสมอ  เป็นเพลงพื้นบ้านของเราชาวจีนแคะ  ที่ขึ้นต้นว่า  “เยี๊ยดกวงๆ”  แปลว่า  พระจันทร์วันเพ็ญ  ซึ่งได้พูดถึงสระน้ำที่อยู่หน้าหมู่บ้านชาวแคะส่วนใหญ่ด้วย    เนื้อหาท่อนนี้ สะท้อนความคิดและวิถีชีวิตของชาวแคะได้เป็นอย่างดี 

เพลงพูดถึง “บ่อน้ำ หรือ สระน้ำ” ในความหมายว่า 

เมื่อผู้ชายของครอบครัวต้องเดินทางออกไปจากหมู่บ้านเพื่อไปสอบเป็นขุนนาง หรือ ไปทำมาหากินในแดนไกลโพ้น   ทันทีที่เขาหันหลังให้บ่อน้ำ  มุ่งหน้าออกจากหมู่บ้านไป   ไม่แน่ว่า   พวกเขาอาจจะไม่ได้กลับมาพบหน้าพ่อแม่  หรือ ลูกเมียของเขาอีกเลย

จึงเป็นการเดินทางที่เศร้า และ ขมขื่นทีเดียว   

อาปาของผมก็เช่นกัน  ท่านไม่ได้กลับมาพบหน้าพ่อแม่ของท่านอีกเลย    

Posted in ซอกซอนตะลอนไป โดย เสรษฐวิทย์ ชีรวินิจ and tagged , , , .

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *